ธนาคารแห่งประเทศไทยกับภารกิจแก้หนี้ครัวเรือน บนฐานความรับผิดชอบและเป็นธรรม

23 ธันวาคม 2567

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา ภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ไปจนถึงประชาชนทั่วไปล้วนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เฝ้าติดตามแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ตามมาด้วยมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากกับดักหนี้ โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) พูดคุยกับ อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. สำรวจมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนติดตามผลลัพธ์การดำเนินการ พร้อมข้อแนะนำสำหรับลูกหนี้ในการบริหารจัดการการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาวะทางการเงินที่ดีตลอดช่วงชีวิต 



 

ภาพรวมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยมีแนวโน้มอย่างไร

ณ ไตรมาส 3 ของปี 2567 สัดส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 89 ต่อ GDP ซึ่งผลจากการเป็นหนี้อาจกระทบต่อทั้งตัวบุคคลและครอบครัว ถ้ามีหนี้เกินตัวก็จะเกิดความเครียด และถ้าวิธีการแก้หนี้ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตด้วย 

ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยหลักการคือเมื่อคนมีรายได้ แล้วเอาไปจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียน ทำให้ GDP เติบโตตามศักยภาพ แต่เมื่อเกิดภาวะหนี้สิน คนจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ก่อน เงินที่เหลือสำหรับจับจ่ายก็จะน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบในภาพรวม 

อย่างไรก็ตาม ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมาตรการที่ ธปท. ให้ความสำคัญและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เพื่อให้สถาบันการเงินตระหนักว่า ก่อนที่จะปล่อยสินเชื่อ อย่างน้อยต้องรู้ว่าหลังจากผู้กู้ชำระค่างวดต่อเดือนแล้ว เขาควรจะมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ ซึ่ง ธปท. เห็นว่ามาตรการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2566

 

หลักการสำคัญของประกาศฉบับนี้ มุ่งหมายให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย 

  1. ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าผู้ให้บริการมุ่งเน้นการให้บริการอย่างเป็นธรรม บริการลูกค้าอย่างจริงใจ ไม่เอาเปรียบ 
  2. ลูกค้าได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและชัดเจน 
  3. ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นธรรมทั้งด้านราคาและเงื่อนไข 
  4. ลูกค้าสามารถใช้บริการได้สะดวกและได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม 
  5. ลูกค้าเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง โดยผู้ให้บริการมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้ลูกค้ามีความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงสามารถบริหารจัดการเงินและหนี้ได้อย่างเหมาะสม 

ประกาศฉบับนี้มุ่งหวังให้ผู้ให้บริการต้องมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อ อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) ให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน


ที่มา: https://www.bot.or.th/content/dam/bot/fipcs/documents/FPG/2566/ThaiPDF/25660239.pdf

 

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของ GDP ถือว่าน่าเป็นห่วงแค่ไหน

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เป็นอยู่ ถ้ามองในส่วนของการแก้หนี้สำหรับภาคธุรกิจหรือ SMEs ก็มีความท้าทายพอสมควร เพราะช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ภาคธุรกิจเหล่านี้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรให้เขามีสภาพคล่องมากขึ้น มั่นคงมากขึ้น และเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนปัญหาของลูกหนี้รายย่อยหรือบุคคลธรรมดาก็มีความท้าทายเรื่องรายได้เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าหลายคนพยายามทำงานหลายอย่างเพื่อหารายได้เสริม แต่ปัญหาก็คือทำอย่างไรให้ลูกหนี้ที่มีอยู่จำนวนมากสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมได้

ที่จริงแล้วการเป็นหนี้ในระดับที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม เพราะถือเป็นการเอาเงินในอนาคตมาลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้มากกว่าเดิม ซึ่งจากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP 

จะเห็นว่าการเป็นหนี้หรือการกู้เงินไม่ได้เป็นข้อเสียเสียทีเดียว แต่ถ้าหากกู้แล้วจ่ายคืนไม่ไหว หรือมียอดชำระหนี้มากเกินไปจนไม่เหลือเงินสำหรับใช้จ่าย ก็จะไม่นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ 

เป้าหมายระยะยาวของเราคือ ต้องการลดตัวเลขหนี้ครัวเรือนไม่ให้เกินร้อยละ 80 แต่ต้องไม่ใช่ลดเร็วจนเกินไป เพราะกลุ่มเปราะบางอาจได้รับผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ 

 

 

มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ให้การช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างไรบ้าง

แนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เรามองว่าหนี้ที่มีปัญหาต้องรีบแก้ไขแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) หนี้เสีย หรือ NPL 2) หนี้เรื้อรัง คือหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ 3) หนี้ใหม่ คือกลุ่มที่อาจเป็นหนี้เสียและหนี้เรื้อรังในอนาคต และ 4) หนี้นอกระบบ 

กรณีหนี้เสีย เราสนับสนุนให้เกิดกระบวนการฟื้นฟู ให้ลูกหนี้ล้มแล้วลุกได้เร็วผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้เสีย วิธีปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ลดอัตราผ่อนจ่ายช่วงแรก โดยเจ้าหนี้จะพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้และเงินคงเหลือสำหรับดำรงชีวิตของลูกหนี้ 

ส่วนลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง หมายถึง หนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูน โดยจ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม และใช้เวลานานในการปิดจบหนี้ ซึ่ง ธปท. มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567

แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ กรณีเกิด moral hazard หรือภาวะภัยทางศีลธรรมที่อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวลูกหนี้เอง ซึ่งหลักการแก้หนี้ที่เหมาะสมและยั่งยืนควรจะต้องทำให้ครบทั้งวงจร คือตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อหนี้เป็นปัญหา ต้องแก้ให้ตรงจุด ถูกหลักการ ไม่สร้างภาระเพิ่ม และที่สำคัญต้องไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะเราไม่ใช่ระบบสังคมนิยมที่จะกำหนดว่าใครควรได้หรือไม่ได้สินเชื่อ แต่เราใช้ระบบตลาดในการผลักดันให้คนเข้าถึงสินเชื่อ ถ้าหากเราช่วยเหลือคนบางกลุ่มมากเกินไป อาจทำให้เขาเสียวินัยทางการเงินได้ ฉะนั้น การแก้หนี้ที่ดีจะต้องไม่ทำให้เขาเสียวินัยด้วย 

กล่าวโดยสรุป หลังจาก ธปท. ได้ออกแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว คาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนจะมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง แต่ก็ไม่ควรจะลดลงเร็วเกินไป เพราะนั่นอาจหมายถึงกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากเขาอาจจะหันไปหาสินเชื่อนอกระบบแทน 

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือภาวะที่เรียกว่า ‘หลุมรายได้’ หมายความว่ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย แม้คนส่วนหนึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐอยู่บ้าง แต่สภาพคล่องก็ไม่เพียงพอ สิ่งที่เขาทำได้คือต้องไปกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

ณ ปัจจุบัน แม้รายได้ของคนส่วนใหญ่จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติแล้ว แต่หลุมรายได้ที่เกิดขึ้นในอดีตก็ก่อให้เกิดภาระหนี้ ทำให้ต้องหารายได้เพิ่มมากขึ้นหรือมากกว่าค่าครองชีพ จึงจะเคลียร์หนี้ในอดีตได้และสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ฉะนั้นตอนนี้จึงอยู่ในช่วงที่ทุกคนต้องพยายามรักษาสภาพคล่องของตัวเองให้ไปต่อได้ ซึ่งบางคนก็อาจจะยังอยู่ในสภาพที่ตึงตัว ทำให้เราเห็นตัวเลข NPL ที่อาจยังเพิ่มอยู่บ้าง 

 

วงจรการเกิดหนี้สินของคนไทยมีลักษณะอย่างไร และปัญหาอยู่ตรงจุดไหน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องมีหนี้สิน แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีหนี้สินจนกลายเป็นภาระ อาจเกิดจากปัญหาเรื่องรายได้ การมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม หรืออาจมีความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินที่ไม่เพียงพอ 

จุดที่เรามองว่ายังเป็นปัญหาอยู่ คือเงินออมฉุกเฉิน ข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีคนไทยเพียงร้อยละ 22.4 ที่มีเงินออมฉุกเฉินสำหรับดำรงชีวิตได้เกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป แต่สถานการณ์โควิด-19 เราต้องอยู่กับวิกฤตนานถึงกว่า 2 ปี หมายความว่ามีคนไทยอีกเกือบร้อยละ 80 ที่มีเงินออมฉุกเฉินไม่ถึง 6 เดือน เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาจึงจำเป็นต้องกู้เงิน และถ้ากู้ในระบบไม่ได้ก็ต้องไปกู้นอกระบบ 

อีกเรื่องหนึ่งคือการออมเงินก่อนเกษียณ จากสถิติพบว่า คนไทยร้อยละ 85 ยังไม่สามารถออมเงินได้เพียงพอสำหรับการเกษียณ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

ฉะนั้น หากถามว่าคนเป็นหนี้เพราะมีความจำเป็นจริงไหม ส่วนหนึ่งก็อาจจะจริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากขาดความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินพอสมควร และหากถามว่ามีสักกี่คนที่จะรู้ว่าเราควรต้องมีเงินออมฉุกเฉินสำหรับดำรงชีพอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งก็คงมีไม่มาก และเป็นอีกหนึ่งปัญหาของประเทศที่เราต้องค่อยๆ แก้ไขต่อไป 

 

ช่วยยกตัวอย่างความรู้ทางการเงินอะไรบ้างที่ลูกหนี้ควรทราบ

ปัญหาเรื่องการขาดความรู้ทางการเงินที่เราพบบ่อยคือ กรณีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน และกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งถ้าเขาเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วพยายามชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันสถานะในข้อมูลเครดิตของเขาจะเป็นหนี้ปกติทันที และถ้าเขาชำระตรงเวลาต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป เราเห็นเจ้าหนี้บางรายเริ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แล้ว เพราะสะท้อนว่าลูกหนี้คนนี้มีความตั้งใจจะชำระหนี้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้เขาหนีหนี้ พอหนีแล้วก็ต้องเสียเวลาจากการถูกฟ้องร้องอีกเป็นปี แล้วประวัติก็จะติดตัวเขาไปอีก 3 ปี ซึ่งเป็นทางออกที่ไม่ค่อยสวยนัก แต่ถ้าหากเขาเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะมีโอกาสแก้ตัวใหม่ได้ 

อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากคือ หนี้บัตรเครดิต เมื่อเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็มักไปเปิดบัตรใหม่เพื่อเอามาโปะบัตรเก่า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด บางคนเปิดบัตรใหม่เกือบ 10 ใบ ทำให้เจอปัญหาดอกเบี้ยทบต้น แต่ที่จริงถ้าเขาเป็นหนี้บัตรเครดิตเพียงเจ้าเดียวแล้วไปเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะไม่มีดอกเบี้ยทบต้น เพราะการคิดดอกเบี้ยทบต้นถือว่าผิดกฎหมาย 

และอีกกรณีคือ หนี้เรื้อรัง แม้จะมีประวัติชำระดี แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ เพราะที่ผ่านมาจ่ายแต่ดอก อย่างเช่นกลุ่มลูกหนี้เกษตรกร จริงๆ แล้วธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดช่องให้โปะเงินต้นได้ แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้ ซึ่งเราจะโทษว่าลูกหนี้ไม่มีความรู้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ในการให้ความรู้ด้วย เพราะฉะนั้นมาตรการ responsible lending ของ ธปท. ในลำดับถัดไปจะเน้นไปที่บทบาทของเจ้าหนี้ในการให้ความรู้แก่ลูกหนี้มากขึ้นด้วย

 

แนวทางการส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีวิธีการอย่างไรบ้าง

เราพบว่าเรื่องบางเรื่องเราจำเป็นต้องรีบสร้างความเปลี่ยนแปลง และพยายามสื่อสารให้คนทั่วไปรับทราบ เช่น กู้เท่าที่จำเป็น ต้องชำระคืนไหว และหากมีประเด็นไหนที่ต้องเร่งผลักดัน ธปท. ก็จะออกประกาศบังคับใช้กับสถาบันการเงินต่อไป

ในช่วงปี 2568 เรามีอีกหลายประเด็นที่จะเร่งผลักดันเรื่องการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และจะจัดทำเป็นชุดความรู้อินโฟกราฟิก (infographic) ให้แต่ละธนาคารช่วยกันเผยแพร่ต่อเพื่อให้เกิดภาพจำมากขึ้น โดยแต่ละธนาคารสามารถนำไปปรับแต่งโทนสีให้เหมาะสมกับองค์กรตนเองได้ เพื่อสื่อกับลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง

 

ตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์จาก ธปท. | ที่มา: https://www.bot.or.th/th/news-and-media/multimedia/infographic.html

 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาของลูกหนี้รายย่อยมีความท้าทายกว่าลูกหนี้นิติบุคคลมาก เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และ ธปท. ด้วย 

เมื่อเจ้าหนี้มีลูกหนี้จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยประสานพูดคุยอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้การควบคุมคุณภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนทาง ธปท. เองถ้ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราก็จะช่วยแก้ไขให้ได้ แต่ปัญหาคือ ลูกหนี้บางส่วนอาจยังไม่ทราบว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองคืออะไร ทำให้ ธปท. รอรับเรื่องร้องเรียนอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เราจึงต้องใช้วิธีไปสุ่มตรวจเยี่ยมสถาบันการเงินในแต่ละสาขา หรือคอยตรวจสอบว่าพนักงานคอลเซนเตอร์ให้คำแนะนำแก่ลูกหนี้อย่างถูกต้องครบถ้วนไหม 

 

กรณีลูกหนี้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ธปท. มีช่องทางใดบ้างที่จะรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม

ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญเรื่องการแก้หนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนโควิด-19 อาทิ เรามี ‘คลินิกแก้หนี้’ เป็นโครงการแก้หนี้เสีย บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ค้างชำระเกิน 120 วัน 

สิ่งที่เป็นปัญหาของหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดคือ ณ วันที่ลูกหนี้มีปัญหาจะมีบัตรที่เป็นหนี้เสียอย่างน้อย 3 ใบ หรือมีเจ้าหนี้มากกว่า 1 ราย เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบรวมหนี้ในครั้งเดียว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดหนี้รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จากดอกเบี้ยร้อยละ 16-25 ก็จะเหลือร้อยละ 3-5 ต่อปี และสามารถขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี สมมติยอดหนี้ 100,000 บาท ก็อาจจะผ่อนเพียงแค่เดือนละหลักพันเท่านั้น 

อีกโครงการคือ ‘ทางด่วนแก้หนี้’ เกิดจากปัญหาที่ว่า ลูกหนี้ไม่สามารถติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยินยอม เราจึงมีทางออกให้ว่า ถ้าลูกหนี้ไปทางธรรมดาแล้วติดขัด เราจะมีทางด่วนให้ เป็นทางด่วนที่ ธปท. สามารถติดตามผลได้ด้วย โดยลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ภาคธุรกิจมาลงทะเบียนกับเรา แล้วเราจะส่งรายชื่อกลับไปให้สถาบันการเงินดำเนินการต่อ ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 36-40 

ต่อมาคือ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ โครงการนี้เป็นลักษณะให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการแก้ไขหนี้และให้ความรู้ทางการเงินเบื้องต้นสำหรับทั้งลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจ โดยในช่วงโควิดเราพบว่า ลูกหนี้ต้องการเพียงแค่ขอให้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ แล้วเขาจะไปแก้ไขปัญหาของตนเองต่อได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือให้คำปรึกษาแนะนำ และในอนาคตเราตั้งเป้าว่าจะสร้าง ‘หมอหนี้’ เพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนที่เพียงพอและคุณภาพที่ใช่

ช่องทางสุดท้ายคือ ‘รับเรื่องร้องเรียน’ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีต้องการขอความอนุเคราะห์ เช่น การขอปรับโครงสร้างหนี้ การขอลด/ยกเว้นดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับต่างๆ กับกรณีต้องการร้องเรียน หากใครประสบปัญหาเรื่องใดสามารถแจ้งเบาะแสมายังช่องทางนี้ได้ เพราะบางครั้งเราเองก็อาจไม่สามารถสอดส่องดูแลได้ทั่วถึง เราจึงอยากได้เบาะแสเพื่อจะเข้าไปตรวจสอบขยายผลต่อได้ ซึ่งหลายครั้งที่ ธปท. ได้มีคำสั่งการลงไปก็มาจากเบาะแสและเรื่องร้องเรียน

 

 

 

ปัญหาที่พบบ่อยของลูกหนี้มีอะไรบ้าง

สิ่งที่ลูกหนี้อาจยังไม่ค่อยรู้คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาจะสามารถปกป้องตัวเองได้คืออะไร เวลาถูกบีบจากเจ้าหนี้ เขาไม่รู้ว่าสามารถร้องเรียนได้หรือไม่ หรือบางกรณีคือรู้ แต่ก็ยินยอม เช่น การกู้สินเชื่อบ้านพร้อมกับการซื้อ MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance หรือ ประกันชีวิตคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อบ้าน) ซึ่งที่จริงแล้ว ธปท. มีหลักเกณฑ์ว่าห้ามบังคับขาย MRTA คู่กับสินเชื่อบ้าน แต่ต้องมีทางเลือกให้ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องซื้อ MRTA ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวลูกหนี้เอง แต่เราพบว่าคนจำนวนหนึ่งยอมซื้อเพราะความเกรงใจ หรืออยากตอบแทนผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการชำระหนี้ตามมาในภายหลังได้

อย่างไรก็ดี กรณีที่ลูกหนี้ประสบปัญหาต่างๆ ถ้าคิดไม่ออก บอกไม่ถูก สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางเงิน (ศคง.) โทร. 1213 ทั้งเรื่องภัยการเงิน และบริการทางการเงินทั่วไป เราจะมีคู่สายที่ให้บริการในภาษาท้องถิ่นด้วย 

 

ประเมินผลลัพธ์จากมาตรการต่างๆ ของ ธปท. ไว้อย่างไรบ้าง

หลังจาก ธปท. ประกาศมาตรการ responsible lending ไปแล้ว เราจะติดตามประเมินผลในหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกที่เป็นหัวใจสำคัญคือการแก้หนี้ เราจะตรวจสอบว่า สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้จริงตามเกณฑ์ที่เราให้ไว้หรือไม่ ลูกหนี้ทุกกลุ่มที่เข้าเงื่อนไขได้รับการเสนอปรับโครงสร้างหนี้ไหม 

นอกจากนี้เราจะดูว่ามีหนี้เสียรายใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะตามประกาศระบุว่าถ้าลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ทั้งก่อนจะเป็นหนี้เสียและหลังเป็นหนี้เสีย ซึ่งถือเป็นเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เราจะเข้าไปสุ่มตรวจถึงขั้นว่า คุณติดต่อลูกหนี้แบบไหน หรือติดต่อเพียงเพื่อจะตามทวงหนี้อย่างเดียวหรือเปล่า รวมถึงคุณปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เราสุ่มตรวจสอบทั้งทางคอลเซนเตอร์และธนาคารสาขา มีการพูดคุยกับกรรมการบริหารเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเราจริงจังกับมาตรการนี้ 

เฉพาะ 4 เดือนแรกของปี 2567 เราปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 800,000 บัญชี ยอดเงินประมาณ 230,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้ คาดว่าตัวเลขหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) กับตัวเลข NPL จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ถึง 5 เท่า เพราะฉะนั้นถ้ามองผลลัพธ์ในแง่ปริมาณก็ถือว่าเราช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาได้จริง ทำให้ NPL ไม่เพิ่มขึ้นมาก 

อีกส่วนหนึ่งที่เราค่อนข้างพอใจก็คือกว่าร้อยละ 80 ที่เราได้ปรับโครงสร้างหนี้ คือกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย ซึ่งเรามองว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องรีบแก้ให้เร็ว เพื่อให้กลับมาตั้งหลักได้ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นหนี้เสียแล้ว ลูกหนี้ก็มักจะถอดใจไปเสียก่อน 

โดยสรุปภาพรวมก็ถือว่าดีขึ้นมากตั้งแต่มีประกาศ ธปท. เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนองค์กรใดที่ยังไม่แก้ไขปรับปรุง เราก็จะทยอยดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี เพราะรู้ว่าเราเอาจริง 

 

มาตรการ responsible lending ถือเป็นข้อบังคับหรือเป็นการขอความร่วมมือ

ถือเป็นข้อบังคับตามกฎหมายเลย อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ถ้าไม่ปฏิบัติตาม สามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยใช้หลักกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน มีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ภายใต้กำกับของ ธปท.

ยกตัวอย่างแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เช่น ในเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จะต้องเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด สูงสุด และอัตราดอกเบี้ยต่อปี เราจะติดตามดูว่ามีการระบุข้อความครบถ้วนชัดเจนไหม คำเตือนจะต้องไม่ใช้ตัวอักษรที่เล็กเกินไป รวมถึงดูว่ามีข้อความไหนที่ไม่เหมาะสมบ้าง เช่น “กู้ง่าย ไม่ต้องเช็กเครดิตบูโร” อันนี้ก็ไม่โอเค เพราะถือว่าไม่เป็นการสนับสนุนให้เกิดวินัยทางการเงิน

 

เป้าหมายระยะต่อไปของการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 

ถ้ามองระยะใกล้ การแก้หนี้ในช่วงที่ผ่านมาเปรียบเหมือนการดับไฟ ทำอย่างไรให้คนที่กำลังมีปัญหาหรือไปต่อไม่ไหวได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพราะกลุ่มนี้ต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วน ส่วนเรื่องการก่อหนี้ใหม่ เรามองว่าหากปรับเกณฑ์เข้มงวดมากไปก็อาจจะส่งผลเสียต่อกลุ่มเปราะบาง ทำให้เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ดังนั้นต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพ 

ภารกิจที่เราเน้นหนักตอนนี้คือ การแก้หนี้เสียกับหนี้เรื้อรัง ซึ่งจะต้องปรับวิธีการสื่อสารกับลูกหนี้ให้ทั่วถึงมากขึ้น ส่วนการแก้หนี้นอกระบบคงต้องหวังพึ่งรัฐบาลในการช่วยเหลือดูแล 

ในระยะยาว สิ่งที่เราต้องทำก็มีหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เราพยายามผลักดันด้วยเช่นกันก็คือ พาลูกหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาในระบบ ซึ่งจะเป็นตัวพลิกเกมที่สำคัญ เพราะปัจจุบันคนหันมาใช้บริการในระบบดิจิทัลมากขึ้น เมื่อมีดิจิทัลฟุตปรินต์ก็จะเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดปัญหาหนี้นอกระบบไปด้วย 

เรื่องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เราพยายามสร้างหมอหนี้ที่มีคุณภาพและมีจำนวนที่เพียงพอ ปัจจุบันเราได้ร่วมมือกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสร้างเครือข่ายหมอหนี้ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่จะช่วยชี้ช่องทางแก่ลูกหนี้ได้ โดยจะมีทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน ระดับหนึ่งคือ ให้คำแนะนำผ่านสายด่วน 1213 ระดับสอง ให้คำปรึกษา ปรับสภาพคล่องได้ คำนวณรายรับรายจ่ายได้ ระดับสาม เป็นผู้เชี่ยวชาญ และระดับสี่คือ สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูหนี้ได้ 

อีกส่วนเราได้ร่วมมือกับนักวางแผนการเงินที่ผ่านการรับรอง CFP (Certified Financial Planner) เป็นผู้มีพื้นฐานความรู้ทางการเงินระดับมืออาชีพ สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมความรู้เรื่องการแก้หนี้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษาทางการเงินได้ 

นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ฝึกอบรมหมอหนี้ให้กับเรา และในอนาคตอาจขยายผลเป็นศูนย์สร้างหมอหนี้ภาคเหนือ เพื่อเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของหมอหนี้ให้เพียงพอและยั่งยืน โดยหลักสูตรขณะนี้อยู่ในขั้นผลิตหมอหนี้ระดับ 1 และ 2 ซึ่งจะต้องพัฒนากันต่อไป

 

 

อะไรคือความท้าทายของ ธปท. กับภารกิจเสริมสร้างการเงินที่เป็นธรรม

หากทุกอย่างตั้งอยู่บนฐานการเงินที่เป็นธรรม ในที่สุดก็จะพาไปถึงเป้าหมายของ ธปท. คือ การมี Financial Well-Being (สุขภาวะทางการเงิน) ที่ดีตลอดช่วงชีวิต การที่ประชาชนจะเข้าสู่ภาวะแบบนี้ได้ ประการแรกจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ประกอบกับอาศัยแรงหนุนเสริมทั้งจากเจ้าหนี้และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อจะมาช่วยกันเสริมสร้างระบบให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา การฝึกอบรม การจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้ในที่สุดแล้วเราจะมีภูมิคุ้มกันและสุขภาวะทางการเงินที่ดีตลอดช่วงชีวิต 

ความเป็นธรรมทางการเงินในที่นี้ หมายความว่า ประชาชนจะได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถทางการเงินของตนเอง บนเงื่อนไขที่เป็นธรรม ตรงตามที่เสนอขาย หรือหากมีปัญหาหลังการขาย ผู้ให้บริการก็ต้องมาร่วมดูแลแก้ปัญหา ไม่ทอดทิ้งกันตลอดทาง