ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์: ธุรกรรมทางการเงิน กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

07 ตุลาคม 2567

หลังรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มต่อต้านยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง เกิดเหตุการณ์สังหารพลเรือนและเด็กจำนวนมาก โดยที่โลกแทบไม่ทันสังเกต

คำถามเบื้องต้นมีอยู่ว่า ในเมื่อเมียนมาถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก รัฐบาลทหารพม่าใช้ทุนจากไหนในการซื้ออาวุธและยุทธภัณฑ์ในการสู้รบกับฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศที่มุ่งเป้าไปยังพลเรือน 

เบาะแสสำคัญมาจากรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Special Procedures) เปิดเผยว่า มีธนาคารไทย 5 แห่งเชื่อมโยงการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา 

นี่คือประเด็นที่ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมียนมา แสดงความเห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เรียกร้องให้ธนาคารในประเทศไทยดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence: EDD) ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบ ระงับการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผศ.ดร.ลลิตา เรียกร้องไปไกลกว่านั้นด้วยซ้ำว่า ธนาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดง ‘เจตจำนงทางการเมือง’ (political will) ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน


 

สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาตอนนี้ มีความน่ากังวลในระดับใด

สิ่งสำคัญที่เราควรให้ความสนใจมากที่สุด ณ ปัจจุบัน การโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายพลเรือนของกองทัพเมียนมาหรือตัดมะด่อ (Tatmadaw) นั่นคือ มาตรการตอบโต้ประชาชนที่ให้การสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF) แม้ว่าตัวเลขของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสเกลที่สูงมาก และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อการรักษาอำนาจและสถานภาพปัจจุบัน (status quo) ซึ่งจำเป็นต้องกดปราบประชาชนชาวเมียนมา และทรัพยากรสำคัญของการรักษาอำนาจด้วยวิธีการนี้คือ ‘เงินทุน’ และ ‘อาวุธ’  

 

รัฐบาลทหารเมียนมาถูกนานาชาติควํ่าบาตร ต่างชาติถอนลงทุนไปแล้ว พวกเขาเอาเงินมาจากไหนเพื่อทำสงครามกลางเมือง

ตราบใดก็ตามที่เมียนมายังสามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้ เมียนมาก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศตะวันตก อย่างกรณีของไทย ยังคงต้องพึ่งพิงเมียนมา ต้นทุนพลังงานถูกกว่าตะวันออกกลาง ตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่าตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านยังต้องพึ่งพาทรัพยากรจากเมียนมาอยู่ ย่อมไม่มีมาตรการควํ่าบาตรจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลทหารเมียนมาก็จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง


 

จากรายงานของ UN ไทยกลายมาเป็นฐานในการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาได้อย่างไร

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า กลุ่มนักธุรกิจเครือข่ายใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ ฝากเงิน รวมถึงค้าอาวุธ แต่เมื่อบริษัทเหล่านี้ถูกควํ่าบาตร ติดแบล็กลิสต์ จากการปราบปรามของทางการสิงคโปร์ ทำให้บริษัทค้าอาวุธที่เคยจดทะเบียนในสิงคโปร์ต้องย้ายเข้ามาจดทะเบียนในไทยแทน เพื่อเลี่ยงบาลี และยังดำเนินการค้าอาวุธให้กับเมียนมาต่อไป 

นั่นหมายความว่า ธนาคารในประเทศไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีมาตรการใดที่จะป้องกันเงินเปื้อนเลือด (blood money) ที่ไหลเข้ามาสู่ระบบของธนาคารไทย

 

พอจะมีมาตรการใดที่จะนำไปสู่การป้องกันธุรกรรมที่เชื่อมโยงรัฐบาลทหารเมียนมา

เท่าที่เข้าใจ ธนาคารไทยพยายามทำให้ปัญหาเหล่านี้ หรือมูลค่าของเงินเหล่านี้น้อยลง หรือมีมาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้การตรวจสอบเข้มข้นขึ้น อย่างทาง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาตรวจสอบบัญชีม้า ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำไปตามกระบวนการภายใน อย่างในกรณีของรัฐบาลสิงคโปร์ เขาสั่งลงมาเลย ธนาคารทุกแห่งจะต้องทำการตรวจสอบอย่างเข้มข้น มีเป้าหมายเลยว่า สิงคโปร์จะต้องไม่อยู่ในแบล็กลิสต์นี้หรือถูกเพ่งเล็งจากนานาชาติ


 

ผศ.ดร.ลลิตา มองอนาคตของธนาคารไทยในกรณีอย่างไร เพื่อที่จะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

ไม่เพียงแค่ธนาคารจะรับ ‘หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน’ (United Nations Guilding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) เท่านั้น ธนาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดง ‘เจตจำนงทางการเมือง’ (political will) ผลักออกมาให้เป็นนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์มากที่สุดในปีต่อไป โดยจะต้องดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น