รายงานการประเมินธนาคารไทยตามเกณฑ์ "แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ" ครั้งที่ 5
ในปี พ.ศ. 2565 Fair Finance Thailand (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย, “แนวร่วมฯ”) จัดทำการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ นับเป็นปีที่ห้าที่มีการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ เว็บไซต์ www.fairfinanceguide.org) มาใช้ในประเทศไทย ตามเกณฑ์ Fair Finance Guide International 12 หมวด ประจำปี พ.ศ. 2563 โดยใช้ข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ 30 กันยายน 2565 โดยการเปรียบเทียบระหว่างธนาคารจะแสดงผลเป็นร้อยละ (%) ของคะแนนรวม เพื่อเปรียบเทียบอันดับบนฐานเดียวกัน เนื่องจากธนาคารเฉพาะกิจบางแห่งมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ แนวร่วมฯ จึงยกเว้นบางหมวดในการประเมิน
ผลการประเมินนโยบายธนาคารประจำปี พ.ศ. 2565 สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ที่มีความชัดเจนมากกว่าทุกปี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และธุรกิจเหมืองถ่านหิน หรือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทยอยลดเงินกู้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยมีการประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่ครอบคลุมลูกค้าธุรกิจของธนาคารด้วย (กล่าวคือ ลูกค้าต้องเคารพในสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการชี้แนะ UNGP ด้วย) ซึ่งลูกค้าธุรกิจของธนาคารจะต้องมีกระบวนการเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัท (ลูกค้า) เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนในการก่อ และมีการจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการจากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น
ขณะที่ธนาคารที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น เช่น การประกาศนโยบายว่าลูกค้าของธนาคารไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน หรือการประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงการคุกคามทางวาจา ทางร่างกาย และทางเพศ รวมถึงมีการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทน gender pay gap
นอกจากนี้ ในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ธนาคารไทยได้คะแนนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหมวดอื่นตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการประเมิน แนวร่วมฯ มีข้อสังเกตว่า เกณฑ์การประเมินในหมวดนี้ยังไม่ครอบคลุมบริการธนาคารออนไลน์หรือแอพพลิเคชันมือถือของธนาคารมากนัก ผลคะแนนจึงไม่อาจสะท้อนว่าธนาคารไทยมีนโยบายที่เพียงพอหรือไม่ในการรับมือกับปัญหาที่ผู้ใช้บริการธนาคารทางมือถือหรือออนไลน์ประสบ (อนึ่ง ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565 Fair Finance Guide International อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินในหมวดนี้ให้ครอบคลุมบริการธนาคารทางมือถือและออนไลน์มากขึ้น)