เปิดคะแนน Fair Finance Score ปีที่ 6:

26 มกราคม 2567
เปิดคะแนน Fair Finance Score ปีที่ 6: สำรวจพัฒนาการด้านนโยบายของธนาคารไทย 13 หมวด
เข้าสู่ปีที่ 6 ของการประเมินคะแนน ESG ธนาคารไทย โดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้จัดทำการประเมินมาตรฐานของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง
.
Fair Finance Thailand ชวนดูพัฒนาการด้านนโยบายของธนาคารในไทยในแต่ละหมวดว่าเป็นอย่างไร
.
ผลการประเมินปี 2566 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%)
2. ธนาคารกสิกรไทย (33.14%)
3. ธนาคารกรุงไทย (30.79%)
4. ธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%)
5. ธนาคารกรุงเทพ (29.49%)
.
โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลการประเมินปี 2565 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขยับขึ้นจากอันดับที่ 6 มาอยู่อันดับที่ 5 แทนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%)
.
คะแนนเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ลดลงเล็กน้อยจาก 33.94 คะแนนในปี 2565 เป็น 32.92 คะแนนในปี 2566 เนื่องจากมีการปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน Fair Finance Guide International (FFGI) ให้ละเอียดและเข้มข้นขึ้น
.
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่แนวร่วมฯ ใช้ คือ เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ซึ่งคือ ดัชนีและเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมในการเจรจาต่อรอง รณรงค์ ส่งเสริม และมีส่วนร่วมกับภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน โดยประเมินเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
.
โดยข้อมูลที่หยิบยกมาประกอบการประเมินจะเป็นเอกสารนโยบายที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่ รายงานที่รวมเนื้อหาจากรายงานประจำปี (Annual Report) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) เข้าไว้ในรายงานเดียว (one report) ซึ่ง ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องจัดทำรายงานแบบดังกล่าวตั้งแต่ปี 2565, รายงานประจำปี (annual report), รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR Report, ข้อมูลหรือเอกสารบนเว็บไซต์, แถลงการณ์สาธารณะ และจดหมายข่าว (ไม่เกิน 1 ปี)
.
ประเด็นที่ใช้ในการประเมิน มี 13 หมวดด้วยกัน ได้แก่
.
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การทุจริตคอร์รัปชัน
ความเท่าเทียมทางเพศ
สุขภาพ
สิทธิมนุษยชน
สิทธิแรงงาน
ธรรมชาติ
ภาษี
อาวุธ
การคุ้มครองผู้บริโภค
การขยายบริการทางการเงิน
นโยบายค่าตอบแทน
ความโปร่งใสและความรับผิด
.
หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
.
เกณฑ์หมวดนี้มุ่งเน้นการประเมินบทบาทของธนาคารในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของธนาคาร
.
ในปี 2566 หมวดนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประเมินมากที่สุด โดยเป็นการเปลี่ยนเกณฑ์คะแนนให้เคร่งครัดมากขึ้นตามระดับความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องในทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาตมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) แห่งใหม่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมถึงไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีธุรกิจการสกัดน้ำมันจากทรายน้ำมัน (tar sands)
.
ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาตมีกลยุทธ์การยกเลิกการสนับสนุนถ่านหินที่มีกรอบเวลาชัดเจน และสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเดียวที่ประกาศแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ ได้แก่ ป่าไม้และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่นำผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปใช้ โดยธนาคารสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัสดุชีวภาพที่ผ่านการรับรองกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน
หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน
.
เกณฑ์หมวดนี้มุ่งประเมินบทบาทของธนาคารในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงมีมาตรการต่อต้านการฟอกเงิน การก่อการร้าย และมีกลไกที่สามารถยืนยันได้ถึงผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary) ของบริษัทลูกค้า
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทุกแห่งได้คะแนนจากการประกาศไม่รับสินบน มีนโยบายการต่อต้านการฟอกเงิน ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มก่อการร้าย มีการเปิดเผยผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง และมีมาตรฐานเพิ่มเติมเมื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งการประกาศนโยบายเหล่านี้เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง หลักเกณฑ์การรับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชน (Guideline on Acceptance of Deposits or Money from Customers)
.
ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต มีนโยบายต่อต้านการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง (Political Contributions) อย่างไรก็ตาม นโยบายของธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย มีข้อยกเว้นที่ระบุว่าการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนพรรคการเมืองสามารถทำได้หากได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย จึงทำให้ได้คะแนนในข้อนี้บางส่วน
.
หมวดความเท่าเทียมทางเพศ
.
เกณฑ์ในหมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารสะท้อนถึงคุณค่าความเท่าเทียมในบริบทของเพศ โดยความเท่าเทียมทางเพศหมายถึงการมีสิทธิ ความรับผิดชอบ และโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อกำหนดด้านเพศ
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายกำหนดให้ลูกค้าต้องมีการจ้างงานที่ต้องให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าต้องมีการบริหารการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
.
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูง ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในทุกตำแหน่ง
.
ธนาคากรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้คะแนนจากการจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน
.
หมวดสุขภาพ
.
เกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารกำหนดนโยบายเพื่อพิทักษ์สุขภาพของชุมชน ลูกจ้าง และลูกค้าของบริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงิน
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นธนาคารเดียวที่มีการประกาศนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การค้า หรือการขายยาสูบที่ผิดกฎหมาย และตั้งเป้าหมายในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมยาสูบเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2566 โดยครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบตั้งแต่การปลูก การผลิตและการค้ายาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบ
.
ธนาคารกรุงไทยได้รับคะแนนจากการประกาศนโยบายการให้สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ โดยบริษัทต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สุขภาพของลูกจ้าง ลูกค้า และชุมชนใกล้เคียงถูกลิดรอนโดยผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตของบริษัทตามหลักความรอบคอบ (Precautionary Principle)
.
ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนจากการประกาศประเภทธุรกิจที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (Exclusion List) ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมิน ได้แก่ การผลิต การใช้หรือการค้าที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ สารเคมี และสารอันตรายอื่นๆ ที่อยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศหรือกฎหมายของประเทศที่อยู่ระหว่างการยกเลิกการใช้หรือที่ได้ยกเลิกไปแล้ว
.
หมวดสิทธิมนุษยชน
.
เกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการ ชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) และมีกลไกติดตามตรวจสอบให้ลูกหนี้ธุรกิจของธนาคารปฏิบัติตามหลักการชี้แนะดังกล่าวด้วย
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทหารไทยธนชาตได้คะแนนจากการกำหนดให้ลูกค้าต้องมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายของประเทศ รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกที่กำหนดในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากใช้ที่ดินของธุรกิจก่อนการดำเนินธุรกิจ
.
ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยได้รับหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact - UNGC) ซึ่งกำหนดให้การปฏิบัติงานและกลยุทธ์ของภาคธุรกิจต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล ในขอบเขตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธนาคารทั้งสองแห่งได้รับคะแนนจากการเคารพหลักการดังกล่าว
.
ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของ เพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก
.
หมวดสิทธิแรงงาน
.
เกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานสอดคล้องกับคําประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทํางาน รวมถึง นโยบายด้านสิทธิแรงงานของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารด้วย
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดในหมวดนี้ โดยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องจัดให้มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม และปฏิบัติต่อพนักงาน รวมถึงพนักงานที่เป็นแรงงานต่างชาติและแรงงานนอกระบบอย่างเท่าเทียมกัน
.
ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนจากการประกาศนโยบายคุ้มครองความเป็นมารดา แต่มีเพียงธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ที่ได้คะแนนเต็มในข้อนี้ เนื่องจากนโยบายคุ้มครองความเป็นมารดาของทั้งสองธนาคารสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินครบทุกเงื่อนไข ได้แก่ การให้สิทธิพนักงานหญิงที่ลาคลอดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนในช่วงก่อนและหลังคลอดรวมกันสูงสุด 98 วัน โดยได้สิทธิในการกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม และการจัดให้มีพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานที่เป็นคุณแม่สำหรับปั๊มน้ำนม
.
ธนาคารกรุงเทพเปิดเผยขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งจัดให้มีการปรึกษาข้อร้องทุกข์กับสหภาพแรงงาน ซึ่งกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก
.
หมวดธรรมชาติ
.
เกณฑ์หมวดนี้ประเมินนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจที่ธนาคารให้การสนับสนุน ทางการเงิน เกณฑ์หลายข้อมุ่งเน้นให้ธนาคารมีนโยบายสินเชื่อเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทหารไทยธนชาตยังคงได้รับคะแนนจากการประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจที่มีการผลิตหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species) และกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารมีการป้องกันและแก้ไขการรุกรานของพันธุ์ต่างถิ่นตามที่กำหนดใน Invasive Alien Species ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อการคงอยู่ของพันธุ์พื้นเมืองและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
.
ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารทหารไทยธนชาตได้รับคะแนนจากการประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับกิจกรรมที่ผิดหรือเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายโดยครอบคลุมกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลได้ทำไว้ เช่น การผลิตหรือการซื้อขายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าและปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารคาร์ตาเฮนา
.
ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้รับคะแนนจากการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อโดยนำปัจจัยด้านการพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของสินเชื่อโครงการในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) มาใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
.
หมวดภาษี
.
เกณฑ์หมวดนี้มุ่งเน้นให้ธนาคารมีกลไกและกระบวนการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ รายได้ กําไร อัตรากําลัง สินทรัพย์ การสนับสนุนทาง การเงิน การจ่ายภาษี ตลอดจนการให้ คําแนะนําในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของธนาคาร และธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระหว่างประเทศและการให้บริการทางการเงินแก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศเขตปลอดภาษี
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่ได้คะแนนจากการประกาศว่าธนาคารจะไม่ใช้โครงสร้างทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขจัดหรือลดภาระทางภาษีผ่านการวางแผนหรือโครงสร้างที่ซับซ้อน และไม่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายภาษีในการดำเนินธุรกิจที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการและเจตนาของกฎหมายภาษีทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ
.
ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าธนาคารไม่ได้รับคำตัดสินทางภาษีที่มีนัยสำคัญใดๆ จากหน่วยงานกำกับดูแลภาษีในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคำตัดสิน ข้อหารือ หรือประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของธนาคาร จึงทำให้ได้รับคะแนนบางส่วน
.
ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้คะแนนจากการระบุว่าธนาคารไม่มีบริษัทในเครือ สาขา หรือบริษัทร่วมลงทุนใดๆ ในเขตอำนาจศาลที่ไม่มีภาษีเงินได้
.
หมวดอาวุธ
.
เกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูง ซึ่ง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน การฟอกเงิน และการก่อการร้าย
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนครบทุกข้อในหมวดนี้ โดยเป็นธนาคารเดียวที่ระบุว่า ธนาคารไม่สนับสนุนทางการเงินหรือลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตหรือค้าอาวุธสงคราม เช่น สินค้าที่สำคัญสำหรับเป้าหมายทางการทหาร แต่ยังสามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์พลเรือน (สินค้า ‘dual-use’) ซึ่งธนาคารจัดประเภทสินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าทางทหาร เมื่อมีเป้าหมายที่ไม่ใช่เป้าหมายทางพลเรือน
.
ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดอาวุธ เนื่องจากมีการขยายขอบข่ายนโยบายไม่ยอมรับการใช้ การผลิต การพัฒนา การบำรุงรักษา การทดสอบ การกักตุน และการค้าทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personal landmines) รวมถึงส่วนประกอบสำคัญของทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และนโยบายไม่ยอมรับการใช้ การผลิต การพัฒนา การบำรุงรักษา การทดสอบ การกักตุน และการค้าระเบิดลูกปราย (cluster munition) รวมถึงส่วนประกอบสำคัญของระเบิดลูกปราย ครอบคลุมไปถึงนโยบายบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ในเครือฯ
.
หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค
.
เกณฑ์หมวดนี้มีจุดประสงค์หลักให้ธนาคารมีมาตรการคุ้มครอง ผู้บริโภครายย่อยที่ครอบคลุม เช่น สร้างหลักประกันว่าลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่มีกระบวนการค้นหาความจริง (due diligence)
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารกรุงเทพ เป็นเพียงธนาคารเดียวที่มีการประกาศนโยบายว่าจะแจ้งลูกค้าอย่างทันท่วงทีเมื่อทางธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการให้บริการ โดยระบุแนวปฏิบัติในการแจ้งเปลี่ยนเงื่อนไขการให้บริการ หรือแจ้งเตือนที่สำคัญต่างๆ ในเอกสารแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Sales Sheet) ว่า "ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการที่มีผลกระทบต่อการใช้บริการของลูกค้า ธนาคารจะมีการสื่อสารหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เพียงพอ เช่น 30 วัน ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร"
.
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารออมสิน ได้รับคะแนนจากการตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายหรือขั้นตอนการติดตามหนี้ และบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันการเงิน (บุคคลที่สาม) ให้เป็นตัวแทนในการทวงหนี้
.
หมวดการขยายบริการทางการเงิน
.
เกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง โดยให้บริการทางการเงินที่เหมาะสม สะดวก และลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงได้
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้คะแนนจากการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น โดยมีสินเชื่อธุรกิจรักษ์โลก ซึ่งเป็นสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนซึ่งรวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง (ถือหุ้นมากกว่า 50%) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการและใช้ประกอบธุรกิจ
.
ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีพันธบัตรที่คำนึงถึงผู้ประกอบการสตรีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น
.
ธนาคารออมสินและธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนจากการมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย
.
หมวดนโยบายค่าตอบแทน
.
เกณฑ์หมวดนี้มุ่งเน้นการเปิดเผยโครงสร้างค่าตอบแทน และ คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายการจ่ายโบนัสที่ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมแก่พนักงานและผู้บริหาร
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนจากการประกาศว่าค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของธนาคารด้านความยั่งยืนทั้งในการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน รวมถึงการลงทุนและการให้บริการทางการเงิน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเติบโตของเงินสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และความพึงพอใจของลูกค้า
.
ธนาคารกรุงไทยได้รับคะแนนจากการที่มีนโยบายการตั้งเงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน รวมถึงการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน จากการกำหนดให้มีตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงานทุกระดับ รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เช่น เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อพิพาทแรงงานเป็นศูนย์
.
อนึ่ง นโยบายด้านการตอบแทนของธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำให้ธนาคารไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการตอบแทนได้เอง คณะวิจัยจึงยกเว้นการประเมินในหมวดการตอบแทนตั้งแต่ปี 2566
หมวดความโปร่งใสและความรับผิด
.
เกณฑ์หมวดนี้มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลสําคัญของธนาคาร อาทิ รายชื่อบริษัทที่ธนาคารเข้าไปลงทุน ปล่อยสินเชื่อเกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พอร์ตสินเชื่อแบ่งตาม อุตสาหกรรมสถิติการออกเสียง
.
ธนาคารที่ได้คะแนน เช่น
.
ธนาคารทุกแห่งมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนสำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทางลบจากกิจกรรมของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม มีธนาคารเพียง 2 แห่ง ที่ได้คะแนนเต็มในข้อนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต เนื่องจากทั้งสองธนาคารจัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนสำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินด้วย
.
ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งเดียวที่มีการระบุชัดเจนถึงการจัดให้มีกระบวนการการร่วมมือกันระงับข้อพิพาทโดยปราศจากค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งการระงับข้อพิพาทภายในและภายนอก โดยเป็นไปตามมาตรฐานของกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นๆ ซึ่งทำให้เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในเรื่องของการยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการร้องทุกข์ที่เกิดขึ้นในรัฐ เมื่อกรณีที่สถาบันการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยต้องเข้าสู่กระบวนการร้องทุกข์ดังกล่าว
.