รศ.ดร.พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง: UNGPs ไม่ใช่กฎหมาย แต่ธนาคารไม่ควรละเลย

16 ธันวาคม 2567

“หากสถาบันการเงินปฏิบัติไปตามความหวังของหลักการชี้แนะ UNGPs พวกเขาจะไม่เผชิญกับปัญหาหรือความเสี่ยงจากประเด็นสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ”

นี่คือสาระสำคัญที่ รองศาสตราจารย์ ดร.พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights Member) ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commisioner for Human Rights: OHCHR) ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ปลายทางของ หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) 

หลักการดังกล่าว ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน 3 เสาหลักคือ ปกป้องสิทธิ (Protect) เคารพสิทธิ (Respect) และเยียวยา (Remedy)  

 

 

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐและองค์กรธุรกิจจำนวนมาก ประกาศรับหลักการ UNGPs โดยเฉพาะในภาคการเงินการธนาคารหลายแห่ง ในฐานะต้นทางของแหล่งทุนในการดำเนินธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม หลักการที่กำลังพูดถึงนี้ เป็นหลักการตามความสมัครใจ ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย 

“หลักชี้แนะฯ นี้เป็นหลักการสมัครใจรับ (voluntary) แต่ทางสหประชาชาติพยายามเน้นยํ้าเสมอมาว่า หากธุรกิจหรือธนาคารก็ดีที่ได้ประกาศสมัครใจรับหลักการชี้แนะฯ ไปแล้ว เพียงแค่การประกาศเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่จะต้องปฏิบัติ (practice) ให้เห็นอย่างชัดเจน” 

ในฐานะผู้ทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รศ.ดร.พิชามญชุ์แสดงความคาดหวังว่า ภาคธุรกิจจะนำหลักการที่ตนเองสมัครใจรับอันเป็นสากล ไปปฏิบัติใช้เพื่อให้เกิดผล แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อเป็นหลักการตามความสมัครใจ ยังไม่มีกลไกบังคับให้ธุรกิจปฏิบัติตาม รศ.ดร.พิชามญชุ์ จึงขอเชิญชวนทุกฝ่ายร่วมกันอุดช่องว่างนี้  

“หน้าที่ในการกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ UNGPs เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ภาคประชาสังคม (civil society) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (human rights defenders) และภาครัฐ (state) จะต้องเข้ามาถือธงนำ ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนตามเสาหลักที่ 1 สร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนไปตามเสาหลักที่ 2 สร้างระเบียบข้อบังคับขึ้นมาเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินการตามหลักการชี้แนะฯ และนำมาปฏิบัติอย่างแข็งขัน เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น” 

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.พิชามญชุ์ ชี้ให้เห็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ในหลายประเทศ รัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทกำกับให้ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลัก UNGPs แล้ว

“ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน ล้วนมีมาตรการกำกับที่เรียกว่า Mandatory Human Rights Due Diligence (mHRDD) ทั้งสิ้น อันเป็นข้อกำหนดให้ภาคธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ UNGPs มาตรการ mHRDD นี้กระจายตัวไปทั่วทั้งสหภาพยุโรป (European Union: EU) องค์การเหนือรัฐระดับภูมิภาคมีมาตรการ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ที่ได้ผนวกหลักการเข้าไปแล้วใช้ทั้งภูมิภาคสำหรับการบริหารจัดการ

“แม้ว่า CSDDD อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการเงินก็ตาม แต่ภาคการเงินในยุโรปก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการดังกล่าว หรือให้เป็นมาตรการเชิงผสมผสานอย่างชาญฉลาด (smart mix) ระหว่างการเป็นหลักการที่สมัครใจรับและมีข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม (voluntary and mandatory) เราสามารถมองเห็นได้ว่า นี่คือคลื่นที่ประเทศต่างๆ  นำหลักการมาปฏิบัติตาม รวมถึงประเทศไทยด้วย เรามีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights) ตั้งแต่ปี 2562 มาแล้ว”

ภายใต้หลักปฏิบัติดังกล่าว  รศ.ดร.พิชามญชุ์ ยกกรณีโครงการสร้างเขื่อนแม่นํ้าโขงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนปรากฏชัดเจน 

“ในกรณีของโครงการสร้างเขื่อนแม่นํ้าโขงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หากภาคธุรกิจหรือธนาคารไม่ได้ระมัดระวังในการให้สินเชื่อ หรือดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือ HRDD เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่างๆ ที่ภาคธุรกิจหรือธนาคารได้เข้าไปลงทุนจะปกป้อง รับเรื่องร้องเรียน และเคารพสิทธิมนุษยชน ไปตามความคาดหวังของหลักการชี้แนะฯ นี้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย”

โครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีความคืบหน้าในปัจจุบัน ล้วนมีที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว แทบทั้งสิ้น โดยมีภาคธุรกิจของไทยเข้าไปลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนข้ามแดน เห็นผลกระทบข้ามแดน 

จากกรณีของ เขื่อนไซยะบุรี (Xayaburi Dam) ตัวอย่างที่สร้างผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ก่อให้เกิดความผันผวนของระดับนํ้า การประมง และตะกอนที่หายไปอันเป็นแหล่งอาหารของสัตว์นํ้า และการเกษตรริมฝั่งโขง เกิดเป็นปรากฎการณ์ ‘นํ้าโขงสีฟ้า’ ความงามที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ จนนำไปสู่การยื่นฟ้องร้องยาวนานนับทศวรรษจาก ‘เครือข่ายคนลุ่มโขง 8 จังหวัด’ ต่อ 5 หน่วยงานรัฐไทยที่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน* 

 

 

ทัศนียภาพแม่น้ำโขงบริเวณตลาดอินโดจีน จ.นครพนม | ภาพ: Chomnaphus Aki Khamentkit

 

 

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยยกฟ้องหน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงานในปี 2565 โดยระบุว่า เครือข่ายคนลุ่มนํ้าโขงไม่มีอำนาจฟ้องร้อง และการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเขื่อนนั้นตั้งอยู่นอกอำนาจของศาลไทยในการพิจารณา 

 

 

ตัวอย่างรูปธรรมของผลกระทบข้ามพรมแดน และการต่อสู้ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในกระบวนการทางกฎหมายจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ชี้ให้เห็นการตามไม่ทันของระบบยุติธรรมไทย ต่อประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดน รศ.ดร.พิชามญชุ์ เสนอว่าจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ศาลไทยมีอำนาจในการพิจารณา ขณะเดียวกันภาคธุรกิจหรือธนาคารต้องประเมินความเสี่ยงข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองและเคารพประเด็นสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะ UNGPs 

เพื่อการหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาเช่นนี้ รศ.ดร.พิชามญชุ์ เสนอแนวทางเน้นยํ้าเชิงชี้ชวนเสมอว่า ต่อให้หลักการชี้แนะ UNGPs นี้จะเป็นหลักการสมัครใจก็ตาม แต่หากสถาบันการเงินหรือภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติตาม ก็จะเป็นผลดีต่อธุรกิจ ช่วยยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับนานาประเทศ อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สาธารณชนได้เห็นว่า ภาคสถาบันการเงินหรือภาคธุรกิจให้ความใส่ใจ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่สากลยอมรับ

นอกจากการขานรับจากภาคธุรกิจแล้ว สิ่งที่ควรผลักดันให้ดำเนินการควบคู่กันคือ รัฐไทยจำเป็นต้องปรับตัว เข้ามามีบทบาทนำในการดำเนินนโยบายและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางปฏิบัติที่โลกปัจจุบันใส่ใจอย่างเคร่งครัด

 


*10 ปี 10 วัน เดินสู่จุดไหน? “คดีเขื่อนไซยะบุรี” ศาลปกครอง. (2022, August 17). สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews). Retrieved October 18, 2024, from https://greennews.agency/?p=30049