เขื่อนหลวงพระบาง ในมุมมองของ ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ชายผู้อุทิศตนเพื่อลำน้ำโขงกว่า 3 ทศวรรษ
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์แม่นํ้าโขงมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับเกียรติขึ้นรับรางวัล Goldman Evironmental Prize ที่ถูกขนานนามว่าเป็นรางวัล ‘โนเบลการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม’
แม้อายุจะล่วงเลยเข้าสู่วัยผู้ทรงภูมิแล้วก็ตาม พันธกิจในการอนุรักษ์แม่นํ้าโขงของครูตี๋ผู้นี้ที่ผูกพันกับแม่นํ้าโขงตั้งแต่ลืมตาดูโลกยังไม่จบสิ้น ผ่านพบความเปลี่ยนแปลงของแม่นํ้าโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ตลอดมา
ในไม่ช้าแม่นํ้าโขงที่เขาพยายามอนุรักษ์นี้ จะต้องเผชิญกับความท้าทายผันผวนอีกครั้ง หากโครงการเขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower Project) เสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 และสามารถสร้างผลกระทบตลอดลำนํ้าโขงอย่างไม่หวนกลับ
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง จะเปลี่ยนเมืองหลวงพระบางให้ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างไม่หวนกลับคืน ในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์กลางจากความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ศาสนา และทรัพยากรธรรมชาติ จนได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็น ‘เมืองมรดกโลก’
สถานะเมืองมรดกโลกของหลวงพระบาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านเดินมาเยี่ยมชมความเงียบสงบและงดงามแห่งนี้กำลังจะสูญหายไป พร้อมกับวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแม่นํ้าโขงอันอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่นํ้า ทั้งการประมงริมฝั่ง และเกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มนํ้าโขง ทำให้มีอาหารพื้นถิ่นจากอาโปธาตุจำนวนมาก กำลังสูญสิ้นตามไปด้วย
โครงการสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขง ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร
การสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขงจะก่อให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศตลอดลำนํ้า เขื่อนเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วอย่างเขื่อนไซยะบุรี ก่อให้เกิดการดันของนํ้าเหนือเขื่อนจนก่อให้เกิดภาวะนํ้าเท้อเอ่อท่วมไปยังแม่นํ้าสาขาของแม่นํ้าโขง กระทบไปยังพื้นที่การเกษตรที่ต้องจมอยู่ใต้นํ้าในฤดูนํ้าหลาก เกาะแก่ง ดอน หรือหาดในแม่นํ้าโขง ที่เคยรับหน้าที่สร้างสมดุลนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นํ้าในหน้าแล้ง ก็จะหายไปเพราะนํ้าจะท่วมขัง พันธุ์ปลาจะหายไป ความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาลำน้ำโขงก็จะสูญหายไปด้วย
ณ ปัจจุบัน โครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขงแห่งใด ที่เราต้องให้ความสำคัญจับตาเป็นพิเศษ
เขื่อนที่กำลังก่อสร้างในแม่นํ้าโขงตอนใต้ที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ เขื่อนหลวงพระบาง มีความคืบหน้าแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ หากก่อสร้างเสร็จสิ้น ผลกระทบที่รุนแรงจะเกิดขึ้น ไม่ได้มีเพียงระบบนิเวศเท่านั้น มันจะส่งผลกระทบต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบางด้วย เพราะเมืองตั้งอยู่ท้ายเขื่อนเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น การปล่อยนํ้าจากเขื่อนจะทำให้ปริมาณนํ้าโขงในบริเวณดังกล่าวผันผวน รุนแรงเหมือนระเบิด และจะสร้างความเสียหายอย่างรวดเร็ว
ทำไมเมืองหลวงพระบางถึงมีความสำคัญทางวัฒนธรรม
เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองมรดกโลกได้เพราะแม่นํ้าโขง ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์วรรณา ก่อตัวเป็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม จนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลก อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า หากเขื่อนสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมืองหลวงพระบางจะต้องจมอยู่ใต้นํ้าแน่นอน
เขื่อนหลวงพระบางจะสร้างผลกระทบข้ามแดนต่อไทยอย่างไร
หากย้อนไปเมื่อปี 2551 เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบข้ามแดน ตอนที่เขื่อนจิงหงในจีนเปิดใช้งาน ต้องปล่อยนํ้าออกมาเพราะไม่สามารถรับนํ้าได้ ทำให้นํ้าโขงที่ระดับความสูง 13 เมตรเอ่อท่วมอำเภอเชียงของ นํ้ายกระดับภายในคืนเดียวอย่างรวดเร็ว เขื่อนจิงหงนั่นอยู่ห่างจากไทยไป 340 กิโลเมตรนะ หากมีเขื่อนหลวงพระบางเพิ่มเข้าไปอีก มันจะยิ่งส่งผลกระทบตลอดลำนํ้าโขง เพราะนํ้าจะดันย้อนกลับจากเหนือเขื่อน เข้ามาที่ราบลุ่มแม่นํ้าสาขาของแม่นํ้าโขงในฝั่งไทย หากทางจีนปล่อยนํ้าลงมาสมทบอีกนํ้าโขงจะยกระดับสูงมากกว่านี้แน่นอน
เท่าที่รับฟังข้อมูล อะไรคือความจำเป็นในการสร้างเขื่อนแม่นํ้าโขง
หากเราพูดถึงเขื่อนแม่นํ้าโขง เรากำลังพูดถึงเรื่องพลังงานจากเขื่อนใน สปป.ลาว แต่การพัฒนาพลังงานมันไม่เหมือนก่อนแล้ว เรามีพลังงานทางเลือกมากมาย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานก้าวหน้าไปไกล ดังนั้น เขื่อนในแม่นํ้าโขงไม่ตอบโจทย์พลังงาน
เขื่อนมันตอบโจทย์เรื่องทุนมากกว่า โดยเฉพาะทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการเขื่อนแม่นํ้าโขง ที่ส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติ และค่าไฟที่แพงขึ้น ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ยึดถือหลักธรรมาภิบาลอย่างใด