ความเห็นต่อ "(ร่าง) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1"
- คำถามที่ 1/7 กรอบแนวคิดและการกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มีความครอบคลุมต่อการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วหรือไม่?: แนวร่วมฯ เห็นว่า โดยรวม กรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มีความครอบคลุมอยู่บ้างต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย แต่ยังไม่ครอบคลุมมากพอ เนื่องจากกำหนด “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (climate change mitigation) เป็นวัตถุประสงค์หลักด้านสิ่งแวดล้อมเพียงข้อเดียว ซึ่งถึงแม้จะสอดคล้องกับวาระโลกและเป้าหมายการขับเคลื่อนสู่ Net Zero ของประเทศไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนแผนแม่บทต่างๆ ก็ตาม วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็ยังไม่อาจครอบคลุมสถานการณ์และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่เร่งด่วนและรุนแรงในด้านอื่นๆ
-
คำถามที่ 2/7 วิธีการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงาน (การผลิตพลังงาน) และการขนส่งสมเหตุสมผลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยแล้วหรือไม่?: แนวร่วมฯ เห็นว่าวิธีการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและการขนส่ง โดยรวมมีความสมเหตุสมผลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 โดยเฉพาะการคำนวณเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงาน รวมถึงการกำหนด “ปีสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่าน” สำหรับกิจกรรมสีเหลือง (Amber threshold) ไว้ที่ ค.ศ. 2040 หลักๆ ยังคงอ้างอิงสมมุติฐานในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งมีความล้าสมัยไปหลายปีแล้ว โดยร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ระบุว่า “ตามแผน PDP2018 ประเทศไทยจะเพิ่มอัตราการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจนถึง 36% ภายในปี ค.ศ. 2037 และรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan: NEP) ฉบับใหม่ ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2050” ซึ่งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานประกาศ ยังห่างไกลจากระดับที่ควรต้องเกิด เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ก่อนปี 2030 จากปี 2010 และมุ่งหน้าสู่ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC)
-
คำถามที่ 3/7 จำนวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงาน (การผลิตพลังงาน) และการขนส่ง ครอบคลุมกิจกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้วหรือไม่?: แนวร่วมฯ เห็นว่ากิจกรรมจำนวน 22 กิจกรรมในภาคพลังงานและการขนส่ง ค่อนข้างครอบคลุมกิจกรรมหลักในภาคส่วนดังกล่าวที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ร่าง Thailand Taxonomy ยังไม่รวมกิจกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานร่วม (co-generation) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงควรรวมกิจกรรมดังกล่าวในร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ด้วย โดยอาจประยุกต์ใช้เงื่อนไขและตัวชี้วัดของ EU Taxonomy แต่ปรับให้ตรงกับเกณฑ์ Green และ Amber ของไทย
-
คำถามที่ 4/7 เงื่อนไขและตัวชี้วัดของภาคพลังงานครบถ้วนและเหมาะสมหรือไม่? เช่น รายละเอียดและขอบเขตของกิจกรรม เงื่อนไขที่ใช้ประเมิน รายละเอียดและข้อมูลสำหรับจัดทำตัวชี้วัด: แนวร่วมฯ เห็นว่า เงื่อนไขและตัวชี้วัดของภาคพลังงานบางกิจกรรม ยังมีความไม่เหมาะสม ไม่ครบถ้วน อีกทั้งหลักเกณฑ์ DNSH (Do No Significant Harm) ซึ่งร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 กำหนดไว้เป็นการทั่วไป ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างหลักประกันว่ากิจกรรมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ (DNSH) ต่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมข้อต่างๆ นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation)
- เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition)
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation: CRC)
- มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (Green South Foundation)
- โครงการพลังงานสะอาดจังหวัดระยอง
- บริษัท ป่าสาละ จำกัด
- International Rivers
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
- มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)