Policy Hackathon: ร่วมสร้างสรรค์นโยบายการเงินที่เป็นธรรม ก้าวไปด้วยกันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการเงินการธนาคารเป็นกลไลหนึ่งที่ส่งเสริมปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นตัวกลางผู้ออกกฎให้เงินทุนในตลาดไหลไปสู่กิจกรรมที่อาจสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรืออาจสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจหรือบุคคลธรรมดาที่ต้องการส่งเสริมหรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุน ดังนั้น การมีส่วนร่วมของธนาคารในกระบวนการแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบจึงเป็นส่วนสำคัญ อีกทั้งการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ด้วยสถาบันการเงินเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจจากหลายฝ่าย งาน Policy Hackathon จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อต้องการเฟ้นหาไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกในภาคการเงิน
เป้าหมายของกิจกรรม Policy Hackathon คือการมุ่งเน้นการคิดสร้างสรรค์เชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการเงินเดิมที่มีอยู่แล้ว การสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ไปจนถึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซี่งกิจกรรมนี้เป็นการแข่งขันระยะยาว เริ่มตั้งแต่การรับสมัครทีมที่เข้าแข่งขันตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565 ผ่านการทำเวิร์กช็อป จนถึงช่วงนำเสนอและประกาศผลผู้ได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
การแข่งขันครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 30 ทีม ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดที่มีประโยชน์และความน่าสนใจเป็นอย่างมาก แบ่งตามหมวดการแข่งขัน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเงินดิจิทัล 2) การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การแก้ปัญหาหนี้ โดยในการแข่งขันด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึงความสำคัญของการนำคาร์บอนเครดิตและตลาดคาร์บอนเข้ามาใช้งานจริงให้มากขึ้นในหลายระดับ ขณะที่การเงินดิจิทัลและการแก้ไขปัญหาหนี้ก็มีหลายทีมที่มุ่งสนใจการนำข้อมูล (Data) ของผู้บริโภคมาใช้งานให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงช่องทางในการทำให้ผู้บริโภคและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบายมากขึ้นกว่าที่เคย เป็นการมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่ระดับฐานรากมากขึ้นอีกด้วย
การมองเห็นและตระหนักรู้ถึงประเด็นดังกล่าว นับได้ว่าเป็นแนวโน้มอันดีที่จะนำไปสู่การป้องกันความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากนโยบายภาคการเงินที่อาจจะผิดพลาด สิ่งเหล่านี้จึงทำให้กิจกรรม Policy Hackathon ของ ธปท. เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของการรณรงค์แนวคิดการเงินเพื่อความเป็นธรรม โดยเฉพาะแนวคิดจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งสามารถผลักดันออกมาเป็นนโยบายที่ได้รับการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมไทยต่อไป
‘คาร์บอนเครดิต’ ต้องเข้าถึงง่ายและใช้ได้จริง
การพยายามช่วยเหลือธุรกิจหลายภาคส่วนให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจตนเอง นับเป็นหนึ่งในข้อเสนอของผู้เข้าร่วมแข่งขันในกิจกรรม Policy Hackathon ด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะพยายามชี้ให้เห็นว่าการออกแบบนโยบายสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคได้แล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ และตลาดคาร์บอนนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด
แนวคิดสำคัญแนวคิดหนึ่งมาจากทีม ‘Carbonomy’ ที่พยายามใช้คาร์บอนเครดิตมาเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ธุรกิจหันมาเปลี่ยนตนเองเป็นธุรกิจสีเขียว เนื่องจากทางทีมมองเห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ประเทศไทยกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซชนิดนี้ถึงอันดับที่ 22 ของโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสะสมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก จึงมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่สามารถเพิกเฉยได้
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดที่พยายามทำให้ SMEs สามารถเข้าถึง ‘สินเชื่อคาร์บอน’ (Carbon loan) ได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วธุรกิจ SMEs ไม่มีความสามารถในการปรับตนเองเป็นธุรกิจสีเขียวได้ไวเท่าบริษัทขนาดใหญ่ และอาจจะทำให้ในปี 2050 ประเทศไม่สามารถไปถึง ‘Carbon Neutral’ ตามที่วางแผนเอาไว้ได้ ดังนั้นทางทีมจึงออกแบบนโยบายการให้สินเชื่อคาร์บอน เพื่อให้ SMEs นำไปปรับธุรกิจของตนเองให้กลายเป็นธุรกิจสีเขียว หัวใจสำคัญคือภาระดอกเบี้ยที่ SMEs ต้องจ่ายให้แก่สถาบันการเงินจะสามารถลดลงได้ด้วยการจ่ายเป็นคาร์บอนเครดิต โดย SMEs จะได้รับคาร์บอนเครดิตจากการพยายามทำนโยบายสีเขียวต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้คือ นอกจากการพยายามปรับเปลี่ยน SMEs แล้ว ยังพยายามผลักดันให้องค์กรกำกับดูแลอย่าง ธปท. เข้าไปมีบทบาทโดยการสนับสนุนให้สถาบันการเงินอื่นๆ ปล่อยสินเชื่อคาร์บอนมากขึ้น ลดการปล่อยสินเชื่อที่อาจจะสร้างความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดคาร์บอนในไทยให้ดีกว่าเดิม
อีกแนวคิดที่มีจุดเชื่อมโยงเรื่องคาร์บอนเครดิตเหมือนกันคือ ทีม ‘Smart Environment’ ซึ่งต้องการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเพิ่มแรงจูงใจในการแยกขยะโดยจัดเก็บข้อมูลการแยกขยะของ SMEs ว่าพวกเขาลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้เท่าไหร่ แล้วเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตแบบดิจิทัลที่มีมูลค่ากลับคืน เนื่องจากประเทศไทยมีการสร้างขยะประมาณ 100 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ทั้งที่จริงแล้วกว่าครึ่งหนึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ทีมนี้จึงระบุว่าปัญหาเรื่องมลภาวะจากจัดการขยะสามารถแก้ไขได้ด้วยการคัดแยกขยะต้นทางตั้งแต่แรกหากมีแรงจูงใจและการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบมากเพียงพอ
ปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ทีมนี้ได้ชี้ให้เห็นคือ ประเทศไทยแม้จะมีตลาดคาร์บอนเครดิตแล้ว แต่ประชาชนและ SMEs ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นมาตรฐานและแพร่หลายเท่าที่ควร เมื่อไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องก็ไม่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนเป็นคาร์บอนเครดิตที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นทางออกสำคัญคือการเพิ่มช่องทางเข้าถึง การประเมิน และการจัดเก็บข้อมูลของตลาดคาร์บอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้ว่าแนวคิดของทั้งสองทีมจะนำเสนอแนวทางที่แตกต่างกัน ได้แก่ การปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของธุรกิจ SMEs กับการสร้างแรงจูงใจเพื่อคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทว่าทั้งสองแนวคิดต่างพยายามอธิบายถึงสิ่งเดียวกัน คือการทำให้ตลาดคาร์บอนเข้าถึงง่ายและใช้งานได้จริง เนื่องจากการลดต้นเหตุของสภาวะเรือนกระจกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ผ่านกระบวนการทางนโยบายที่รัดกุม บทบาทของ ธปท. และสถาบันการเงินในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการใช้คาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนอย่างแพร่หลาย และเสริมบทบาทของสถาบันการเงินในมิติสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
คลังข้อมูลผู้บริโภคที่ดี หัวใจสำคัญของการเงินดิจิทัล
เนื่องด้วยการบริการทางการเงินในปัจจุบันมักผูกอยู่กับระบบออนไลน์ ขณะเดียวกันการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการก็กลายเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินจำเป็นต้องทำ กิจกรรม Policy Hackathon หลายทีมต่างนำเสนอแนวทางยกระดับการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้โดยสถาบันการเงินตั้งแต่กระบวนการอนุมัติสินเชื่อ กระบวนการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงการกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงวินัยทางการเงินของตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น
การนำชุดข้อมูลที่รอบด้านมาประสานการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ทีม ‘Noboru’ ได้ออกแบบเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเสนอว่า ธปท. ต้องสร้างความร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม เจ้าหนี้ในระบบ และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้สำหรับการอนุมัติสินเชื่อรูปแบบพิเศษเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Spacial Purpose Co-investment Loan: SPCL) ให้แก่ลูกจ้างที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งยิ่งมุ่งเน้นความสำคัญของระบบการจัดการข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่ต้องเข้มแข็งและรัดกุมมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ทีม ‘PH7 เป็นกลาง’ ก็ได้เสนอการเก็บข้อมูลธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มใหม่เพื่อส่งต่อให้แก่สถาบันการเงิน เนื่องจากกลุ่มเปราะบางที่มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นแต่กลับขาดองค์ประกอบหลายอย่างที่ธนาคารจำเป็นต้องใช้สำหรับการปล่อยสินเชื่อ จนทำให้ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มเปราะบางหันไปหาหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก การใช้แพลตฟอร์มใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคในการเก็บข้อมูลประวัติธุรกรรม เพื่อใช้คำนวณคะแนนวินัยทางการเงินของผู้บริโภคสำหรับประกอบการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อต่างๆ ซึ่งพยายามเสริมความปลอดภัยสำหรับการส่งข้อมูลธุรกรรมด้วยกระบวนการรู้จักลูกค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) และใช้การเข้ารหัสตลอดท่อ (N2N encryption) ในการจัดเก็บข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายว่าจะลบข้อมูลผู้บริโภคในทุกๆ 5 ปี เพื่อความทันสมัยของข้อมูล และลดความเสี่ยงที่ข้อมูลของผู้บริโภคจะหลุดออกไปจากระบบอีกด้วย
แนวคิดเรื่องการประสานและใช้งานข้อมูลให้มากขึ้นก็ถูกเสนอในแนวคิดของทีม ‘3 ส’ เช่นเดียวกัน โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ของภาคเกษตรกรเข้าไว้ด้วยกันเป็น ‘Digital Factorings’ ที่เข้าถึงได้จากแพลตฟอร์มใหม่ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกประยุกต์ให้เข้ากับระบบการบูรณาการกลศาสตร์ของการเล่นเกม ( Gamification) ที่ส่งผลต่อการเสริมแรงจูงใจ (Incentive) โดยตรงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและคำชี้แนะของคณะกรรมการ ว่าสุดท้ายแล้วความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้บริการเหล่านี้จะมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากต้องเพิ่มศักยภาพในการป้องกันข้อมูลรั่วไหลแล้ว ยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคมากพอที่จะยินยอมให้ข้อมูลแก่ทางสถาบันการเงินอีกด้วย ซึ่งก็เป็นข้อคิดที่ทั้งผู้ลงแข่งขันและสถาบันการเงินจะต้องตระหนักถึงมากขึ้นเช่นเดียวกัน
การจัดการ ‘หนี้’ คือสิ่งที่ทุกคนควรรู้เท่าทัน
จากการนำเสนอในการแข่งขันด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม ‘Apocalypse’ ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวน SMEs มากกว่า 3 ล้านราย และมีการจ้างงานมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ ขณะเดียวกันแรงงานทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาทางการเงินไม่ต่างกัน โดยข้อมูลจากทีม Noboru ระบุว่าปี 2563 แรงงานไทยประสบปัญหาหนี้สินประมาณ 37.5 ล้านราย ซึ่งกิจกรรม Policy Hackathon นอกจากจะพยายามออกแบบนโยบายทางการเงินบนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินอีกด้วย จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันนโยบายทางการเงินมีแนวโน้มที่จะมุ่งผลลัพธ์โดยตรงต่อคนธรรมดาทั่วไปมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs
ในการนำเสนอของผู้เข้าแข่งขันหลายทีม จะพบว่าการให้ความรู้ทางการเงิน การสร้างความตระหนักรู้ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ไปจนถึงการหาวิธีช่วยเหลือบุคคลทั่วไปให้สามารถวางแผนทางการเงินระยะยาวได้ เป็นวิธีหลักที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนได้ ซึ่งวิธีการอาจจะแตกต่างกันไปตามแนวคิดของแต่ละทีม แต่สิ่งสำคัญคือหลายทีมมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้เสียหรือออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากการนำข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันหลายนโยบายของแต่ละทีมก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การบริการทางการเงินหรือการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างโปร่งใสและง่ายดายยิ่งขึ้น เช่น การมีช่องทางเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่มากขึ้น หรือ การทำให้สถาบันการเงินมีข้อมูลที่มากเพียงพอในการอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินได้ในอนาคต เป็นต้น
การออกแบบนโยบายในกิจกรรม Policy Hackathon ครั้งนี้ พบว่าการออกแบบนโยบายภาคการเงินเริ่มขยายวงจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบริษัทหรือกองทุนขนาดใหญ่ กระจายลงไปยังประชาชนที่เป็นลูกค้ารายย่อย ในหลากหลายกลุ่มอาชีพมากขึ้น เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ไปจนถึงพนักงานผู้มีรายได้ประจำ ซึ่งในหลายแนวคิดมองลึกไปถึงขั้นการทำให้บริการแก้ไขปัญหาทางการเงินมีศักยภาพเพียงพอในระดับบุคคล เช่น การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจับคู่กับผู้บริโภค หรือการใช้ข้อมูลรายบุคคลในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหา อย่างการนำคะแนนวินัยทางการเงินที่ถูกเก็บบนแพลตฟอร์มของทีม PH7 เป็นกลาง มาอนุมัติการขอสินเชื่อเร่งด่วน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกรรมการแล้ว พบว่าความท้าทายของการแก้ไขปัญหาหนี้ที่สำคัญคือการทำให้แพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถเข้าถึงและใช้งานจริงโดยกลุ่มเป้าหมายให้ได้ เช่น การทำให้เกษตรกรสามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และระบบบูรณาการด้วยกลศาสตร์เกมได้ เป็นต้น ขณะเดียวกันอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้คือการได้รับความร่วมมือจากนายจ้าง เรื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกหนี้และรู้ข้อมูลมากที่สุดคนหนึ่งเช่นกัน สองหัวใจสำคัญนี้คือสิ่งที่หลายทีมจะต้องนำไปทบทวนและปรับใช้มากขึ้นในอนาคต
Policy Hackathon กับทิศทางอนาคตที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
หลักการสำคัญที่ได้จากการแข่งขัน Policy Hackathon นี้ คือ การนำหลักแรงจูงใจเข้ามาประกอบกับการออกแบบนโยบาย เนื่องจากหากนโยบายมีลักษณะของการสั่งการเพียงอย่างเดียวจะไม่นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา และเมื่อไม่มีการตระหนักรู้ก็ยิ่งไม่สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างได้อย่างยั่งยืน
เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้โดยการสร้างแรงจูงใจนั้น หลายทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในกิจกรรม Policy Hackathon จึงได้นำหลัก ‘การสะกิด’ (Nudge) เข้ามาประกอบในนโยบายด้วย โดยมุ่งให้ผู้บริโภคหรือผู้เกี่ยวข้องกับภาคการเงินปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันต่อเป็นทอดๆ เช่น การออกสลากการเงินสีเขียวและเพิ่มการสนับสนุนจากกองทุนสีเขียวให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีในฐานข้อมูลว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของ SMEs รายอื่นเห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นและการสนับสนุนของกองทุนสีเขียว ก็จะยิ่งทำให้มีความต้องการที่จะเข้ามาร่วมนโยบายดังกล่าวยิ่งขึ้นต่อไป เป็นต้น
แม้ว่าจะมีผู้ร่วมแข่งขันหลายทีมที่เล็งเป้าของนโยบายไปยังการมุ่งปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มุ่งจะพัฒนาระบบโครงสร้างทางการเงินใหม่ขึ้นมา ผ่านแนวคิดการรวมฐานข้อมูลทางการเงินอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สร้างนโยบายที่เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะตอบโจทย์และทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศทางการเงินใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ผลการแข่งขัน Policy Hackathon ครั้งนี้มีผู้ชนะ ได้แก่ ทีม ‘ห้าให้’ ในหัวข้อการเงินดิจิทัล ทีม ‘5P Policy Hacker’ ในหัวข้อการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และทีม ‘3 ส’ ในหัวข้อการแก้ไขปัญหาหนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นสำคัญหลายประเด็นของกรรมการภายในงานก็มีความสำคัญต่อทิศทางการออกแบบนโยบายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ในการดำเนินโครงการสีเขียว การเก็บข้อมูลที่ต้องรัดกุมเพียงพอที่จะนำไปดำเนินงานตามนโยบาย และการหาแนวทางนำนโยบายต่างๆ ไปใช้งานให้ได้จริงกับทุกคนและทุกอาชีพ
ท้ายที่สุดนี้ ไม่ได้หมายความว่าไอเดียของอีกหลายทีมจะไม่ได้รับความสนใจ แต่แนวคิดทั้งหมดนั้นยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นสิ่งอื่นต่อไปได้ และแสดงให้เห็นถึงกระแสความตื่้นตัวทางด้านเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การใส่ใจความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น ทุกแนวคิดในกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญของการออกแบบนโยบายภาคการเงินให้ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมโดยรวมยิ่งขึ้นต่อไป