ธนาคารไทยเริ่มใส่ใจสิทธิแรงงาน ไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงาน ปฏิเสธแรงงานทาส
“คนเราจะรวยจะจนขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้แรงงานตัวเองและแรงงานผู้อื่น ซึ่งการใช้แรงงานตนเองสนองตอบต่อความต้องการของตนเองได้อย่างจำกัด แต่ความต้องการส่วนใหญ่ของมนุษย์มักจะได้มาจากแรงงานของผู้อื่นมากกว่าเสมอ”
อดัม สมิธ
นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคลาสสิก
ประชากรกลุ่มแรงงานนับเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนสูงในสังคมไทย ในแต่ละปีหยาดเหงื่อและแรงกายของพวกเขาและเธอสามารถสร้างผลิตภาพคิดเป็น 3 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานที่ลดน้อยลงก็เริ่มเป็นโจทย์ใหญ่มากขึ้น โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และในอีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอาจสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าติดตามว่าสิทธิของคนกลุ่มนี้จะได้รับการประกันคุณภาพชีวิตมากน้อยเพียงใด ระหว่างการทำงานไปจนกระทั่งถึงวัยเกษียณ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าชีวิตพวกเขาจะไม่หนักหนาสาหัสจนเกินไป
การประกันสิทธิแรงงาน นับเป็นหนึ่งในความพยายามของนานาชาติในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในทางสากล องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) กำหนดหลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทํางาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสถาบันทางการเงิน และในรอบหลายปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินของไทยหลายแห่งตระหนักถึงปัญหานี้ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการเข้าไปโอบอุ้มคนกลุ่มนี้
ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิ การไม่ยอมรับการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ การไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก บริษัทมีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี ฯลฯ คุณค่าเหล่านี้เริ่มปรากฏในธนาคารหลายแห่ง โดยผลการประเมินธนาคารพาณิชย์ไทยตามมาตรฐานแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ช่วงปี 2561-2563 พบทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะยังไม่โดดเด่นเท่ากับหัวข้อการประเมินอื่นๆ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน หรือการขายบริการทางการเงิน โดยในช่วง 1-2 ปีหลัง พบทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
2561: ก้าวย่างแรกของ 3 ธนาคาร
ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเริ่มประเมิน พบว่า ในหัวข้อสิทธิแรงงาน ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทย ได้คะแนน 1 ข้อ จาก 14 ข้อ ในประเด็นเดียวกันคือ ทั้งสองธนาคารประกาศนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่อ้างอิงคําประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) อาทิ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีแนวทางการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานในเรื่อง เพศ อายุ สัญชาติ ไม่ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้โดยไม่มีการปิดกั้น กรณีนี้เช่นนี้บ่งชี้ว่าธนาคารทั้ง 2 แห่ง ตระหนักถึงหลักการนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าร่วมการประเมินกับแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติอยู่ก่อนแล้ว
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ได้รับคะแนนการประเมินสูงที่สุดในปีแรก ตามเกณฑ์ Fair Finance Guide International 12 หมวด ด้วยคะแนน 17.5 เปอร์เซ็นต์ โดยได้คะแนนในหมวดสิทธิแรงงาน 2 ข้อ จาก 14 ข้อ ในประเด็นที่ธนาคารจะไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาสในธุรกิจของลูกค้าธนาคาร อีกทั้งธนาคารยังประกาศว่า มีนโยบายเครดิตที่กำหนดประเภทเครดิตและผู้ขอเครดิตที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุน ได้แก่ เครดิตที่ผู้ขอเครดิตมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานทาส และแรงงานเด็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่านโยบายของธนาคารกสิกรไทยยังสัมพันธ์และคำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารด้วย
2562: ธนาคารให้ความตระหนักต่อสิทธิแรงงานเพิ่มเป็น 6 แห่ง
จากปีแรกเข้าสู่ปีที่ 2 ของการประเมิน พบว่า สิทธิแรงงานได้รับการยอมรับมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของธนาคารจาก 3 เป็น 6 แห่ง ที่ได้รับคะแนนการประเมินด้านสิทธิแรงงาน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย รวม 6 แห่ง ซึ่งได้คะแนนจากการประกาศนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่อ้างอิงคําประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทํางาน อาทิ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีแนวทางการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานในเรื่อง เพศ อายุ สัญชาติ ไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้โดยไม่มีการปิดกั้น
ขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนนจากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาสในธุรกิจของลูกค้าธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยได้คะแนนเพิ่มเติมจากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่สนับสนุนทางการเงินหรือบริการแก่ลูกค้าที่มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เคารพหรือละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งรวมถึงการไม่คุ้มครอง ‘สภาพพื้นที่ทํางานที่ดีและปลอดภัย’
กรณีนี้น่าสนใจว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการประเมินในหมวดนี้อย่างมาก และยังมีการขยายเนื้อหาของสิทธิแรงงานให้ครอบคลุมไปถึงสภาพพื้นที่การทำงานที่ดีและปลอดภัยด้วย เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารทหารไทย ซึ่งยังคงรักษามาตรฐานไว้ได้ต่อไป
2563: หลายธนาคารยกระดับ ‘สิทธิ’ อย่างมีนัยสำคัญ
ในปีที่ 3 หากไม่รวมคะแนนของธนาคารทหารไทยซึ่งเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในหลายหมวด พบว่า หมวดที่ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ได้คะแนนเพิ่มมากที่สุด 2 หมวดแรก คือ สิทธิมนุษยชน (เพิ่ม 178.6 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2562) และสิทธิแรงงาน (เพิ่ม 83.3 เปอร์เซ็นต์) ถึงแม้คะแนนโดยรวมจะยังไม่สูงมากนัก แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของคะแนนก็สะท้อนว่า ธนาคารโดยรวมให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากขึ้น
โดยเฉพาะการเคารพคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน และหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่ว่าธนาคารแทบทุกแห่งได้คะแนนใน 2 หมวดนี้ มาจากคะแนนในหัวข้อพื้นฐานที่สุด นั่นคือ การประกาศรับหลักการ ILO และหลักการชี้แนะ UNGPs ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะการจัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตามชุดหลักการดังกล่าว
ในผลการประเมินปีนี้ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวม 7 แห่ง ได้คะแนนจากการประกาศนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่อ้างอิงคำประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน เช่น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีแนวทางการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานในเรื่องเพศ อายุ สัญชาติ ไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้โดยไม่มีการปิดกั้น
นอกจากนี้ ยังมี 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนนเพิ่มเติมจากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาสในธุรกิจของลูกค้าธนาคาร
ขณะเดียวกัน ธนาคารทหารไทยยังได้คะแนนเพิ่มเติมจากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่สนับสนุนทางการเงินหรือบริการแก่ลูกค้าที่มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เคารพหรือละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งรวมถึงการไม่คุ้มครอง ‘สภาพการทำงานที่ดีและปลอดภัย’ บริษัทลูกค้าจะรับประกันได้ว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และมีสภาพการทำงานที่เท่าเทียมกับลูกจ้างคนอื่นๆ และบริษัทลูกค้ารับรองสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง
ก้าวต่อไปของสิทธิแรงงาน ภายใต้ความมุ่งมั่นของธนาคารไทย
จากที่กล่าวมา เกณฑ์ในหมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิแรงงาน สอดคล้องกับคำประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน นอกจากนี้เกณฑ์การประเมินยังครอบคลุมนโยบายด้านสิทธิแรงงานของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารด้วย
มองในภาพรวม ธนาคารทหารไทยได้คะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชน ธรรมชาติ และสิทธิแรงงาน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ 3 หมวดนี้กลายเป็นหมวดที่ธนาคารโดยรวมได้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มสูงที่สุด ทั้งนี้ หากไม่รวมคะแนนของธนาคารทหารไทยใน 3 หมวดนี้ พบว่า หมวดที่ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้คะแนนเพิ่มมากที่สุด 3 หมวดแรก ได้แก่ สิทธิมนุษยชน (เพิ่ม 178.6 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2562) สิทธิแรงงาน (เพิ่ม 83.3 เปอร์เซ็นต์) และนโยบายค่าตอบแทน (เพิ่ม 54.7 เปอร์เซ็นต์)
ธนาคารทหารไทยได้คะแนนมากกว่าธนาคารอื่น จากการระบุว่า ธนาคารจะไม่สนับสนุนทางการเงินหรือบริการแก่ลูกค้าที่มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เคารพ/ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หรือมีหลักฐานที่แสดงถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งระบุต่อไปว่า แรงงานในธุรกิจของลูกค้า “ต้องได้รับโอกาส ค่าแรง และผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ”