สมพร เพ็งค่ำ: หยุดโครงการละเมิดสิทธิ ด้วยมือของประชาชน เราไม่สนับสนุนสถาบันการเงินที่ไม่สนชีวิตใคร

09 สิงหาคม 2564

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

โครงการเหมืองแร่ โปแตช ที่จังหวัดอุดรธานี 

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ไทย-ลาว ที่ตั้งในประเทศลาว 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จังหวัดระยอง

และอีกหลายโครงการที่ล้วนสร้างผลกระทบทั้งดีและร้ายให้กับชาวบ้าน คนท้องถิ่น หรือแม้แต่ประชาชนอย่างเราๆ

สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยอิสระ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมายาวนานกว่า 20 ปี และทำงานด้านการลงทุนข้ามพรมแดนราว 4 ปี ชี้ให้เห็นว่าเมื่อการลงทุนเกิด ผลกระทบจึงไม่ใช่เพียงแค่มลพิษและสิ่งแวดล้อม ทว่ากลับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิของคนในพื้นที่ ที่คนทั่วไปก็อาจกำลังมีส่วนสนับสนุนให้เกิดปัญหาต่างๆ เหล่านี้กับพวกเขาด้วย

“ถ้ามองมุมภาคการเงิน เราทำธุรกรรมกับธนาคาร เงินก็หมุนเวียนกับธนาคาร ภาคการเงิน เอาเงินเราไปลงทุนกับโครงการที่มีความเสี่ยงมากๆ ความเสี่ยงอาจไม่ใช่เชิงเม็ดเงินที่ขาดทุน แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชน มันก็มีผลกับเราในฐานะที่เป็นคนฝากเงิน มันคือผลกระทบทางอ้อม มันคือมุมความชอบธรรมในฐานะที่เราเป็นเจ้าของเงิน เราควรมีสิทธิในการกำกับว่าธนาคารเอาเงินเราไปลงทุนอย่างไร” 

บทสนทนาถัดจากนี้เป็นการพูดคุยถึงปัญหาที่ชาวบ้านได้รับ จากการลงทุนของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ผลกระทบไม่ได้ตกอยู่เพียงชาวบ้าน แต่รวมถึงลูกค้าธนาคารอย่างเราๆ ที่อาจกลายเป็นกองหนุนสำคัญของเงินทุนที่ไม่เป็นธรรม

การเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ สร้างวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในพื้นที่

“การเข้ามาของโรงงานหนึ่งๆ ไม่ได้แค่ทำให้สิ่งแวดล้อมหรือฐานทรัพยากรที่เปลี่ยนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตของคนละแวกนั้นด้วย”

สมพร เพ็งค่ำ หยิบกรณีศึกษาของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ไทย-ลาว มาอธิบายข้อความข้างต้น

โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในเมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เข้าไปถือหุ้นในลาว โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่สองรายจากไทยคือ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 

สมพร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ความกังวลแรกๆ ของคนทั่วไปที่นึกถึงคือ มลพิษทางอากาศ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือโครงสร้างพื้นฐานอย่างเส้นทางคมนาคม

“การขยายถนน คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องขนเครื่องจักรไปสร้างโรงไฟฟ้าหงสา ถนนที่ขยายขึ้นทำให้คนแก่ที่บ้านอยู่ฝั่งนี้ วัดอยู่ฝั่งนู้น ที่แต่ก่อนแค่ปั่นจักรยานไปได้ แต่พอมีโรงงานปรากฏว่ามีรถพ่วงใหญ่มหึมาขับมาอย่างเร็วเพื่อไปให้ทันเวลา พอเป็นอย่างนี้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ อุบัติเหตุที่สูงลิ่ว เมื่อพื้นที่เปลี่ยนไป ชีวิตคนก็เปลี่ยนไปมัน มันเกิดสภาพแวดล้อมแบบนี้ขึ้น”

อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือการเกิดกลุ่มสองกลุ่ม นั่นคือกลุ่มที่ได้รับผลเสียและกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนมากผู้ที่ได้รับผลเสียก็คือชาวบ้านและคนในพื้นที่ ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นจากการพัฒนา 

“เมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ไปสนับสนุนโรงไฟฟ้ามันเปลี่ยน เช่น ภูมิทัศน์ เศรษฐกิจ สังคมของคนไทยและลาวบริเวณนั้น ทำให้มีกลุ่มที่มองโอกาสด้านการค้าระหว่างประเทศเข้าไปใช้โอกาสนี้ เช่น การส่งออกเนื้อสัตว์ ที่แม้ชาวบ้านในจังหวัดน่านจะมีฟาร์มเลี้ยงหมู แต่ก็ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปยังฝั่งลาวได้ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาต เพราะภาครัฐไม่มีการเตรียมความพร้อมให้พวกเขา โอกาสนี้เลยไปอยู่กับฟาร์มขนาดใหญ่ที่มาจากจังหวัดอื่น โดยที่คนท้องถิ่นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ดังนั้นถ้าไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี คนท้องถิ่นก็จะตกเป็นเหยื่อจากการพัฒนานี้”

“การเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นแค่พิธีกรรมและวาทกรรม”

จากตัวอย่างปัญหาข้างต้น สมพรมองว่าเหตุผลของปัญหาเหล่านี้ เป็นผลจากการไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชาวบ้าน 

“ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นระบบแบบ top-down ถ้ามองในมุมคนท้องถิ่น พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ใครจะทำอะไร หรือนโยบายพัฒนาพื้นที่เขาเป็นแบบไหน คนท้องถิ่นจะจินตนาการถึงการพัฒนาพื้นที่ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองอีกแบบหนึ่ง แต่เขาไม่เคยเห็นภาพใหญ่ ซึ่งคนที่เห็นภาพใหญ่ คือนักลงทุน”

ปัญหาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบาย หรือตัวโครงการเอง สมพรกล่าวว่าชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงในส่วนนี้น้อยมาก แม้ว่าทางกฎหมายจะอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการหนึ่งๆ ได้ ทว่านั่นเป็นเพียงพิธีกรรมและวาทกรรมมากกว่า

“การเข้าถึงข้อมูลจำกัดมาก เขาไม่รู้ว่ายกประเด็นข้อกังวลของเขาไปแล้ว มันไปมีส่วนสำคัญในการประเมินผลกระทบและมีส่วนตัดสินใจ ว่าตกลงแล้วมันควรอนุญาตหรือไม่อย่างไร มันมีแค่เข้าไปนั่งฟัง เสนอความคิดเห็น แต่เขาไม่ได้มีอำนาจเลยว่าตกลงแล้วคุณต้องรับข้อมูลนั้นเพื่อเอาไปประเมินอย่างตรงไปตรงมา เพราะสุดท้ายคนที่มีอำนาจคือ เจ้าของโครงการ 

“ถามว่ากระบวนการทั้งหมดคนท้องถิ่นมีอำนาจตรงไหน ไม่มีเลย มันควรหยิบยกข้อกังวลของชาวบ้านไป แต่ทางปฏิบัติเป็นแค่พิธีกรรมและวาทกรรมว่าให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว ตัวกฎหมายหลายฉบับก็เขียนไว้ว่าชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ตามมาตรานู่นนี่ แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากพอ ที่จะทำให้การตัดสินใจคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เคารพสิทธิของชาวบ้าน หรือคนท้องถิ่นจริงๆ”

เชิงนโยบายก็ไม่มีส่วนร่วม เชิงตัวโครงการก็ไม่มีส่วนร่วม เชิงการช่วยเหลือและเยียวยาก็เช่นกัน

จากตัวอย่างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สมพรให้ข้อมูลว่า รัฐบาล สปป.ลาว มีข้อกำหนดย้ายหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน และกำหนดให้บริษัทเจ้าของโครงการจัดหาที่ดินแห่งใหม่ โดยต้องสร้างบ้าน หาอาหารให้ 3 มื้อในปีแรก และต้องส่งเสริมอาชีพหาที่ทำกินให้ชาวบ้านจนกว่าจะปรับตัวได้ 

“รัฐบาลลาวพยายามเรียกร้องการดูแลคนเขาดีมาก บริษัทต้องทำตาม แต่ด้วยการปกครองของลาว อาจมีชาวบ้านบางส่วนแฮปปี้และไม่แฮปปี้ เพราะต้องปรับตัวเยอะ แต่เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ ย้ายต้องย้าย ซึ่งถามว่าบริษัททำเพราะหลักสิทธิมนุษยชนหรือเพราะอยากทำไหม ก็ไม่ ชาวบ้านหรือคนท้องถิ่นสามารถลุกขึ้นมาต่อรองเองได้ไหม ก็ไม่ ต้องเป็นรัฐ

“พอพูดถึงการเยียวยามันจึงไม่ใช่แค่บอกให้เงินเท่าไหร่ถึงจะพอ แต่หมายถึงการที่คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมออกแบบ ตัดสินใจ และรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือแฟร์กับคนท้องถิ่นจริงๆ มากกว่า”

ประโยคข้างต้นจึงเป็นการชี้ให้เห็นภาพของการไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านและคนท้องถิ่น ที่แม้แต่การเยียวยาก็เป็นเพียงสิ่งที่รัฐจัดหาและกำหนดให้ ไม่ใช่ความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง

สร้างเครื่องมือเสริมความรู้ให้ชาวบ้านเพื่อกำกับภาคธุรกิจ

เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น สมพรเห็นว่า HIA (Health Impact Assessment หรือ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ) จะเป็นตัวช่วยสร้างพลังให้ภาคประชาชนกำกับภาคธุรกิจได้ จากการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพด้วยตัวเอง 

โดยเธอกล่าวว่า ระดับโลกมีกลุ่ม International Association for Impact Assessment หรือ สมาคมระหว่างประเทศของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบซึ่งรวมถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสนอการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ให้กับภาคการเงิน เพื่อเป็นแนวทางในพิจารณาอนุมัติเงินกู้หรือเงินลงทุน โดยธนาคารโลก (World Bank) และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) นำไปใช้ก่อน

ต่อมาในภายหลังธนาคารเอกชนหลายแห่งได้นำไปใช้เช่นเดียวกัน เพราะเกิดข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมจากผลกระทบที่มากขึ้น เช่นการฟ้องศาล จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจน และแรงกดดันจากภาควิชาการและประชาชน ทำให้สมาคมธนาคารต้องรับหลักการนี้ไปใช้

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น สมพรหยิบยกตัวอย่างเหตุการณ์ในปี 2550 โดยรัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายขยายปิโตรเคมีระยะ 3 ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ภาคประชาชนตื่นตัวและคัดค้านนโยบายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการทำกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 วรรคสอง[1] ทำให้ชาวบ้านที่มาบตาพุดฟ้องสำเร็จ จนรัฐบาลชะลอการขยายออกไป 

“ก่อนหน้าปี 2550 เรามักไม่เห็นบทบาทของธนาคารเท่าไหร่ แต่จุดเปลี่ยนคือปี 2550 ที่โครงการไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะศาลสั่งให้ชะลอก่อน คนเดือดร้อนคือธนาคาร ซึ่งจุดนั้นทำให้ธนาคารระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน ซึ่งตอนนั้นไทยยังไม่มีแนวทางอะไรเลย จึงทำให้เกิดการชะลอ เพื่อร่างหลักเกณฑ์ EHIA (Environmental Health Impact Assessment หรือ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ) ในไทยตามรัฐธรรมนูญ สุดท้ายเมื่อหลักเกณฑ์ออก โรงงานที่แขวนไว้ก่อนก็ได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามหลักนั้น 

“ภาคธุรกิจเองส่วนหนึ่งโดยธรรมชาติแล้วเขาก็หวังกำไรของการทำธุรกิจ แต่ตอนนี้ภาคธุรกิจอาจจะคิดเยอะขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน ถ้ารู้สึกว่าลงทุนไปแล้วคนประท้วง มาฟ้องร้อง ต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยา พอหักลบกลบหนี้อาจไม่คุ้ม ดังนั้นเขาก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ลดข้อร้องเรียน ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ และให้ความรู้สึกว่าแฟร์ ไม่ได้ไปเอาเปรียบใครมากเกินไป อาจทำให้เขาอยู่ได้และยั่งยืน”

จากเหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคการลงทุน และภาคการเงินด้วย เช่นเดียวกับกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล จำกัด ในเครือดับเบิ้ลเอ และ บริษัท ซีเอ็มเอส จากประเทศสหรัฐอเมริกา (CMS Co.ltd., from U.S.A) ที่เธอได้แนะนำชาวบ้านใช้แนวทาง CHIA (Community Health Impact Assessment หรือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวพวกเขาเองซึ่งจะแสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน) เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการพิจารณา HIA ของโรงไฟฟ้า จนโครงการต้องชะลอตัวในปี 2550

แม้ว่าหลายๆ โครงการจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการต่อ แต่สมพรเห็นว่าการให้เครื่องมือ ความรู้และความช่วยเหลือชาวบ้าน จะเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะยาว เพราะหากพวกเขาเกิดการเรียนรู้ ทั้งกฎหมาย วิธีการใช้ข้อมูล เข้าใจถึงผลกระทบที่เจอ และประเมินผลกระทบต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยกำกับทั้งภาคเอกชนและภาคการเงินได้เป็นอย่างดี

“การสร้างกระบวนการเรียนรู้กับชาวบ้านในฐานะที่เขาเป็น stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ถ้ามีผลสำเร็จเกิดขึ้นชาวบ้านที่เจอปัญหาคล้ายกันก็จะมีแบบอย่าง จะเกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ให้ภาคการเงินและบริษัทตื่นตัว ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะทำให้ชาวบ้านเก่งขึ้น รู้การใช้เครื่องมือกำกับภาคการเงิน ส่งผลให้ภาคการเงินต้องเรียนรู้กันและกันมากขึ้น เพื่อสร้างกลไกมาตรวจสอบโครงการที่จะมากู้เงินกับเขา”

ภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน ไม่สนับสนุนสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้อย่างไม่เป็นธรรม 

นอกจากการตื่นตัวของชาวบ้านและคนท้องถิ่นแล้ว ประชาชนอย่างเราๆ สมพรมองว่าภาคประชาชนต้องตื่นตัวและให้ความสนใจกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มฐานในการร่วมมือกำกับภาคธุรกิจให้กว้างขึ้น

“ถามว่าธนาคารมีรายได้จากไหนก็เงินฝาก เขาเอาเงินที่ประชาชนฝากไปลงทุน เพื่อเอาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้เรา พอลงทุนเขาก็มีโครงการใหญ่ๆ เมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ และคิดว่าจะมีรายได้จากการให้กู้ไปลงทุน และมีดอกเบี้ยมาจ่ายให้เรา ถ้าเกิดธนาคารไม่ประเมินให้ดีก็เป็นความเสี่ยง

“บางทีที่ดินแปลงข้างบ้านเราจะทำอะไร รู้อีกทีลงเสาเข็มแล้ว แล้วค่อยไปโวยวาย แต่เงินกู้ต่างๆ ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึง ธรรมาภิบาล (governance) การสร้างความแฟร์ ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบให้เยอะขึ้น ปล่อยให้กลไกรัฐหรือธนาคารจัดการกันเพียงลำพังไม่ได้”

ด้วยยุคสมัยที่การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น และการได้รับความช่วยเหลือที่มากขึ้นจากตัวธนาคารเอง เช่น หากธนาคารอนุมัติเงินลงทุนแล้ว มีการดำเนินการแล้ว ประชาชนก็ยังสามารถร้องเรียนธนาคารผู้ปล่อยกู้ เพื่อดำเนินการกับบริษัทหรือเจ้าของโครงการผู้กู้เงินได้ 

“เดิมเวลามีปัญหาคู่กรณีมักเป็นตัวโรงงาน หรือบริษัทนั้นๆ ตอนหลังชาวบ้านเพิ่มระดับไม่ทะเลาะกับโรงงานแต่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน เขาเริ่มเรียนรู้กฎหมาย สิทธิมากขึ้น และรู้ว่าหน่วยงานอนุญาตคือใครบ้าง ดังนั้นภาคประชาชนก็เช็คได้เลยว่าบริษัทไหนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์บ้าง กู้จากไหน ลงทุนเท่าไหร่ ถ้าเกิดปัญหากระทบสิทธิมนุษยชน ถ้าเกิดชาวบ้านทำข้อมูลหลักฐานร้องเรียนธนาคารก็ให้ธนาคารจัดการได้

“เขาจะเริ่มเรียนรู้เครื่องมือกำกับภาคการเงินที่อนุมัติเงินกู้โครงการ ทำให้ภาคการเงินกลั่นกรองโครงการมากขึ้น ว่าจริงๆ เราไม่ได้บอกให้หยุดพัฒนาทุกอย่าง แต่กลั่นกรองโครงการพัฒนาที่แฟร์กับทุกฝ่าย และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไม่ต้องการโครงการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำต่างๆ ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญมาก”

สมพรเชื่อมั่นว่าหากอนาคตภาคประชาชนช่วยกันใช้กลไกและเครื่องมือกำกับภาคธุรกิจมากขึ้น จะนำไปสู่การลงทุนที่เคารพและลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ผ่านการร้องเรียนเจ้าหนี้โดยตรง

“การตื่นตัวของภาคประชาชนและการสร้าง social movement เพราะถ้าภาคประชาชนไม่เปลี่ยนเขาต้องเจออะไรบ้าง เขาจึงต้องตื่นตัว และเรียกร้อง ถ้าภาคประชาชนมีการตื่นตัวและขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็ง ก็จะเข้าไปกำกับภาคธุรกิจได้”

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีโครงการไหนที่สมพรเห็นว่ามีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมจากการยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องพัฒนาการของหลักการและหลักคิด เธอกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เคลื่อนมาในทิศทางที่น่าพึงพอใจ 

กรณีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในปี 2516 เพื่อนำมาพัฒนาเป็นปิโตรเลียม คือกรณีที่ขยายภาพได้ชัดว่าชาวบ้านมีความเข้าใจถึงผลกระทบด้านลบที่พวกเขาได้รับ

“ตอนที่จะทำตอนนั้นถ้าคุยกับชาวบ้านในยุคบุกเบิก เขายินดีสละที่ให้เพราะเขามองว่าการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่แบบนี้ จะช่วยให้ประเทศดีขึ้น เขาเชื่อว่ารัฐจะกำกับดูแลเป็นอย่างดี มีความเชื่อมั่นในรัฐและช่วยประเทศในภาพรวม แม้จะไม่ได้รับการชดเชยก็ยอมสละ แต่ในยุคปัจจุบัน เขาไม่ยอมแล้ว ต่อให้เอาเงินมากี่ล้านก็ไม่พอ เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าที่ผ่านมารัฐไม่เคยดูแลเขา และเอกชนเอาเปรียบเขาตลอดเวลาที่มีปัญหา”

ดังนั้นเมื่อชาวบ้านขยับตัวเรียกร้อง ประชาชนทั่วไปที่เป็นเจ้าของเงิน จึงต้องร่วมมือกันสร้างความชอบธรรมให้เม็ดเงินที่ลงทุนนั้นแฟร์กับทุกฝ่ายด้วย

“เวลามีการสร้างโครงการขึ้น เราไม่ได้บอกว่าต้องหยุดการพัฒนา ไม่ใช่ โลกมีวิวัฒนาการของมัน แต่เราต้องการให้แฟร์กับทุกฝ่าย ไม่ใช่คนท้องถิ่นไม่รู้อะไร ก็กดหัวไว้เอามาเป็นแรงงานราคาถูก และมีกลุ่มหนึ่งที่มาเอาประโยชน์ไป เราต้องมองถึงความเท่าเทียม ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม และการมีเสรีภาพที่จะเลือกมีชีวิต เขาควรมีสิทธิในการเลือกว่าอยากมีชีวิตแบบไหน ไม่ใช่ลูกชาวนาต้องทำนาไปตลอด คนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธ์ุก็ต้องใส่ชุดชาติพันธุ์อยู่แบบนั้น มันไม่ใช่ ท้องถิ่นต้องรับรู้ข้อมูลทุกด้านแล้วตัดสินใจเองว่าอยากอยู่ อยากเป็นแบบไหน โดยมีสิทธิร่วมตัดสินใจในฐานะ stakeholder คนหนึ่งอย่างเท่าเทียม” 


[1]มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643362