ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์: เปิดประตู ‘สมรสเท่าเทียม’ สู่สิทธิธุรกรรมทางการเงินที่เป็นธรรม
เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เมื่อปี 1969 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นบาร์สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) จับกุมผู้ที่ไม่ใช่เพศหญิงโดยกำเนิดแต่แต่งกายเป็นหญิง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอย่างชัดเจน ก่อเกิดความไม่พอใจจนกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงและการจลาจลอันเป็นต้นกำเนิดขบวน Gay Pride ในเวลาต่อมา และการที่องค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) ปลดผู้มีความหลากหลายทางเพศออกจากการเป็นผู้ป่วยจิตเวช ตั้งแต่ปี 1992 เป็นหมุดหมายสำคัญทำให้บริบทความเท่าเทียมทางเพศถูกยกระดับไปอีกขั้น และเมื่อเอ่ยถึงความเท่าเทียมทางเพศจึงไม่ใช่แค่เรื่องหญิงชายอีกต่อไป
แต่ด้วยความสลับซับซ้อนและการหยั่งรากของระบบสองเพศแบบดั้งเดิม ทำให้การกล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้มีเพศตรงตามขนบนั้นถูกบดบังอยู่เสมอ พวกเขาโดนพรากสิทธิที่พึงได้
‘บุคคลย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย’ คือถ้อยแถลงตามหลักความเสมอภาค และเช่นเดียวกัน ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่เคยได้รับ ต่อหน้ากฎหมายพวกเขาไม่เคยเสมอใคร
ไฟแห่งความหวังที่จะเท่าเทียมถูกจุดให้ลุกโชนโดยมี ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ เป็นเชื้อเพลิง ผลประโยชน์สาธารณะของการผ่านกฎหมายดังกล่าวคือการได้รับสิทธิที่ถูกพรากไปกลับคืน
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.พรรคประชาชน ผู้มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งในการเรียกร้องและผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เขาช่วยฉายภาพการขยายสิทธิภายใต้กฎหมายดังกล่าว พร้อมกับเล่าถึงการถูกจำกัดสิทธิทางการเงินของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตคู่ของคู่รัก LGBTQIA+ กระทั่งความคาดหวังต่อภาคธุรกิจและธนาคารที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการปักฐานให้กับความเท่าเทียมทางเพศอย่างมั่นคง
อยากให้ช่วยฉายภาพการขยายสิทธิให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมว่ามีอะไรเพิ่มเติมบ้าง
เราก็แก้ในเรื่องหมวดหมั้น คนทุกเพศสามารถหมั้นกันได้ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันก็สามารถทำได้ ถ้าคุณจดทะเบียนเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย
รวมถึงสิทธิในการแบ่งสินสมรส สิทธิในการรับมรดกในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต สิทธิในเรื่องของสวัสดิการในฐานะเป็นคู่สมรสของข้าราชการ สิทธิการลดหย่อนภาษี สิทธิฟ้องร้องทางคดีอาญาและคดีแพ่งแทนคู่สมรส
การสมรสกับคนต่างชาติก็สามารถทำได้ และมีสิทธิ์ขอสัญชาติให้กับคู่สมรส มีหน้าที่อภิบาลดูแลกัน เซ็นรับรองการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้กันได้ ใช้นามสกุลของคู่สมรสได้
ทีนี้มีสิ่งที่เราต้องพิจารณาในเรื่องของการขอสัญชาติ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังแก้ไขเพราะยังมีความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ว่า ถ้าหญิงไทยสมรสกับชายต่างชาติ หญิงไทยสามารถขอสัญชาติให้กับชายต่างชาติได้เลย แต่ถ้าเป็นชายไทยสมรสกับหญิงต่างชาติ กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้หญิงต้องพูดภาษาไทยให้ได้ก่อนจึงจะขอสัญชาติได้ ซึ่งต้องไปแก้ไขตรงนี้
ส่วนในเรื่องสิทธิการบริหารจัดการเงิน แน่นอนสามารถกู้ร่วมกันได้ จะกู้ซื้อบ้านก็สามารถกู้ในฐานะคู่สมรสได้ กู้ซื้อรถร่วมกันได้ แล้วก็ทำประกันชีวิตให้กันได้ เพราะปกติตอนนี้ประกันชีวิตเขาต้องมอบให้กับคนที่มีความสัมพันธ์ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น บิดา มารดา หรือน้องสาว เป็นคู่สมรส ทีนี้ถ้าคุณเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายคุณก็สามารถทำประกันชีวิตให้กันได้
ก่อนหน้านี้การถูกจำกัดสิทธิในเรื่องการเงินเป็นปัญหาต่อกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างไรบ้าง
ปัญหาชัดเจนที่สุดคือสิทธิทางการเงิน และส่งผลมากที่สุดคือเรื่องการกู้ ยกตัวอย่าง ครูเองไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้เพราะครูไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ไม่มีคู่สมรส และอย่างเงินที่จะกู้ซื้อบ้าน มันถูกออกแบบให้มันต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ 2 คน คนทั่วไปไม่สามารถผ่อนคนเดียวได้
หรือจะเป็นเรื่องประกันชีวิตอย่างที่บอก จากที่รับฟังมาหลายเคสผู้หญิง-ผู้ชายเดินเข้าไปบอกว่าเป็นคู่สมรสกัน ทะเบียนสมรสเขาแทบจะไม่ดู แต่พอเป็น LGBTQIA+ ยากมาก เรียกเอกสาร ขอดูหลายอย่าง เขาจึงไม่สามารถทำประกันชีวิตให้แก่กันได้
กรณีการจัดการทรัพย์สินร่วมกันอย่างในภาพยนตร์เรื่อง วิมานหนาม เขาทำมาหากินร่วมกันมาเขาก็ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกันได้ แล้วชีวิตเราไม่แน่นอนอะไรก็เกิดขึ้นได้ ทรัพย์สินที่เขาสร้างร่วมกันมาก็ตกไปสู่ญาติโดยสายเลือดของอีกฝ่ายหนึ่ง
มีประเด็นใดบ้างที่สถาบันการเงินต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ธนาคารควรจะต้องปรับนโยบายเรื่องเอกสารหรือสัญญาต่างๆ หรือกระทั่งการเซ็นชื่อคู่สมรสก็ต้องทำความเข้าใจว่า ตอนนี้เรามีคนหลากหลายทางเพศแล้ว ดังนั้นไม่ควรมีคำที่บ่งชี้ไปแค่ชายหญิงอย่างคำว่าสามีหรือภรรยา ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ รวมถึงสินเชื่อในคู่สมรส การกู้ร่วมอะไรต่างๆ ก็ต้องมั่นใจว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ต่อมาเป็นเรื่องของการอบรมความรู้ เราต้องยอมรับว่าเรายังคงพบอคติในเรื่องการกีดกัน ซึ่งการกีดกันอยู่ในหลายระดับมาก การพูดออกมาก็ชัดเจนว่าเลือกปฏิบัติ แต่การเลือกปฏิบัติให้เข้าถึงโอกาสอาจเกิดขึ้นจากภายในของคนที่กีดกัน หรืออาจจะเกิดขึ้นในระดับตัดสินใจที่ไม่ได้พูดออกมาเป็นคำพูด ฉะนั้นธนาคารก็ควรจะมีการตรวจสอบให้มั่นใจว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ที่อยากจะเสนอก็มีเรื่องการปรับปรุง IT การจัดเก็บข้อมูล ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับทางเศรษฐกิจ เวลาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีการกู้ร่วมกัน มีการแสดงสถานะว่าเป็นคู่สมรสกันกับทางธนาคาร ควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อที่จะหาตัวเลขว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจหรือการกู้เกิดมากขึ้น หรือเติบโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลพวกนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับการเงินในอนาคต
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่เป็นมิตร ก็สำคัญมาก เพราะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศพยายามที่จะต่อสู้ว่า สังคมเราไม่ใช่สังคมชายหญิง ไม่ใช่สังคมที่มีแค่สองเพศ แต่เรามีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นควรใส่ใจในบริการต่างๆ เหล่านี้ด้วย
สถิติจากหลายแหล่งระบุว่ากลุ่ม LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นหากภาคธุรกิจต้องการตีตลาดนี้ ควรทำอย่างไรไม่ให้เป็นแค่ rainbow washing
ธุรกิจต้องปรับตัว ตอนนี้เรามี ‘business and human rights’ ของสหประชาชาติ เป็นความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบการ จึงได้จัดทำ ‘หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)’ หรือ UNGP
ในเชิงภายในองค์กรคุณต้องเข้าใจก่อนว่า คุณมีสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศไหม ในกรณีที่เขาต้องการลางานไปแปลงเพศ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความงาม เป็นเรื่องส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วกลุ่มคนข้ามเพศก็จะมีปัญหาตรงนี้ ต้องมาคิดกลับกันว่า แล้วทำไมผู้ชายลาบวชถึงได้รับการยกย่อง นี่ก็เหมือนกันเราต้องเข้าใจก่อนว่าคนข้ามเพศไม่ใช่คนป่วย แต่นั่นคือสิ่งที่เขาต้องดำรงและดำเนินเพื่ออัตลักษณ์ทางเพศของเขา หรือในส่วนของสิทธิลาอื่นๆ ก็ต้องเท่าเทียมกับชายหญิง คุณมีสวัสดิการเหล่านี้หรือเปล่า
ต่อมาคือ ต้องมีการสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่แค่เดือน Pride แต่เป็นความจริงใจทั้งภาพรวม สมมติว่ามีงบ CSR คุณอาจจะส่งเสริมให้ทุนการศึกษาผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อาจจะขาดโอกาสในชุมชน เรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้
ข้อที่สาม คิดว่าความหลากหลายในการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ ในทุกระดับของการทำงานเราต้องมั่นใจว่าจะมีความคิดของคนทุกเพศดำรงอยู่ เพราะว่าในบริบทแต่ละเพศเรามีประสบการณ์ในการเลือกปฏิบัติต่างกัน ผู้หญิงก็มีประสบการณ์ทางเพศที่ถูกกดทับจากสังคมต่างกัน เพราะฉะนั้นในการตัดสินใจต่างๆ มีความสำคัญที่จะต้องมีคนทุกเพศร่วมตัดสินใจในทุกระดับ
ข้อต่อมาต้องสื่อสารอย่างโปร่งใส เปิดให้คนได้เห็นว่าองค์กรเราทำอะไรบ้าง อย่างที่เห็นดรามาเอกชนมาสนับสนุนงาน Pride หรือสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มันก็จะเกิดคำถามว่าตกลงเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการตลาด ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่อยากได้เงินเยอะๆ ธุรกิจนั้นสนับสนุนความหลากหลายทางเพศจริงๆ หรือเปล่า หรือที่จริงแล้วบริษัทนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมอยู่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิ่งที่ต้องยึดโยงกัน ในระยะยาวการต่อสู้เรื่องความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณไม่โปร่งใสไม่มีทางที่ความเท่าเทียมจะยั่งยืน
ในฐานะที่สถาบันการเงินก็เป็นตัวแปรสำคัญในภาคธุรกิจ คิดว่าธนาคารและสถาบันการเงินจะเข้ามาหนุนเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างไรได้บ้าง
สิ่งสำคัญคือไอเดียใหม่ๆ ในการประกอบธุรกิจ หรือว่าความช่วยเหลือใน business model การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค บางครั้งเวลาที่เราไปคุยกับนักธุรกิจที่มี business model เก่งๆ พูดแบบวิชาการมากๆ เราต้องยอมรับว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มเขาไม่ได้มีความเข้าใจแต่เขามีไอเดีย ดังนั้นถ้าทางธนาคารเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าใจ business model เบื้องต้น การเข้าถึงสินเชื่อเบื้องต้น เป็นเรื่องที่ดีมาก
จะบอกว่าบางครั้งนางโชว์ที่โชว์อยู่เขาอาจจะมีวิธีการแต่งหน้าที่พริ้งเพริศ แต่เขาอธิบายไม่ได้ว่าเขาจะทำตรงนี้ให้เป็นเงินอย่างไร
ช่างเย็บเสื้อที่มีฝีมือมาก อย่างช่างประตูน้ำสมัยก่อนที่เพื่อนกะเทยครูไปตัดบ่อยมาก แพตเทิร์นเขาสุดฤทธิ์ กะเทยชอบ การที่เขามีฝีมือ มีไอเดีย หรือมีวิธีที่ยูนีค แต่เขาอาจจะไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจ เพราะโลกปิดกั้นพื้นที่เหล่านั้น ฉะนั้นครูคิดว่าเรื่องพวกนี้ก็น่าจะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เรียนรู้
สำหรับการกู้ธนาคารที่เขามีการขอดูว่า บริษัทที่มากู้มีความเท่าเทียมทางเพศหรือไม่ หรือบริษัทคุณทำอะไรบ้าง ก็เป็นไอเดียที่ดี เพราะว่าบริษัทจะได้ตระหนักรู้ว่าความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่เข้ามาจัดงาน Pride แล้วก็เดินขบวนแต่งตัวสวยๆ แต่คุณสามารถที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น ส่งเสริมทุนการศึกษาให้สตรีในจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูง หรือคุณอาจจะสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในด้านทุนการศึกษา การเปิดพื้นที่สัมมนาให้ได้เรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้กับวรรณกรรมและเรื่องเล่าใหม่ๆ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในทุกๆ รายงานบริษัทก็จะทำออกมาดูดีอยู่แล้ว ดังนั้นหากธนาคารจะใช้วิธีการนี้ต้องไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว แต่ต้องลงรายละเอียดเพื่อดูว่าบริษัทต่างๆ มีธรรมาภิบาลจริงไหม