สถาบันการเงินในฝัน ต้องมีจรรยาบรรณ ไม่ใช้ช่องโหว่ทางภาษี
ในขณะที่ภาษีมีความเกี่ยวโยงกับความเป็นธรรมและการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี หนึ่งในกลไกที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บภาษีได้ทั่วถึงมากขึ้นคือ นโยบายของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้กำหนดเกณฑ์การประเมินธนาคารในหัวข้อ ‘ภาษี’ โดยเล็งเห็นว่าบทบาทของสถาบันการเงินมีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของธนาคารเองและองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ประกอบด้วยเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งมุ่งไปที่ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลอันจะส่งผลต่อการเสียภาษี และการกำหนดนโยบายที่จะไม่นำไปสู่การหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี
พัฒนาการด้านความเป็นธรรมทางการเงินในหัวข้อภาษี สามารถพิจารณาได้จากผลการประเมินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561-2563 เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินการของธนาคารด้านภาษีในอนาคต ซึ่งการสร้างความตระหนักในการจ่ายภาษีจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งธนาคาร ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
2561: กสิกรไทย มีนโยบายจรรยาบรรณด้านภาษี
ผลการประเมินในปีแรกพบว่า ธนาคารที่ได้คะแนนการประเมินด้านภาษีคือ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้คะแนน 1 ข้อ จาก 17 ข้อ จากการที่สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี โดยธนาคารได้ระบุในจรรยาบรรณด้านภาษีว่า ธนาคารจะชำระภาษีอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ธนาคารกสิกรไทยยังมีกรอบการควบคุมด้านภาษี (tax control framework) ซึ่งเป็นแนวทางระดับโลกที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบด้านภาษีอย่างชัดเจน ในขณะที่อีก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ และธนาคารธนชาต ได้คะแนน 1 ข้อ คือ สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์รวมในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม โดยธนาคารทิสโก้และธนาคารธนชาตมีการให้บริการเฉพาะในประเทศไทย ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสาขาอยู่ในประเทศลาวอีก 2 สาขา
เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินหมวดภาษีกับหมวดอื่นๆ พบว่า หมวดภาษีไม่ได้อยู่ในหมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก และไม่ได้อยู่หมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด 5 อันดับ ซึ่งน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน โดยหมวดภาษีได้คะแนนเฉลี่ย 2.74 เปอร์เซ็นต์
2562: ความเป็นธรรมทางภาษีได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น
ผลการประเมินในปีที่ 2 โดยรวมแล้วหมวดภาษีเป็นหมวดที่ธนาคารโดยเฉลี่ยจากทั้งหมด 9 แห่ง ได้คะแนนเพิ่มมากที่สุดรองจากหมวดอาวุธ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 0.60 คะแนน (เต็ม 10 คะแนน) โดยธนาคารที่ได้คะแนน ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ได้คะแนนจาก 2 หัวข้อย่อย และเป็นธนาคารเดียวที่เปิดเผยข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร และจำนวนภาษีที่จ่ายให้ภาครัฐจากภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลอัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และแจกแจงข้อมูลเหล่านี้รายสาขาในต่างประเทศทั้งหมด
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ยังคงได้คะแนน 1 ข้อ จากการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์รวมในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ โดยรายงานสอดคล้องกับงบการเงินรวม เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย ยังคงเป็นธนาคารเดียวที่ได้คะแนนในหัวข้อที่ว่า สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี ตามกรอบนโยบายที่คงเดิมจากปีแรก
2563: ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประเมิน ประเมินธนาคารเพิ่มขึ้น แต่หมวดภาษีก้าวหน้าน้อยไป
ผลการประเมินในปีที่ 3 ปรากฏว่า ผลรวมของการประเมินธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง (ธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการควบรวมกับธนาคารทหารไทย) ทุกหมวดมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ยกเว้นหมวดภาษี อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่มีการประเมินสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จึงมีการยกเว้นบางหมวดในการให้คะแนนซึ่งส่งผลต่อคะแนนอย่างมีนัยสำคัญ
ธนาคารทหารไทยยังคงเป็นธนาคารเดียวที่ได้คะแนนจาก 2 หัวข้อย่อย เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลดั้งเดิม ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นธนาคารที่ได้คะแนนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าธนาคารอื่น แม้จะได้คะแนนดิบเท่ากันกับสถาบันเฉพาะกิจอีก 3 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ เนื่องจากธนาคารไม่มีการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ การกำหนดนโยบายสำหรับบริษัทลูกค้าจึงไม่ได้ใช้เกณฑ์ด้านภาษีในการประเมินนโยบายธนาคาร ส่งผลให้คะแนนเต็มต่ำกว่าธนาคารอื่น
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้คะแนนจากการเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์รวมในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ แต่ทุกธนาคารดังกล่าวล้วนไม่มีสาขาอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้คะแนนจากการไม่มีบริษัทในเครือ สาขา หรือบริษัทร่วมลงทุนใดๆ ในเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ที่ไม่มีภาษีเงินได้หรือเก็บภาษีเงินได้ในอัตรา 0 เปอร์เซ็นต์
ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารเกียรตินาคินภัทรเป็นธนาคารเพียง 2 แห่งที่ได้คะแนนจากการไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศซี่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี โดยธนาคารกสิกรไทยใช้กรอบการควบคุมด้านภาษี ในขณะที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทรประกาศอย่างชัดเจนว่า มีนโยบายไม่ใช้โครงสร้างทางภาษี การวางแผนดำเนินงานที่ซับซ้อน และช่องว่างทางกฎหมายใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ
โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า การประเมินการเงินที่เป็นธรรมในหมวดภาษีค่อนข้างมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า จากปีแรกที่มีคะแนนเฉลี่ย 0.27 คะแนน ปีต่อมามีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 0.60 คะแนน และในปีล่าสุดคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.90 คะแนน อย่างไรก็ตาม คะแนนดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างความตระหนักให้ธนาคารคำนึงถึงการพัฒนานโยบายด้านภาษีต่อไป