สถาบันการเงินไทยต้องก้าวไปพร้อมกัน เพื่อสร้างนโยบายสินเชื่อที่ยั่งยืน
ว่ากันในอดีต ภาคธุรกิจล้วนมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยลืมคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จนส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล อาทิ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เป็นเหตุให้ในปัจจุบันภาคธุรกิจจำเป็นต้องมี ‘ความรับผิดชอบ’ ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกในอนาคต รวมถึงสถาบันการเงินเองก็จำเป็นต้องเพิ่มความรับผิดชอบ ที่จะไม่สนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่ไม่ให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
แนวทางการบริหารความเสี่ยงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Risks ถือเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นกับภาคธุรกิจ เพราะนอกจากแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนความรับผิดชอบของภาคธุรกิจว่าจะสามารถลดหรือหยุดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างไร ยังเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจในปัจจุบันด้วย ดังสะท้อนจากการกำหนดนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) หรือนโยบายปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบของธนาคารชั้นนำทั่วโลก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มิใช่เพียงแสวงหาผลกำไรสูงสุดดังที่เคยยึดถือ
จากผลประเมินธนาคารไทยประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดทำโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand เผยแพร่สู่สาธารณะ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคะแนนโดยรวมในหลายด้านมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และหลายธนาคารมีนโยบายปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ หรือการประกาศรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (exclusion list) ที่ชัดเจนมากขึ้น Fair Finance Thailand จึงได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘Credit Policy การพัฒนานโยบายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรกำกับดูแล มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและตอบคำถามว่าด้วยงานด้านความยั่งยืนของธนาคารที่ผ่านมา รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาหรือปรับปรุงนโยบายสินเชื่อ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาสังคม ตลอดจนความเร่งด่วนในประเด็น ESG ที่ธนาคารมองไว้ในอนาคต
แนวนโยบายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน
เริ่มจาก คุณนิกร นิกรพันธุ์ ผู้จัดการ Corporate Sustainability Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการกำหนดนโยบายของธนาคารไทยพาณิชย์ว่า ในช่วง 2 ปีก่อน ทางธนาคารมีการทบทวนตนเองและจัดระเบียบภายในใหม่ เนื่องจากมองว่าความยั่งยืนที่แท้จริงจะต้องเกิดจากภายในองค์กร สิ่งที่ธนาคารทำในระยะแรกคือ วางกรอบความยั่งยืน (sustainability framework) และออกแบบรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกรอบความยั่งยืนดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของธนาคาร ซึ่งคุณนิกรเห็นว่าการดำเนินการนี้ สะท้อนได้จากผลคะแนนที่เพิ่มขึ้นด้วย
คุณนิกรตั้งข้อสังเกตต่อจุดเริ่มต้นครั้งนั้นว่า แม้การดำเนินงานดังกล่าวจะไม่ได้โดดเด่น แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งยังนำมาสู่พัฒนาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“เบื้องต้นเป้าหมายอาจไม่ได้มหัศจรรย์หรือแปลกประหลาดอะไร แต่นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้ทำอย่างชัดเจน เพื่อสื่อสารออกไปว่า sustainability agenda เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง ESG เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง และต้องผนวกเรื่องนี้เข้าไปในแนวคิดของการทำธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้อย่างเดียว นี่เป็นจุดสนใจหลักๆ ที่เราเริ่มดำเนินงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น”
แนวนโยบายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน
เริ่มจาก คุณนิกร นิกรพันธุ์ ผู้จัดการ Corporate Sustainability Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการกำหนดนโยบายของธนาคารไทยพาณิชย์ว่า ในช่วง 2 ปีก่อน ทางธนาคารมีการทบทวนตนเองและจัดระเบียบภายในใหม่ เนื่องจากมองว่าความยั่งยืนที่แท้จริงจะต้องเกิดจากภายในองค์กร สิ่งที่ธนาคารทำในระยะแรกคือ วางกรอบความยั่งยืน (sustainability framework) และออกแบบรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกรอบความยั่งยืนดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของธนาคาร ซึ่งคุณนิกรเห็นว่าการดำเนินการนี้ สะท้อนได้จากผลคะแนนที่เพิ่มขึ้นด้วย
คุณนิกรตั้งข้อสังเกตต่อจุดเริ่มต้นครั้งนั้นว่า แม้การดำเนินงานดังกล่าวจะไม่ได้โดดเด่น แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งยังนำมาสู่พัฒนาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“เบื้องต้นเป้าหมายอาจไม่ได้มหัศจรรย์หรือแปลกประหลาดอะไร แต่นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้ทำอย่างชัดเจน เพื่อสื่อสารออกไปว่า sustainability agenda เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง ESG เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง และต้องผนวกเรื่องนี้เข้าไปในแนวคิดของการทำธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้อย่างเดียว นี่เป็นจุดสนใจหลักๆ ที่เราเริ่มดำเนินงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น”
คุณกิตติ อุดมเกียรติ ผู้บริหารสายงานบริหารความเสี่ยงสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมแลกเปลี่ยนว่า การที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีบริษัทแม่เป็นธนาคาร MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) ซึ่งมีนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่คอยกำกับดูแลด้านนโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน ส่งผลให้ธนาคารมีแนวปฏิบัติ (guildline) ที่ชัดเจนตามไปด้วย โดยมีการจัดทำ checklist ซึ่งระบุรายละเอียดถึงขั้นว่า ธนาคารจะให้การสนับสนุน หรือไม่ให้การสนับสนุน หรือต้องมีความระมัดระวังในการให้การสนับสนุนสินเชื่ออย่างไรบ้าง นั่นคือแนวนโยบายที่บริษัทในเครือธนาคาร MUFG ทั่วโลกต้องปฏิบัติตาม
แม้ระยะแรกธนาคารยังมีความกังวลว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทางธนาคาร MUFG ก็แนะนำให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านความเสี่ยง ESG กับบุคลากรของธนาคารก่อน เพื่อที่พนักงานจะสามารถสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเดิมของธนาคารซึ่งมีจำนวนมาก และบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจหรือยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นความเสี่ยงดังกล่าว
ทั้งนี้ คุณกิตติยอมรับว่าช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 และน้ำท่วม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีการปฏิบัติอย่างเข้มข้น และเดินหน้าให้ความรู้แก่ Relationship Manager (RM) หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร ซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะรับมือกับลูกค้าโดยตรง เพราะหากขาดการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่อยู่ด่านหน้า นั่นหมายความว่าการสื่อสารต่อไปยังลูกค้าก็จะมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในเส้นความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้า จะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อผู้เป็นด่านหน้าคอยเชื่อมโยง สื่อสารกับลูกค้าอยู่
การให้ความรู้สามารถทำได้ด้วยการ training เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบว่า อะไรคือสิ่งที่ธนาคารจะไม่รับพิจารณา และหากรับพิจารณาจะต้องให้ความระมัดระวังในเรื่องอะไรบ้าง
นอกจากนี้ แนวทางการปฏิบัติจะเกิดความชัดเจนขึ้นได้ต้องมีการออกแบบกระบวนการและสร้างแบบฟอร์ม checklist เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้
“ประเด็นหลักเรื่อง ESG ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาดำเนินการ คือ เราพยายามกำหนดทุกอย่างให้อยู่ในนโยบายเบื้องต้น จากนั้นจึงแปรนโยบายเป็นวิธีการปฏิบัติ เราได้ออกแบบกระบวนการและแบบฟอร์ม checklist ขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเราเข้าใจ จากนั้นจะมีการ training เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเราสามารถพูดคุยและสอบถามเรื่องเหล่านี้กับลูกค้าได้”
มาถึง ดร.วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ทัศนะว่า เรื่อง ESG ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ แต่พยายามดูแลทั้งด้าน E S และ G ไปพร้อมกัน
ส่วนเรื่องการให้สินเชื่อ เสาหลักหนึ่งที่ธนาคารพยายามทำอย่างต่อเนื่อง คือ การให้สินเชื่อที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก (positive impact) กับสังคม โดยแนวทางในการพิจารณาให้สินเชื่อ ทางธนาคารได้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (exclusion list) เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการพนัน การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ การใช้ทรัพยากรมากเกินจำเป็น การค้ายาเสพติด และการก่อการร้าย
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ ดร.วิชัย เพิ่มเติมจากสองท่านแรกคือ การให้โอกาสภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านตนเอง
“ถ้ามองเรื่องเฉพาะเจาะจง (specific) อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เราคงไม่สนับสนุน หรือโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน เราก็ประกาศไปก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุม COP26 ว่าเราจะไม่สนับสนุนธุรกิจนี้ และคิดว่าธุรกิจหรือสินเชื่อที่เรามีกับโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คงหมดไปภายใน ค.ศ. 2030 แต่เราก็ให้โอกาสผู้ทำธุรกิจกลุ่มนี้ ถ้าต้องการเปลี่ยนผ่าน (transition) ตัวเอง ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง สิ่งนั้นเรายังรับพิจารณาอยู่”
ดร.วิชัย เล่าต่อว่า เมื่อผ่านตะแกรงชั้นแรกแล้ว ยังมีตะแกรงอีกชั้นหนึ่งคือการประเมิน ESG
“เมื่อผ่านตะแกรง exclusion list เราก็มีอีกตะแกรงหนึ่งคือ ESG Assessment ตอนนี้เราพยายามตั้งเป้าใหม่ จากเดิมที่เราอาจจะโฟกัสกับโปรเจ็คต์ finacne ที่มีขนาดใหญ่ ให้มาผ่านตะแกรงลักษณะนี้ ในปีที่แล้วเราก็ได้มีการขยายตะแกรงให้ลงไปในระดับ SME ที่มีขนาดใหญ่หน่อย เช่น หากมีรายได้เกิน 30 ล้าน ก็จะเริ่มมีการพิจารณา ผลจากการดำเนินนโยบายนี้ทำให้มีลูกค้าผ่านกระบวนการนี้เกิน 4 แสนล้าน
“ตะแกรงเหล่านี้ที่เราพยายามดูแลกันอยู่จะมีลักษณะสำคัญ เช่น ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม หรือมีการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามใช้เป็นตะแกรง”
แนวโน้มของนโยบายสินเชื่อในอนาคต และประเด็นเร่งด่วนในสายตาธนาคาร
เรื่องนโยบายสินเชื่อ คุณนิกรมองว่านโยบายเหล่านี้จะไม่จำกัดเพียงแค่ภายในประเทศไทย แต่ทุกธนาคารจะต้องดำเนินนโยบายไปพร้อมกันทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอ
ส่วนประเด็นเร่งด่วนที่ต้องจัดการสำหรับคุณนิกร คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่หนึ่งในความท้าทายของเรื่องนี้ คือการที่ต่างคนต่างมีความเข้าใจในรูปแบบที่ต่างกัน คุณนิกรยกตัวอย่างเรื่อง net zero ที่ก็มีความเข้าใจแตกต่างหลากหลายด้วยกัน
คุณนิกรพูดถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทำนองเดียวกับที่พูดถึงนโยบายสินเชื่อ นั่นคือการที่ทุกธนาคารจะต้องพร้อมใจเดินไปในเส้นทางเดียวกัน
“ทุกธนาคารต้องจับมือกันว่า สุดท้ายแล้วตัว end game คือเราต้องการรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลาน แม้ก่อนหน้านี้อาจไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ผมเชื่อว่า การที่ศีลธรรมเบื้องต้นของเราเสมอกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
ด้านคุณกิตติเห็นด้วยกับคุณนิกรว่า การจะทำให้เกิดนโยบายและการปฏิบัติจริงได้ ธนาคารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตัดสินใจเดินไปในเส้นทางเดียวกัน
“ไม่ว่าจะธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. หรือผู้ดูแลกำกับอื่นๆ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของประเทศ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมานั่งเจรจาพูดคุยกันอย่างชัดเจน เป็นไปไม่ได้ว่าใครจะเริ่มก่อนหรือหลัง ท้ายที่สุดเราต้องไปพร้อมๆ กัน”
ทั้งนี้ คุณกิตติพูดถึงนโยบายสินเชื่อที่จะปล่อยไปยังต่างประเทศว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังถูกกำกับด้วยนโยบายของธนาคาร MUFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะต้องดำเนินนโยบายตาม ตลอดจนต้องมีการรายงานในทุกๆ ไตรมาสด้วย
สำหรับทิศทางในอนาคต คุณกิตติคาดหวังในเบื้องต้นว่า ธนาคารจะมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้น มีเป้าหมายและแผนปฏิบัติ ซึ่งจะกระจายไปยังพนักงานที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของสินเชื่อทุกคน
“ในอนาคต เราพยายามสร้างตัวแทนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องกฎระเบียบกติกา ESG ในระดับของด่านหน้า เพราะเมื่อด่านหน้ามีปัญหา ก็สามารถปรึกษาตัวแทนเหล่านั้นได้ทันที ก่อนที่จะกระจายสู่ทีมนโยบาย (policy) นี่คือสิ่งที่เราเริ่มดำเนินการ”
อย่างไรก็ดี คุณกิตติเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่คาดหวังนั้นอาจ ‘ไม่ง่าย’
สุดท้าย ดร.วิชัย กล่าวเสริมเกี่ยวกับความท้าทายสำคัญ ณ ตอนนี้คือ การต้องตอบคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อ portfolio ของธนาคารอย่างไร หรือธนาคารจะยังสามารถเข้าไปร่วมงานกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ส่วนเรื่อง net zero นั้น ดร.วิชัย เห็นว่า สังคมไทยยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการทำให้ net zero เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีความไม่แน่นอนสูง เพราะต้องมีการคาดคะเน (forecast) ไปไกลกว่า 30-40 ปี
“ฉะนั้น หลังจากมีการประเมิน อุตสาหกรรมแรกที่ธนาคารต้องเข้าไปดูแลจัดการคือกลุ่มพลังงานไม่สะอาด เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราต้องพิจารณาว่าตัวลูกค้าเองจะยอมเปลี่ยนผ่านไปกับเราไหม นี่คือสิ่งที่ท้าทายในลำดับถัดไป”
อีกหนึ่งความท้าทายที่ ดร.วิชัย ทิ้งท้ายคือเรื่องกำแพงคาร์บอน (carbon wall) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่หลายประเทศใช้ในการจำกัดการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศที่แต่ละประเทศกำหนดมาด้วย ซึ่งในแง่หนึ่ง กำแพงคาร์บอนมีลักษณะคล้ายกับกำแพงที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ที่สามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าได้
“ในโลกทุกวันนี้มีหลายกำแพงเหลือเกิน หนึ่งในนั้นคือ carbon wall ซึ่งทั้งยุโรป อเมริกา หรือจีน ต่างก็พยายามตั้งกำแพงลักษณะนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนเกิดความตระหนัก ทั้งกับลูกค้าและกับคนในประเทศเอง ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่ๆ”
ทิศทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรกำกับดูแล
หลังจากได้ฟังมุมมองจากฝั่งธุรกิจธนาคารไปแล้วว่าการดำเนินนโยบายสินเชื่อจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งธนาคารเอง ไปจนถึงหน่วยงานกำกับดูแล มุมมองถัดจากนี้ของ คุณสุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำให้บทสนทนารอบด้านขึ้น
คุณสุรวุฒิ เริ่มแนะนำก่อนว่า ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินพยายามมองภาพรวมว่า ควรขับเคลื่อนระบบการเงินไปในทิศทางใด ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวแทนจากธนาคารทั้งสามท่านได้อธิบายไป แต่มีมุมมองที่ต่างเล็กน้อยคือ หากมองในแง่ความยั่งยืนนั้น การผลักดัน ESG อาจไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดของภาคธนาคาร โดยช่วงหลังเกิดวิกฤติโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และโรคระบาด คุณสุรวุฒิเห็นว่า สถาบันการเงินต่างก็พร้อมใจกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลกันมากขึ้น
“ปีที่ผ่านมาเราเผชิญกับวิกฤติโควิด เราเห็นความตั้งใจดีของแต่ละสถาบันการเงินในการบริการลูกหนี้ ทุกธนาคารร่วมแรงร่วมใจกันประคองลูกหนี้ ซึ่งเราได้เห็นตัวเลขต่างๆ แล้ว เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน อันนี้สะท้อนถึงมิติที่เราพยายามจะ protect ทั้งด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ลูกหนี้ และธรรมาภิบาล”
คุณสุรวุฒิเล่าต่อว่า ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ออกแนวนโยบายเรื่องของวัฒนธรรมความเสี่ยง (risk culture) ซึ่งเป็นความพยายามให้ธนาคารพาณิชย์ผนวกเรื่องการคำนึงถึงความเสี่ยงเข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะกรรมการ การสื่อสาร ไปจนถึงกระบวนการตัดสินใจต่างๆ
“สิ่งที่เรากังวลคือ อาจจะมีการมุ่งหาผลตอบแทนมากเกินไป หรือให้ผลตอบแทน หรือเซ็ต KPI (Key Performance Indicator - ดัชนีชี้วัดผลงาน) ไม่เหมาะสม”
สำหรับด้านธรรมาภิบาลนั้น คุณสุรวุฒิกล่าวว่า สามารถเห็นพัฒนาการและความตั้งใจของสถาบันการเงินทุกแห่งผ่านนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนได้จากการประเมินของ Fair Finance Thailand ที่เห็นได้ว่ามีค่าคะแนนสูงขึ้นตามลำดับ
“วิกฤติโควิดช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นความตั้งใจของสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่ช่วยประคับประคองลูกหนี้ให้ผ่านพ้นช่วงความเปราะบาง เห็นได้จากตัวเลขในการให้การช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยรักษาสภาพคล่อง หรือปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อประคับประคองให้ลูกหนี้อยู่รอดได้อย่างยั่งยื่น”
สำหรับมิติด้านความยั่งยืนและด้านสิ่งแวดล้อม คุณสุรวุฒิชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในอนาคต ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ 1) พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี 2) การเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อม
“มิติในอนาคต คือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อม อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงและเร็วกว่าที่คาดไว้ เราต้องมองว่านี่เป็นโอกาสอันดีในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและตอบสนองผู้บริโภคได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินและเทคโนโลยีได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดโฟกัสหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป
“การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เราพัฒนานวัตกรรมทางการเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตอบสนองผู้บริโภคได้เหมาะสมมากขึ้น และมีส่วนที่จะรองรับผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี คุณสุรวุฒิตั้งข้อสังเกตว่า โอกาสอันดีข้างต้นอาจเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งปัญหาใหม่ หรืออาจไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงมากกว่าเดิมได้ เช่น อาจก่อให้เกิดกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน คุณสุรวุฒิจึงเสนอว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้น มิติของนวัตกรรม มิติของการคุ้มครองผู้บริโภค และความรู้ทางการเงิน (financial literacy) จึงต้องดำเนินไปควบคู่กัน
ส่วนมิติด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามหาวิธีรับมืออยู่ โดยจะต้องรับมือ 4 มิติ ได้แก่
“มิติแรก สถาบันการเงินต้องเปิดกว้างสำหรับการพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยรวม มิติที่สอง การผนวกด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในนโยบายของสถาบันการเงิน มิติที่สาม คือผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและกลุ่มเปราะบาง และมิติสุดท้าย การกำกับสถาบันการเงินที่ไม่เพียงจะมุ่งเน้นด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่ต้องกำกับดูแลด้านความยั่งยืนของสถาบันการเงินต่อความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนถาวรต่อสถาบันการเงินและเศรษฐกิจไทยต่อไป”
ทั้งนี้ ในเรื่องของนโยบายสินเชื่อที่ธนาคารภายในประเทศอาจให้สินเชื่อออกไปยังธุรกิจต่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘ทุนข้ามพรมแดน’ ซึ่งดำเนินงานไปในทิศทางที่ขัดต่อ ESG นั้น คุณสุรวุฒิให้ความเห็นว่า
“การกำกับในระดับ cross-border นั้น กลไกการกำกับดูแลโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เรามีความร่วมมือกับเวทีนานาชาติค่อนข้างมาก เพื่อให้มั่นใจว่ากรอบนโยบายจะสอดคล้องกับระดับต่างประเทศ รวมถึงการผนวกกรอบเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทของไทย”
ส่วนทิศทางในอนาคตของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรกำกับดูแล คุณสุรวุฒิให้ทัศนะว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นทัพหน้าในการสนับสนุนให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการโดยตรง แต่องค์กรก็มีความคาดหวังที่จะสร้างระบบนิเวศของธนาคารพาณิชย์ให้มีความโปร่งใส และสามารถบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันการเงิน หรือระหว่างองค์กรกำกับดูแลในภาคอื่นๆ รวมถึงเปิดเวทีแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต่างเห็นว่า นโยบายสินเชื่อที่ยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่งคือ การต้องบรรจุให้มีการประเมินความเสี่ยง ESG อยู่ภายในนโยบายนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจกับบุคลากรภายในองค์กรก่อน โดยด้านธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการกำหนดกรอบความยั่งยืนเพื่อดำเนินงานให้ตอบรับกับเป้าหมายที่ตั้งไว้จนคืบหน้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีแล้ว
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยามีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น คือเล่าถึงกระบวนการพัฒนาบุคลากรในระดับด่านหน้าอันเป็นพื้นที่ซึ่งจะเกิดปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเสี่ยง ESG อย่างชัดเจน ทั้งยังกล่าวถึงแผนในอนาคตว่า จะมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบ ESG ให้ประจำอยู่ที่ด่านหน้า เพื่อให้คำตอบแก่พนักงานสินเชื่อได้โดยทันที ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากทีมนโยบาย ส่วนเรื่องนโยบายสินเชื่อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาย้ำว่า ได้มีการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ ESG อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแนวทางที่จำเป็นต้องกระทำตามนโยบายของธนาคาร MUFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่
ส่วนธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า มีการดำเนินงานที่เน้น ESG ในทุกด้าน โดยจะคัดกรอง 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ ขั้นแรก นโยบายของธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ธนาคารจะสนับสนุนก็ต้องไม่อยู่ใน exclusion list เมื่อผ่านขั้นนี้แล้วจึงข้ามไปดูขั้นที่สอง คือการประเมินว่าธุรกิจนั้นๆ มีความเสี่ยง ESG สูงหรือไม่
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังกล่าวว่า ธนาคารยังคงพิจารณาให้โอกาสกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง ESG สูงอยู่ หากธุรกิจนั้นต้องการเปลี่ยนผ่านตัวเองให้มีการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงลดลง
สำหรับเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับนโยบายสินเชื่อที่จำเป็นต้องจัดการในอนาคตเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้ง 3 ธนาคารเห็นพ้องกันว่า การจะดำเนินนโยบายสินเชื่อจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกๆ ธนาคาร ตลอดถึงองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือดังกล่าวยังต้องเกิดกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย อย่างที่ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยเห็นพ้องกัน
สำหรับธนาคารกสิกรไทยเห็นว่า ความท้าทายในอนาคตของธนาคารคือ การต้องตอบคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อ portfolio ของธนาคารอย่างไร และธนาคารจะช่วยให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะที่ดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เพราะมีตัวแปรมากมายที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าจะทั้งการที่ต้องคาดคะเนไปไกลถึง 30-40 ปี ตลอดจนถึงการเกิดขึ้นของกำแพงคาร์บอนซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศได้
ข้ามมาที่องค์กรกำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีการยกระดับธรรมาภิบาลกันอย่างพร้อมใจ โดยเฉพาะในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ดังที่สะท้อนในผลการประเมินของ Fair Finance Thailand
สำหรับความท้าทายในอนาคตของสถาบันการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ 1) พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี 2) การเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของสถาบันการเงินในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้ตอบสนองผู้บริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งข้อสังเกตว่า พึงระวังผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการพัฒนาดังกล่าวด้วย เนื่องจากอาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินและเทคโนโลยีได้ โดยการจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอว่า ควรต้องมีการพัฒนาในมิติของนวัตกรรม มิติของการคุ้มครองผู้บริโภค และความรู้ทางการเงิน ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน