วาดดาว บางกอกไพรด์: เสียงสะท้อนจากผู้มีความหลากหลาย ถึงผู้สะสมความมั่งคั่ง
เธอเคยทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนกับองค์กรสิทธิฯ มาก่อน มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ได้เห็นกลไกการทำงานแบบสากล เห็นประเด็นสาธารณะมากมาย และตระหนักได้ว่ายังมีประเด็นในชีวิต ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเธอยังคงได้รับผลกระทบอยู่
“การที่เราเป็น LGBTQIA+ มันยังได้รับผลกระทบอยู่ตลอดเวลาที่เราดำรงอยู่ในประเทศนี้” คือสิ่งที่ วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว บางกอกไพรด์ บอกกับเราขณะที่นั่งสนทนาได้เกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม
วาดดาวเข้าไปข้องแวะกับหลายแวดวงเพื่อเปล่งเสียงพูดเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ทั้งการชุมนุมประท้วง การทำพรรคการเมืองอย่างพรรคสามัญชน ขบวนไพรด์ รวมถึงการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เธอเองมีส่วนร่วมอย่างมากในฟากฝั่งของภาคประชาชน
การเกิดขึ้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังเปลี่ยนโลกทัศน์ของสังคมในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือโลกทัศน์ทางการเงิน
วาดดาวย้ำตลอดการสนทนาว่า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้ประโยชน์จากธนาคารเท่านั้น แต่ธนาคารเองก็ต้องการสะสมความมั่งคั่งจากผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสังคม การทลายอคติทางเพศ เป็นพันธกิจหนึ่งที่ธนาคารพึงต้องกระทำ
หนึ่งในเหตุผลของการเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือเรื่องสิทธิทางการเงินของคู่สมรส ในฐานะที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ อยากสะท้อนการถูกจำกัดสิทธิทางการเงินอย่างไรบ้าง
จริงๆ การไม่สามารถทำนิติกรรมร่วมกันได้มีปัญหามากเลยนะ เขาไว้เนื้อเชื่อใจกัน เขาเป็นครอบครัว แล้วเขารู้สึกว่าเขาควรที่จะแต่งงานและสร้างฐานะร่วมกัน เช่นการได้สิทธิลดหย่อนภาษี สิทธิการกู้ร่วม การกู้สองคนได้บ้านหลังใหญ่ขึ้น ได้อาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ขึ้น และลงทุนได้เพิ่มขึ้น
ระบบคิดของกรอบทางการเงินและกฎหมาย เขาถือว่าบริบทของครอบครัวจะช่วยซัพพอร์ตกัน แต่ถ้าคุณเป็นเพื่อนกันอยู่ๆ จะมากู้ร่วมกัน สายใยแบบนี้เขาไม่เชื่อ เพราะฉะนั้น LGBTQIA+ ถูกตัดขาดจากการลงทุนมาอย่างยาวนาน
LGBTQIA+ จำนวนมากให้ข้อมูลเรื่องการกู้บ้านว่า เขาอยากจะมีบ้านหลังใหญ่แต่เขากู้ร่วมกันไม่ได้เลยได้บ้านหลังเล็ก ได้บ้านราคาถูกที่สภาพบ้านก็ไม่ได้ดีมาก ทั้งที่ถ้าเขากู้ร่วมกันเขาจะได้บ้านหลังที่ดีกว่านี้
มี LGBTQIA+ จำนวนมาก ถ้าหากเขาได้แต่งงาน เขาสามารถขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะทำให้งานของเขาเติบโต แต่เขาก็ทำไม่ได้
LGBTQIA+ จำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะเขาอยู่บ้านไม่ได้ อยู่แล้วเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง การออกจากบ้านสำหรับบางคนคือการออกจากระบบการศึกษาไปด้วย นั่นทำให้เขาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
คู่รัก LGBTQIA+ ถูกบล็อก ถูกฟรีซเอาไว้ให้เติบโตได้ยาก เห็นหรือยังว่าการจัดตั้งครอบครัวที่มีสถานะทางกฎหมายสำคัญกับระบบเศรษฐกิจมาก
ตัวเลขของสหรัฐฯ เห็นชัดมากว่า หลังจากผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นขนาดไหน ในออสเตรเลียก็ชัด นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงานและธุรกิจขนาดเล็ก มีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
เราคิดว่ากลไกของการทำนิติกรรมร่วมกัน มันคือฐานของการสร้างทั้งชีวิตครอบครัว และเศรษฐกิจร่วมกัน และยังนำไปสู่ชีวิตที่มีความมั่งคั่งร่วมกันได้
ทันทีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว (คาดว่าช่วงมกราคม 2568) มองว่าภาคธนาคารควรจะต้องปรับการให้บริการทางการเงินอย่างไรบ้าง
ธนาคารต้องล้อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือเปลี่ยนจากคำว่า ‘สามีและภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ อันนี้คือสิ่งที่เขาต้องปรับตัวแน่ๆ ตามข้อกฎหมายอยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายไปเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ จึงบังคับว่าต้องปรับตัวตามกฎหมายให้ทัน
มีอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้กฎหมายจะมีคำว่า ‘อยู่กินฉันสามีภรรยา’ ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องจดทะเบียนก็ได้ แต่คุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินด้วยกัน คุณก็สามารถที่จะได้สิทธิประโยชน์ร่วมกันได้
ทีนี้ทั้งทางธนาคาร สถาบันการเงิน และภาคธุรกิจทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนเป็น ‘อยู่กินฉันคู่สมรส’ ที่อนุมานหรือให้สิทธิเท่ากันเหมือนคู่รักต่างเพศที่อยู่กินฉันสามีภรรยา
กฎหมายมีบัญญัติไว้แล้ว แต่เราคิดว่าต้องดูกันจริงๆ ในขั้นของการปฏิบัติการที่จะให้ความเชื่อมั่นว่า คู่สมรสเพศหลากหลายจะทำธุรกรรมร่วมกันได้ แน่นอนว่าเราคงมีทะเบียนสมรสรับรองแล้ว แต่คู่สมรสเพศหลากหลายก็เหมือนชายหญิง ที่บางคู่ไม่ได้อยากจะจดทะเบียนสมรส แต่เขายืนยันว่าเขาอยู่กินกันฉันคู่สมรส ธนาคารจะปฏิบัติอย่างไร
มีสิ่งหนึ่งที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ เพราะเราเปลี่ยนกฎหมายไม่ได้คือเรื่องของบุพการี เพราะปกติเอกสารธนาคารหรือเอกสารเกือบทุกอย่างมักจะถามชื่อพ่อชื่อแม่อยู่เรื่อยเลย แล้วถ้ามีแม่-แม่ไปใช้บริการล่ะ คนที่ปฏิบัติหน้าที่ยากก็คือเจ้าหน้าที่ แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้เปลี่ยน แต่ธนาคารควรที่จะปรับตัวเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดบัค
สมมติเราแต่งงานกับแฟน อีก 10 ปีข้างหน้ามีลูกบุญธรรม แล้วลูกบุญธรรมต้องการกู้เงินร่วมกับแม่บุญธรรมหรือบุพการีบุญธรรม สถานะเหล่านั้นต้องถูกใช้ได้
เอกสารที่ถามเรื่องบิดาคือใคร มารดาคือใคร มันไม่ใช่เรื่องเล็กนะ ถ้าเขาอยู่ในครอบครัวแม่-แม่ แล้วแม่อีกคนจะอยู่ในสถานะไหน อะไรแบบนี้เป็นความซับซ้อนที่ผู้ปฏิบัติงานต้องคำนึงถึง มันไม่ได้จบแค่ว่าเขาจะปรับตัวตามกฎหมาย แต่มีเรื่องระบบของธนาคารเองทั้งหมด รวมถึงสวัสดิการทั้งหมดด้วย
ก่อนหน้านี้มีบางธนาคารที่ออกผลิตภัณฑ์ให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมกันได้ คุณมองอย่างไร เห็นอะไรบ้าง
คือจริงๆ ทุกคนกู้ร่วมได้ แต่ว่าผู้พิจารณาสินเชื่อจะให้คะแนนไหมอันนั้นอีกเรื่อง มันไม่ได้ระบุไว้ว่าฉันกับเธอห้ามกู้ร่วมกัน แต่เขาไม่พิจารณาเพราะว่าดูไม่มั่นคง สินเชื่อของคู่ LGBTQIA+ ก็เลยไม่ผ่าน
หลังจากนั้นก็เลยมีนโยบายว่า ถ้าคนมาสร้างเจตจำนงว่าเขาเป็นคู่รักกัน ก็ให้ถือสถานะเป็นเสมือนคู่รักต่างเพศ ก็สามารถที่จะให้คะแนนการพิจารณาสินเชื่อได้
เอาเข้าจริงการเกิดขึ้นของสมรสเท่าเทียม มันเปิดให้เขามีหน่วยธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยจูงมือกันไปเป็นหนี้เลย เราก็จูงมือกันไปเป็นหนี้ได้ ธนาคารเขาต้องการเราเหมือนกัน
การขยายสิทธิทางการเงินของ LGBTQIA+ ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ใกล้จะประกาศใช้เร็วๆ นี้ เป็นไปอย่างที่ชาว LGBTQIA+ ควรได้รับแล้วหรือยัง
ตัวกฎหมายมันบังคับให้เท่าเทียมแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติและทัศนคติด้วย เราไปแก้ เราไม่ได้ไปสร้างกฎหมายใหม่ เราแก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งธนาคารไทยก็อยู่ภายใต้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ ก็ต้องมาดูว่ากลไกของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหมวดการจัดตั้งครอบครัวมีอะไรบ้าง คุณก็แค่มาล้อเอาไป กฎระเบียบทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนล้อตามไปทั้งหมด เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็ถูกร้องเรียนได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการมอนิเตอร์แล้ว
โชคดีที่เราไปแก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ได้ ก็เลยโล่งใจ ไม่ต้องมาเหนื่อยว่า ธนาคารว่ายังไง สรรพากรว่ายังไง สถาบันอื่นๆ ว่ายังไง เพราะฉะนั้นมันเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างเลย แต่ธนาคารต่างๆ จะเปลี่ยนเมื่อไรอันนี้ต้องรอดู แต่เราแนะนำว่าต้องรีบเปลี่ยน เปลี่ยนก่อนก็ได้กำไรก่อน เปลี่ยนหมดแล้วประกาศทำ PR ได้เลย ทุกคนก็จะแห่กันไปสนับสนุนธนาคารเหล่านั้น
มีความคาดหวังอย่างไรต่อบทบาทสถาบันการเงินไทยในช่วงเวลาหลังจากนี้
เราคิดว่าถ้าคุณเปลี่ยนและได้ลูกค้าใหม่ แล้วก็เห็นการเติบโตของลูกค้าใหม่ที่เป็นผลพวงจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ควรที่จะมีการพูดถึงผลดีเหล่านี้ให้มีความแข็งแรง
พูดไปเลยว่า economic impact ที่เกิดขึ้นจากสมรสเท่าเทียมได้เท่าไร ทำตัวเลขไปเลยว่าลูกค้าคู่สมรส LGBTQIA+ ที่เกิดขึ้นคือเท่าไร คุณมีข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ได้อยู่แล้ว คุณเห็นไหมว่าเขาสามารถที่จะทำให้มูลค่าของธุรกิจมันเติบโตลักษณะไหน ธุรกิจเข้มแข็งอย่างไร การฝากเงินเป็นอย่างไร อะไรเหล่านี้มันทำขึ้นมาจากข้อมูลที่ธนาคารมีได้
เราต้องการให้ธนาคารตอบสนองตัว positive image ให้เห็น เพื่อไปทลายพวก homophobia (อาการเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ทั้งหลายที่เคยด่าทอพวกเราว่า “อีพวกนี้มันไม่ควรมีอยู่เพราะมันประหลาด”
อย่ามองว่าคุณอยากจะช่วยอะไรพวกเรา เพราะคุณต้องการพวกเราไปเป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของพวกคุณ ดังนั้นเมื่อพวกเราไปเป็นส่วนหนึ่งในความมั่งคั่งของพวกคุณแล้ว คุณต้องพรีเซนต์ความเป็น positive เพื่อที่จะทลายความเป็น phobia ของสังคม นี่แหละคือการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วนี่ก็คือความเป็นธรรมที่เราใช้อีกกลไกหนึ่ง ซึ่งคือกลไกของภาคการเงินการธนาคารมาสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความเป็นธรรมทางเพศ และความเป็นธรรมทางสังคม