SCB ธนาคารแห่งแรกในไทย นำหลักการ Equator Principles มาใช้ในการบริหารสินเชื่อเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ธนาคารไทยพาณิชย์ นับเป็นธนาคารไทยแห่งแรก ที่ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ The Equator Principles (EP) พร้อมทั้งนำหลักการ EP มาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของทุกภาคส่วนสู่อนาคตที่ยั่งยืน
Equator Principles (EP) คือกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงินที่ได้ชี้แนะแนวทางในการ ‘ระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม’ สำหรับสินเชื่อโครงการ ซึ่งถือเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานในการตรวจประเมินและติดตามเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยง ปัจจุบันมีสถาบันการเงินนำหลักการอีเควเตอร์มาประยุกต์ใช้แล้วทั้งสิ้น 129 แห่ง ใน 39 ประเทศทั่วโลก
การประกาศเข้าร่วมและรับหลักการ EP ของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน
“ธนาคารขอให้คำมั่นที่จะนำหลักการอีเควเตอร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มาใช้ในการกำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการของธนาคาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การนำหลักการอีเควเตอร์มาใช้จะช่วยบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธนาคารและลูกค้าร่วมกันประเมินและกำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งมีการติดตามผลอย่างชัดเจนภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติระดับโลก ซึ่งถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารไทย ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดธุรกิจสีเขียวในภูมิภาคอาเซียน โดยธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเติบโตของทุกภาคส่วนและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและโลกใบนี้” อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ในฐานะที่เคยสนับสนุนให้ธนาคารประกาศรับหลักการ EP เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องต่อเจ้าหนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ดังแถลงการณ์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2562 (รายละเอียดแถลงการณ์) ขอแสดงความยินดีต่อธนาคารสำหรับหมุดหมายที่สำคัญยิ่งบนเส้นทาง “การเงินที่ยั่งยืน” ในครั้งนี้ และแนวร่วมประสงค์จะยืนยันตามข้อเรียกร้องข้ออื่นๆ อีก 4 ข้อ ในแถลงการณ์ เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ยังคงสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในโอกาสนี้ แนวร่วมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- ธนาคารควรเพิ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง ESG (ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) สูงมากต่อไปนี้ ลงในรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างความชัดเจนมากขึ้นให้กับแนวทางการประยุกต์ใช้หลักการ EP ในการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ
- โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในแม่น้ำสายหลัก (mainstem) ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ตามข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมการแม่น้ำโขง
- โครงการสำรวจ ก่อสร้าง หรือขยายเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ทรายน้ำมัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และธุรกิจที่จำหน่ายอุปกรณ์หรือให้บริการแก่ธุรกิจเหล่านี้
-
ธนาคารควรประกาศว่า ลูกค้าสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ จะต้องรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ใช้กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ
-
ธนาคารควรประกาศขั้นตอนการประยุกต์ใช้หลักการ EP ในการกลั่นกรองและติดตามสินเชื่อโครงการ รวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปิดเผยข้อมูลสินเชื่อโครงการตามหลักการ EP ต่อสาธารณะ