เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร: ระบบสหกรณ์คือทางออกที่เป็นธรรมของแรงงานแพลตฟอร์ม

26 กรกฎาคม 2564

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท โลกจึงขยับตัวไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ผ่านมา เรามองเห็นอาชีพเกิดใหม่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์มนุษย์แทบจะทุกมิติ หากมองอย่างผิวเผินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี 

ทว่าระบบเศรษฐกิจและรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป กลับมีข้อน่ากังวลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่โลกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาด ซ้ำร้ายกว่านั้นอาชีพที่จำเป็นต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มเทคโนโลยี แต่ยังอยู่ในวังวนของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับต้นของโลกอย่างประเทศไทย เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอาจไม่ใช่ความหวังและความฝันของแรงงาน

เราคุยกับ ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการบริหารสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute: JELI) ถึงช่องว่างและความเว้าแหว่ง โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรมของกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มใหม่ รวมถึงแรงงานในกลุ่มที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ 

เมื่อโลกเจอกับโควิด-19 สภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไทย รวมถึงแรงงานทั่วโลก เราเห็นเรื่องราวอะไรบ้าง 

ผมไปๆ กลับๆ สหรัฐอเมริกากับเมืองไทย ทำให้มองเห็นลักษณะเชิงเปรียบเทียบของทั้งสองที่ นั่นคือในภาพกว้างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในหลายมิติมากขึ้น เช่น มิติของประเทศซึ่งสามารถเข้าถึงวัคซีน มิติของการออกแบบมาตรการสนับสนุนให้กับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือที่สุด 

ในสหรัฐมีมาตรการเยียวยาที่ดีมาก และยังมีตัวอย่างอีกในหลายประเทศที่เรามองเห็นมาตรการเยียวยาที่ใช้ได้จริง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะของการช่วยเหลือกับพี่น้องแรงงานโดยตรงและมัน sensitive ต่อความต้องการของประชากร รวมถึงมาตรการและความช่วยเหลือต่างๆ ยังตอบโจทย์ของคนลึกลงในระดับของครอบครัวอีกด้วย 

เราเห็นระบบที่ทำทั้งผ่านการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการเคลื่อนย้ายที่ และการทำงานเชิงเอกสาร ทำให้เราทราบปัญหาในระดับเล็กที่สุด เช่น เมื่อคนได้รับผลกระทบในช่วงโควิดจะต้องอยู่บ้านมากขึ้น ต้องทำงานที่บ้าน สำหรับผู้หญิงอาจจะมีประเด็นเรื่องของการถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว นำไปสู่การออกแบบช่วยเหลือ โควิด-19 สะท้อนให้เห็นเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะกฎระเบียบ กฎเกณฑ์โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพ 

แน่นอนว่าในทุกประเทศมันก็มีปัญหาที่เหมือนและต่างกันไป แต่ทำไมสวัสดิการการว่างงาน หรือว่าสวัสดิการการประกันสุขภาพจึงไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าเรามองในภาพกว้างด้านการพัฒนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทบทวนโครงสร้าง กฎเกณฑ์ และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและการทำงานของเรา เพราะช่วงการระบาดของโควิด-19 ช่วยเตือนให้เราได้ทบทวนโครงสร้างของเราที่อาจเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสำหรับเมืองไทยเองจะเห็นได้ชัดว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง กลุ่มคนงาน ที่เป็นคนชนชั้นแรงงาน 

และเมื่อเวลาเราพูดถึงชนชั้นแรงงาน ผมอยากให้เรามองความสัมพันธ์ของตัวคนที่เป็นคนงานกับครอบครัวที่อยู่ในชนบท ซึ่งในบริบทของเมืองไทยคนงานที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่เป็นคนงานอพยพหรือเคลื่อนย้ายถิ่น เพราะคนที่อยู่ในเมืองมักเป็นคนจากภาคอีสานหรือเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้เวลาที่เราพูดถึงคนงานเหล่านี้ผลกระทบไม่ได้ตกที่ตัวเขาคนเดียว เราจึงควรมองเขาในฐานะผู้ที่เข้ามาทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทยมาตลอด 

ถ้าจะพูดถึงผลกระทบของคนงาน ผมคิดว่าประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือคนงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการกับภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งสองกลุ่มนี้อาจจะมีลักษณะต่างกัน

สำหรับกลุ่มแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบ วิกฤติครั้งนี้มันหนักหนาแค่ไหน

ผมเข้าใจว่าความสนใจเรื่องประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้มันค่อนข้างสูง เพราะว่าในช่วงต้นปี หรือว่าปลายปีที่แล้ว มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนออกมาหลายชิ้น มีการพูดถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก

ในประเทศไทย ภาพรวมหนี้ครัวเรือนสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ อันที่จริงเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ปรากฏการณ์ของหนี้จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่ามีข้อจำกัดหรือว่าข้อถกเถียงเพราะเรื่องนี้มันไม่ลงไปถึงมิติของกลุ่มคนที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือว่าจากหลายๆ สถาบัน เขาจะพิจารณาจากหนี้ในระบบ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ของสินเชื่อที่กู้มาเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ มันเป็นหนี้ของคนชั้นกลาง มันเป็นหนี้ของคนที่เข้าสู่ระบบได้ แต่ว่าสิ่งที่เราไม่รู้เลยคือหนี้นอกระบบ ซึ่งผมคิดว่า ประเด็นของกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ หรืออาจจะเรียกว่า คนงานนอกระบบ 

เขาเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องหาทุกวิธีเพื่อได้เงินมามีชีวิตต่อ กู้จากญาติ กู้จากคนรู้จัก ก่อให้เกิดเป็นปัญหาที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ปัญหาของหนี้ ผมว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนงานนอกระบบที่มีปัญหาหนี้ จริงๆ แล้วกลุ่มคนงานที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่เป็นทางการ แม้พวกเขามีเงินเดือนที่ได้รับประจำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรายวัน หรือรายเดือน กลุ่มนี้ก็มีปัญหาสะสมมานาน เพราะพื้นฐานคือเขาได้ค่าจ้างที่ไม่เคยเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย

จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนงาน ทั้งคนงานที่อยู่ในเศรษฐกิจทางการและไม่ทางการ ประสบกับปัญหาเรื่องไฟแนนซ์มาตลอด การได้รับค่าจ้าง แต่ค่าจ้างนั้นไม่ได้อ้างอิงไปถึงอัตรารายจ่ายขั้นต่ำ มันไม่ได้การันตีว่าเขาจะไม่เป็นหนี้ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารที่ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ขยับขึ้น มันจึงแทบจะไม่มีความหมายเลย

พอพูดถึงเรื่องนี้มันชวนย้อนกลับไปถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองในบ้านเราว่าอำนาจในเชิงชนชั้น การไม่มีระบบตัวแทนในทางการเมืองของพี่น้องแรงงาน มันทำให้เราไม่เคยพูดไปถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องของคนงานเลย และเมื่อปัญหาหนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เราทำได้แค่อาจจะเยียวยา เช่น การชะลอหนี้ การปลดหนี้ การประนอมหนี้ มันไม่ได้เป็นการล้มกระดานและเริ่มต้นใหม่ เราแค่ทำให้หนี้ของเขาหายไป แต่ว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม โครงสร้างยังคงเหมือนเดิม อัตราค่าจ้างยังเหมือนเดิม อำนาจต่อรองของแรงงานก็ไม่มี กฎหมายที่เป็นธรรมไม่ได้ถูกบังคับใช้ อย่างไรเสียกลุ่มแรงงานทั้งที่อยู่ในเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ก็คงไม่ได้มีชีวิตที่เปลี่ยนไป ยิ่งเจอโควิด-19 มาซ้ำเติม ยิ่งแย่

ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ รัฐบาลควรจะเข้ามากดปุ่มหยุดปัญหาที่เคยเป็นอยู่ หยุดปัญหาหนี้ ไม่ให้มันรุนแรงขึ้น แต่ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่สามารถทำได้ เหมือนกับปล่อยให้กลไกมันยิ่งทวีคูณ เขาก็ยิ่งประสบปัญหารุนแรง เพราะว่างานก็ลดลง กลุ่มที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยหรือว่าเกษตรกรก็ยิ่งขาดรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตมันเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เขาก็ต้องยิ่งขวนขวายหาทางในการจะเอาเงินมาใช้จ่าย เพราะฉะนั้นก็ยิ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เคยได้โอกาสจากความยากจน เช่น คนปล่อยกู้สามารถปล่อยกู้ได้ อาจจะมีอำนาจต่อรองในการเรียกดอกเบี้ยมากขึ้นด้วยซ้ำ ก็เลยยิ่งรุนแรง

ถ้าพูดถึงความเป็นธรรมทางการเงิน ความสัมพันธ์ของ ‘กลุ่มคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ’ กับ ‘การเข้าถึงความเป็นธรรมทางการเงิน’ เป็นอย่างไรบ้าง

จากสถานการณ์โควิด-19 เราพบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในโรงงานถูกลดงาน ลดชั่วโมง ลดค่าจ้างลง เพราะว่าสถานประกอบการก็ประสบปัญหา แต่ว่าที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ตอนนี้มันมีการติดโควิด-19 เยอะ แล้วไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของการถูกกักตัว เขาถูกนายจ้างกักบริเวณไม่ให้ออกไปไหน แคมป์คนงานถูกปิดยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น ผมคิดว่าถ้าหากเราไม่สามารถที่จะสร้างบรรยากาศของการเยียวยาฉุกเฉินที่มีคนเป็นศูนย์กลาง มันจะลำบาก

สถานการณ์นี้เราเห็นปัญหาทุกอย่างมันถูกขยาย ถูกทวีคูณ ถูกไฟฉายส่องให้มันขยายตัวอีกหลายเท่า เป็นที่น่ายินดีที่มีคนพูดถึงปัญหานี้เยอะขึ้น แต่ยังน่าเสียดายที่เราไม่ได้ให้คนงานได้พูดถึงปัญหาจากมุมมองของเขา จากสายตาของเขาเอง ผมคิดว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จำเป็นจะต้องพูดคุยกัน 

ส่วนเรื่องความเป็นธรรมทางการเงิน เราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมทางการเงินในบ้านเรา ตัวผมเองก็ไม่ค่อยได้พูดเท่าไร บทสนทนาในเรื่องการเงินหรือแม้กระทั่งวิธีคิด ตั้งอยู่บนวิธีคิดของการเงินแบบที่เป็นทุนนิยมมาก มันชวนให้ผมนึกถึงนโยบายการแปรสินทรัพย์เป็นทุนสมัยทักษิณ นี่คือการปรับเอาแนวคิดที่เป็นเสรีนิยมใหม่มากๆ ที่ทำให้คนจน หรือคนที่เป็นแรงงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการที่เข้าไม่ถึงตลาดการเงิน สามารถเข้ามาอยู่ในระบบของการเงินได้ เพราะมันดึงเอาคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เขาสามารถเอาสิ่งของที่เขามีมาแปลงให้เป็นสิ่งที่มีค่าในระบบการเงินแบบทุนนิยม ซึ่งอันนี้เป็นวิธีการแบบหนึ่งที่อาจจะไม่นำไปสู่ความเป็นธรรมมากขึ้น 

แต่การเปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกสนาม เข้ามาอยู่ในสนาม ถ้าเศรษฐกิจดีก็อาจจะไม่มีปัญหา คนกลุ่มนี้อาจจะมีเงินใช้ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะวิจารณ์ว่า วงจรแบบนี้อาจจะนำไปสู่หนี้ในอนาคตก็ได้ เพราะอย่าลืมว่าวาทกรรมแบบนักเศรษฐศาสตร์อาจจะบอกคุณว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถในการที่จะอยู่ในระบบทุน นี่แหละที่จะย้อนมาตั้งคำถามกับวิธีคิดว่าจริงๆ แล้วใครที่มีอภิสิทธิ์ที่จะเข้าไปอยู่ในระบบทุนบ้าง

การจะอยู่ในทุนนิยมหรือระบบการเงินแบบทุนนิยมได้ดี ต้องเป็นคนที่เข้าใจตรรกะของทุนนิยม เช่น คนชั้นกลางมีเครดิตการ์ดหรือ และอย่างไรต่อ

ในบริบทของบ้านเราที่ภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ กำลังแรงงานเกินกว่าครึ่ง ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้ เขาไม่มี statement ไม่มีเงินเดือน ไม่มีพาสปอร์ต ตามที่ทุนนิยมต้องการ เพราะฉะนั้นกลับไปสู่ประเด็นเรื่องการเงินที่เป็นธรรม ผมว่ามันไม่สามารถที่จะตอบเรื่องนี้ได้ง่าย เพราะมันเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดทั้งโครงสร้างแบบเสรีนิยมกับทุนนิยม คุณจะพูดเรื่องความเป็นธรรม แปลว่าคุณต้องรู้ระบบก่อน หรือคุณต้องทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบซึ่งสามารถที่จะมีความสามารถในการที่จะเล่นก่อน และเมื่ออยู่ในกฎกติกาเดียวกันได้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะใช้กฎกติกาเดียวกับคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ ความเป็นธรรมมันก็เกิดขึ้นยาก

คุณกำลังจะบอกว่าวาทกรรมหรืออคติเดิมๆ ที่มีต่อกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ มีผลต่อการเข้าถึงความเป็นธรรมทางการเงิน?

ในอดีตที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงเรื่องหนี้คนงาน คนส่วนใหญ่มักจะมีอคติตลอดว่าคนงานใช้เงินไม่เป็น ซึ่งประเด็นนี้มันเป็นประเด็นใหญ่และมีผลอย่างมาก อคติของนายจ้างที่ผมเคยได้ยิน เขาบอกว่า ลูกจ้างมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่มีวินัย ใช้เงินฟุ่มเฟือย กินเหล้า เล่นการพนัน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า เงิน 300 บาทต่อวัน มันพอต่อการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่เรามีหรือเปล่า

ฉะนั้นเรื่องนี้มันทำให้เราต้องตั้งคำถามจากค่าจ้างที่เพียงพอ และไปให้ไกลกว่านั้น นอกจากค่าจ้างจะพอหรือเปล่า มันมีระบบสวัสดิการอื่นที่รองรับชีวิตเขาไหม 

บ้านเราไม่มีระบบสวัสดิการในเรื่องของการดูแล เมื่อคนงานมีลูก มีครอบครัว ก็ต้องส่งลูกกลับบ้าน อย่างที่ผมบอกเราไม่สามารถจะคิดว่าคนหนึ่งคนใช้จ่ายประจำวัน กินอาหาร เดินทาง แต่ว่ามันรวมสิ่งที่เรียกว่า social reproduction ของคนคนนั้น รวมถึงต้องพูดเรื่องเจเนอเรชั่นถัดไป ที่เขากำลังจะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานด้วย มันมีต้นทุนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่เรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของการเลี้ยงดูลูก การศึกษาลูก ค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ

เราต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เราต้องมีค่าจ้างที่เป็นธรรมที่สามารถทำให้เขาไม่ต้องทำงาน 12-15 ชั่วโมงต่อวัน ให้เขามีเวลาที่สามารถเลี้ยงลูกหรือได้ผ่อนคลาย สุดท้ายคนที่ทำงานหนักตลอดเวลาแบบนั้น เขาต้องเยียวยาตัวเองด้วยการบริโภคแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อที่จะลดความตึงเครียด ลดความอ่อนล้า สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์ เราอาจจะติดเรื่องนี้ แล้วก็เอาไปผูกโยงกับการมองพวกเขาในการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม

ในช่วงที่ผ่านมาเกิดตลาดแรงงานกลุ่มใหม่ ในลักษณะแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ขับส่งอาหาร แม่บ้านออนไลน์ วิวัฒนาการเป็นอย่างไร

ถ้าเราจำกันได้ มันเริ่มต้นตั้งแต่ Uber เข้ามาในเมืองไทย เวลาที่พูดถึงเศรษฐกิจลักษณะนี้ คนที่ศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะเรียกว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็น digital economy เพราะฉะนั้น Uber เข้ามา มันทำให้เกิดคำถามเยอะ ผมยังจำได้ ปรากฏการณ์ของ Uber รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต เราบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรามีการใช้แพลตฟอร์มในลักษณะของเว็บไซต์ซื้อขายของออนไลน์ที่เป็น e-commerce อยู่แล้ว

แต่ Uber มันทำให้เกิดประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการจ้างงานที่ชัดเจน คนอยากจะมีความมั่นคงทางรายได้ ความมั่นคงทางอาชีพ เราอยากจะมีงานประจำ และได้รับเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อยากจะมีความอิสระและยืดหยุ่นในการจ้าง ธุรกิจเหล่านี้จึงตอบโจทย์ ที่สำคัญถ้ามองในเชิงนายจ้าง ลูกจ้างประเภทนี้ดีลง่าย นายจ้างมีความสามารถในการเลิกจ้างได้ แต่ถ้าอยู่ในลักษณะองค์กรประจำกฎหมายแรงงานมันทำให้เขาทำไม่ได้ 

ถ้าถามว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มหรือว่าความสัมพันธ์ใหม่แบบนี้ ทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้และขยายตัวได้ดีกว่าในประเทศเรา ผมคิดว่าภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่เป็นเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ทำให้คนชินกับความไม่เป็นทางการ เขามีความคุ้นเคยกับลักษณะความไม่มั่นคงเป็นพื้นฐานในชีวิตเขาอยู่แล้ว เช่น คนที่เป็นพ่อค้าหาบเร่แผงลอย คนที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์ เขาคุ้นเคยกับความไม่แน่นอนของรายได้อยู่แล้ว แต่ความไม่แน่นอนของเขามันผูกติดกับอิสระภาพของเขา เขาอยากจะทำเขาก็ทำ เพราะว่าเขามีธุระ พอเขาทำธุระเสร็จเขาก็มาขายของ เขาก็ไปส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จเขาก็มาขี่มอเตอร์ไซค์ แต่เมื่อความเป็นจริงมันเริ่มปรากฏขึ้น เขาก็จะเห็นว่า ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ค่าตอบแทนทุกวันนี้ แทบจะไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำ 

ปัญหาของงานแพลตฟอร์ม มันตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยเข้าใจ มันสั่นคลอนความเข้าใจของเรา เราไม่สามารถจัดคนอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจไหนเลย เขาไม่ใช่คนที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33, 39 อยู่นอกการดูแลของกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ยิ่งในประเทศที่ไม่เป็นรัฐสวัสดิการนี่คือเรื่องใหญ่

เราเคยได้ยินว่าคนขับ Grab ขับ Line Man และอื่นๆ ได้เงินดีมาก วันนี้มันเกิดอะไรขึ้น เหตุใดไรเดอร์จำนวนมากถึงออกมาส่งเสียงว่าพวกเขากำลังเจอปัญหา

ช่วงแรกต้องเรียกว่าเป็นภาพลวงตา แต่ตอนนี้คือของจริง

ขออธิบายว่า การทำงานของเศรษฐกิจโมเดลเช่นนี้ มันต่างจากเศรษฐกิจโมเดลธุรกิจอื่นๆ อย่างมาก 

เมื่อโมเดลใหม่ก่อร่างสร้างตัว สิ่งที่เขาต้องทำคือการขยายการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค แพลตฟอร์มพวกนี้จำเป็นอย่างมากที่ต้องเชื่อมโยงกับ stakeholder ทั้งคนงาน ทั้งผู้บริโภค แล้วก็ซัพพลายเออร์ (เช่น ร้านอาหาร) เพราะฉะนั้นยิ่งเชื่อมโยงสามกลุ่มนี้ได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ในระยะยาว การดำเนินธุรกิจของเขาก็จะราบรื่น 

เรียกได้ว่าโมเดลนี้มันลงทุน คล้ายๆ กับเล่นการพนันก็ได้ ถ้าเกิดว่ามันมีสตาร์ทอัพอยู่สามแห่ง แล้วเราก็เอาเงินมาเสี่ยงกับสตาร์ทอัพสามแห่งนี้ แล้วดูว่าแห่งไหนจะดีที่สุด อย่างเช่นถ้ามี Grab มี Uber เราก็ลงที่ Grab ก้อนหนึ่ง ลงที่ Uber ก้อนหนึ่ง แล้วสตาร์ทอัพทั้งสามแห่งก็แข่งขันกันเอง ก็อาจจะแข่งในตลาด แล้วเอาเงินที่ได้จากการลงขันของนักลงทุนจำนวนมากหลายพันล้าน มาทุ่มตลาดแข่งกัน ลดราคาแข่งกัน จ่ายเงิน incentive ให้คนขับ ทำให้ตอนช่วงแรกเราเห็นว่า โอ้โห เราสั่งอาหารแทบจะสั่งฟรีด้วยซ้ำ คนงานก็รู้สึกว่าทำงานทำไมได้เงินเดือนเยอะจัง คือ ทุกอย่างมันเป็นภาพลวงหมดเลย เพราะเงินที่ได้มันไม่ได้สะท้อนต้นทุนของการทำงาน ไม่ได้สะท้อนต้นทุนของการสั่งอาหารที่แท้จริง เมื่อแพลตฟอร์มได้เงิน เขาก็เอาเงินของคนอื่นมาทุ่มให้กับผู้บริโภค มาทุ่มให้กับคนทำงาน คราวนี้เมื่อเวลาผ่านไป เหลือแพลตฟอร์มที่อยู่รอดเพียงไม่กี่เจ้า เจ้าอื่นตายหมด กลุ่มที่เคยลงทุนก็ถอนตัว เงินตรงนั้นก็หายไป แพลตฟอร์มหลายๆ แห่งก็เลยไปไม่รอด

เช่นนั้น มิติของ fair finance กับกลุ่มคนทำงานอาชีพแพลตฟอร์มใหม่ ถ้าโฟกัสไปที่ตัวแหล่งทุนหรือธนาคาร เขามีมุมมองหรือความเข้าใจต่อแรงงานกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอย้อนนิดเดียว จริงๆ ตอนนี้ เรื่องที่น่ากลัวมากๆ ก็คือแพลตฟอร์มทำบทบาทแทนธนาคาร เขาปล่อยกู้ให้คนทำงาน อย่างเช่น Grab มีโปรแกรมที่จะให้คนทำงาน คนขี่มอเตอร์ไซค์กู้เงินจากตัวเขาเอง ซึ่งอันนี้น่ากลัวมาก เพราะในอดีตเราจะเห็นว่ามันแยกกัน คนที่เป็นนายจ้างก็คนนึง พอลูกจ้างได้เงินไม่พอก็ไปกู้คนอื่น แต่คราวนี้ถ้านายจ้างปล่อยกู้เอง มันทำให้เกิดสิ่งที่น่ากลัวก็คือระบบการพึ่งพิงและระบบของอำนาจที่มันต่างกัน

มันยิ่งรุนแรงขึ้นและน่ากลัวขึ้นตรงที่ว่า Grab จะให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น คุณต้องทำงานให้ได้กี่วัน กี่รอบต่อสัปดาห์ เพื่อที่จะกู้เงินไปใช้ ซึ่งบางทีมันไม่ใช่ในรูปแบบเงินสดอย่างเดียว มันมีทั้งให้โทรศัพท์ที่ความเร็วสูง รวมถึงข้อแลกเปลี่ยนอื่นๆ มีคนเปรียบเทียบว่ามันเหมือนระบบ contract farming หรือระบบพันธสัญญา ที่ออกแบบมาให้เกษตรกรเจ๊ง แล้วก็จน แล้วก็ติดหนี้อย่างเดียว ผมคิดว่าระบบนี้ที่ออกแบบมาให้คนงาน เหมือนทำให้เขาต้องติดบ่วงหนี้แล้วก็ทำงานใช้หนี้ไปเรื่อยๆ 

เพราะเอาเข้าจริงคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้ อย่าลืมว่าเขาอาจจะเป็นคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ยิ่งถ้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอยต่างๆ เขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้อยู่แล้ว มันพังพินาศนะ

เพราะโมเดลแบบนี้ มันเอื้อให้นายจ้างออกแบบวิธีการต่างๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งบางอันมันไม่แฟร์ เช่น จากเดิมที่เราคิดว่าเขาจะทำงานต่อเมื่อเขาอยากทำ ทำแบบ on demand แต่กลับถูกบังคับให้ทำงานเป็นชิ้นใหญ่ ทำงานเป็นกะ ถ้าลางาน ลาป่วย เขาก็ถูกหักเงิน นี่เป็นระบบที่แม้อยู่ในระบบโรงงานก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะมีกฎหมายกำกับไม่ให้นายจ้างทำ แต่เหมือนแพลตฟอร์มไม่มีกฎหมาย แนวโน้มมันน่าเป็นห่วง 

ฉะนั้นหนทางที่จะคลี่คลายเรื่อง fair finance ของกลุ่มแรงงานในแพลตฟอร์ม ควรจะเป็นเช่นไร

ถ้าตอบจริงๆ แบบที่ผมคิดจริงๆ ผมคิดว่าธนาคารแบบที่เราใช้อยู่มันล้มเหลวในการเป็นที่พึ่งของคนงาน มันล้มเหลวเพราะว่าวิธีคิดอย่างที่เริ่มในตอนต้นเลย 

เพราะมันเป็นวิธีคิดที่อยู่ในระบบทุนที่ธนาคารหากำไรจากการปล่อยกู้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราพูดถึงทางออกที่อาจจะเป็นแค่การรักษาโดยการปิดแผล ธนาคารก็อาจจะปรับตัวโดยการมี ‘หัวใจ’ มากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกระยะยาว มันทำให้คนอาจจะมีความสามารถในการเข้ามาเป็นผู้เล่น แต่ว่าเราไม่ได้ต้องการเห็นคนงานที่ดีในระบบทุน เพราะเรารู้ว่าแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่างทุนกับแรงงานมันไม่เท่ากัน และความไม่เป็นธรรมมันเกิดจากจุดนี้แหละ

ฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนคนงานให้เป็นคนงานที่ดี เป็นคนงานที่มีวินัยทางการเงิน เป็นคนงานที่เป็นผู้บริโภคที่ดี ก็ยังเป็นคนงานที่สร้างกำไรเท่านั้นเอง แต่เขาไม่ได้หลุดไปจากวงจรของความยากจน หรือความเหลื่อมล้ำนี้

หากถามว่าธนาคารที่ควรจะเป็นควรเป็นยังไง เราจะถามกลับคืนว่าต้นตอของคำว่า fairness จริงๆ คืออะไร

ความเป็นธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น เช่น การมีเงินเดือนที่ดี ที่เป็นธรรม มีสภาพการทำงานที่เป็นธรรม มีอำนาจต่อรองที่สามารถที่จะรวมกลุ่มกัน แล้วก็เจรจาขอสภาพการทำงานและเงินเดือนที่เหมาะสมได้ ที่จะไม่นำไปสู่วงจรหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นหรือเปล่า เวลาเราพูดในกรอบของ fair finance อย่ามองให้มันแยกส่วน โดยที่เราไม่ไปแตะโครงสร้างหรือไม่พูดถึงสวัสดิการ

ในต่างประเทศมีโมเดลเรื่อง fair finance ใดบ้างที่น่าสมาทาน

สิ่งที่สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute: JELI) พยายามเสนอคือโมเดลหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ดี ก็คือการนำแพลตฟอร์มมาทำสหกรณ์

เรามองว่าโมเดลของสหกรณ์ เป็นโมเดลที่ถูกพิสูจน์ในเชิงเวลามาแล้วว่ามันเป็นโมเดลที่เป็นธรรมที่สุดของคนทำงาน แต่ความหมายของสหกรณ์นี่คือ เป็นโมเดลที่คนงานเป็นเจ้าของ มันก็คืองานที่คนงานร่วมกันบริหารเอง

ยกตัวอย่างในสหรัฐ รวมถึงทั่วโลก เราเห็นตัวอย่างที่ดีมากของธุรกิจแพลตฟอร์มของคนทำงานที่เป็นเจ้าของเอง เขากำหนดค่าจ้าง ค่าตอบแทนตัวเอง เขากำหนดวิธีการ เขากำหนดนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม เช่น up and go เป็นแพลตฟอร์มรับทำความสะอาดในนิวยอร์ค มีนโยบายน่าสนใจคือแทนที่คนงานจะถูกหัก 15-20 เปอร์เซ็นต์ คนงานถูกหัก 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ กลับมาสู่เงินที่จ่ายให้ทีมในการทำงาน ซึ่งแรงงานทุกคนก็คือคนงาน ในการเข้ามาบริหาร รวมถึง FairBNB ที่ล้อเลียน AirBNB เป็นโมเดลที่เอา AirBNB มาทำให้มันเป็นธรรมกับทุกคน โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่มีห้องพัก เพราะฉะนั้น เงินส่วนหนึ่งของคนที่จ่ายให้ FairBNB ที่ใช้บริการจับคู่ห้องพัก ก็กลับเข้ามาชุมชน ในการพัฒนาชุมชน โดยที่ชุมชนสามารถเป็นคนเลือกว่าจะเอาเงินนั้นไปทำอะไร คือมันไม่ใช่แค่ลักษณะงานเพื่อสังคม แต่เป็นลักษณะที่มันมีการร่วมตัดสินใจของแรงงานทุกคนตั้งแต่ต้น ในการที่จะตัดสินใจ แล้วก็กำหนดกฎเกณฑ์ของการทำงานร่วมกัน

ถ้าถามว่ามันตอบโจทย์เรื่องมุมมองของกรอบเรื่องหนี้ หรือเรื่อง fair finance อย่างไร ผมมองว่าระบบของสหกรณ์มันตอบโจทย์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

แม่บ้านทำความสะอาด up and go เขาเป็นกรรมการบริหารของแพลตฟอร์มนั้นเอง และในเมื่อคนทำงานมีส่วนร่วมในการบริหาร เขาก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น ค่าตอบแทนที่ควรจะได้อย่างเหมาะสม ชั่วโมงการทำงาน เวลาการทำงาน ทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน ปัญหาหนี้กลายเรื่องท้ายๆ ด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในวงจรที่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ผมอยากชวนเปิดประเด็นต่อไปเพื่อพูดให้ถึงระบบสวัสดิการและสังคมในอนาคต เรามองว่าระบบเศรษฐกิจมันเคลื่อน รูปแบบการทำงานมันเคลื่อนที่ นั่นหมายถึงรูปแบบของระบบสวัสดิการและสังคมของเขาเปลี่ยน 

และเมื่อฐานะทางการเงินของเขาเปลี่ยน กำลังในการจัดเก็บภาษีของประเทศมันจะลดลง เพราะเขามีรายได้ที่ลดลง นำไปสู่คำถามใหญ่ระดับมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่กำลังบอกว่าอนาคตจะเป็นพีระมิดหัวคว่ำ เป็นสังคมผู้สูงอายุ หากเจอปัญหาเงินประกันสังคมหรือระบบประกันสังคมไม่เพียงพอหรือไม่สามารถใช้งานได้จริง รัฐบาลจะมีวิธีหรือแนวทางอย่างไรไม่ให้ล้ม

ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด สวัสดิการทางสังคมไม่ควรผูกมัดกับรูปแบบงานหรือความสามารถในการทำงานของคน ซึ่งจะต้องไม่มีเงื่อนไขผูกว่าคุณจะเป็น active labor หรือไม่

ผมยกตัวอย่างแม่บ้านที่เป็นคนเลี้ยงลูกอยู่บ้าน กลุ่มคนเหล่านี้ แม้ไม่ได้เงินเดือนแต่มีกำลังในระบบเศรษฐกิจสูงมาก ที่สำคัญมีบทบาทและส่วนช่วยในการกล่อมเกลาเด็กคนนึง ซึ่งจะกลายเป็นกำลังแรงงานสำคัญในประเทศ เขาควรจะมีผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนะ

ประเด็นหนึ่งที่เราอยากไปให้ถึงคือการพากลุ่มคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ไปให้ถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม หัวใจสำคัญของแหล่งทุนดังกล่าว ควรจะมองไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานมากขึ้น มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เปราะบางเช่นนี้ 

ผมคิดว่าปัญหาสำคัญของเรื่องไฟแนนซ์คือการให้กู้ 

มันควรจะเปลี่ยนจากการให้กู้เป็นให้แกรนท์ (grant) หรือการให้เปล่า ในต่างประเทศเราจะเห็นรูปแบบการให้เปล่า เพียงแต่มีเงื่อนไขเหมาะสม ไม่เอาเปรียบผูกติดไปกับเงินนั้น

ที่เราคุยกันมาทั้งหมดถ้าแหล่งทุนหรือธนาคารมองเห็นสาเหตุว่ามันมีเหตุใด ที่ทำให้แรงงานที่ทำงานหนักมาก แต่ยังได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ ไม่เป็นธรรม ก็น่าจะเข้าใจมากขึ้น

ดังนั้นวิธีคิดที่ปล่อยให้กู้แต่ยังเก็บดอกเบี้ยแพงๆ มันเป็นธรรมไหม? ผมจึงบอกเสมอว่ามุมมองที่ธนาคารมองคนจึงมีความสำคัญอย่างมาก คนกลุ่มนี้ควรจะได้รับการชดเชย เพื่อที่จะทำให้เขายืนอยู่ได้ เขาควรจะได้รับการชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป แต่ถ้าเราไปคิดว่าเขาไม่ต่างจากคนอื่น เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงเท่าคนอื่นเมื่อเขากู้ มันไม่ใช่แล้ว วิธีคิดนี้มันไม่เป็นธรรมหรอกครับ

แหล่งทุนควรจะมองบริบทของชีวิตพวกเขา มองให้เห็น contribution ของเขาในสังคม ยกตัวอย่าง ถ้าธนาคารมองเห็นว่าแรงงานกลุ่มนี้เขามีความเข้มแข็งในการรวมตัวกันทำงานบางอย่าง เราอาจจะให้ทุนเปล่า หรือเปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อจัดการเป็นเจ้าของการบริหารงานของพวกเขาเอง เมื่อธุรกิจของพวกเขาอยู่ได้ ครอบครัวของเขาอยู่ได้ มันจะก่อให้เกิดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว อันนี้พูดแค่มิติของระบบทุนนิยมนะครับ แต่มันยังเกิดสิ่งอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ความมั่นคงทางอาชีพ ลูกหลานของเขาที่เขาจะขยับฐานะทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น มันอาจจะดีกว่าถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด 

ท้ายที่สุดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะทำอะไรบ้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการเงินให้เกิดขึ้นจริงกับแรงงาน

จริงๆ มันก็มีหลายประเด็นนะครับ ตั้งแต่ต้นเราก็คุยกันหลายมิติ ทั้งในด้านของแรงงานที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและด้านอื่นๆ

สิ่งที่เราทำงานอยู่และเรามองว่ามันควรจะเป็นวาระแห่งชาตินั่นคือการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เมื่อรูปแบบการจ้างงาน ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างแรงงานอยู่ในรูปแบบใหม่ มันควรจะมีกฎหมายใหม่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมไปจนถึงระบบประกันสังคมที่ควรจะปฏิรูปก่อนเป็นอันดับแรกแน่นอน เพราะโครงสร้างที่มีอยู่มันใช้งานไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้แล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่าในเมื่อเห็นความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนี้แล้วก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

นอกจากนั้นถ้าเรามองในกรอบเรื่องหนี้ เรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงแหล่งเงิน สถานการณ์โควิด-19 มันทำให้เห็นชัดเจนเลยว่าโครงสร้างที่เราอยู่มีปัญหามาก เรามีความตระหนักรู้ในเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะงานวิจัยหรือข้อถกเถียงของสังคมที่เกิดขึ้นตลอดมา มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราควรจะพูดเรื่องนี้สักทีในสังคม

ผมคิดว่ามีคนหลายกลุ่มที่พยายามพูดเรื่องนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนจนเมือง หรือกลุ่มภาคเกษตรที่ยังวนเวียนอยู่ในวงจรของการเป็นหนี้และความยากจน โดยเฉพาะในช่วงเวลาตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนงานก่อสร้างที่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ นี่คือสิ่งสะท้อนว่าเราจะแยกส่วนวิธีคิดไม่ได้ เพราะเขาล้วนเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่ไม่ทั่วถึง จนทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ 

วาระนี้ผมมองว่าเราไม่ควรมองมิติเรื่องงาน แรงงาน และสวัสดิการ แยกออกจากกัน ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้นเมื่อมีใครถามผม ผมก็มักจะมีคำถามในใจว่า เราจะบูรณาการได้จริงไหมหากเรายังมองคนงานแยกส่วนกับเศรษฐกิจอยู่แบบนี้ มันต้องไม่ใช่แค่มอง ‘ทุน’ เป็นศูนย์กลางแล้ว แต่ระบบควรมอง ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง ต้องคิดถึงเรื่องสวัสดิการและงานควบคู่ไปกับการเติบโต 

พลังของการรวมตัว จะทำให้เข้าถึงความเป็นธรรมทางการเงิน รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

ยกตัวอย่างกลุ่มไรเดอร์แล้วกัน เพราะว่าเป็นกลุ่มที่เราเห็นภาพได้ชัดเจนในการลุกขึ้นมาเรียกร้อง ในช่วงแรกๆ เขาอาจจะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรมด้วยซ้ำ เขารวมตัวกันเพื่อพูดเรื่องวิธีการทำงานมากกว่า ด้วยความรู้สึกที่ถูกกดทับและความไม่เป็นธรรมของกฎกติกาในการทำงานมานาน ช่วงหลังก็มีบ้างที่พูดถึงประเด็นของค่าตอบแทน เช่น ขอค่ารอบเพิ่มขึ้น

แต่ผมกลับรู้สึกว่าการพูดเรื่องค่าตอบแทน มันอาจจะยังไม่นำไปสู่ความเป็นธรรมทางการเงินนะ ด้วยความที่คนทำงานอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมมานาน เขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับภาพที่รัฐเข้ามาชดเชยหรือจัดการบริการทางสาธารณะ

การเรียกร้องที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้เราติดอยู่ในกรอบเดิม เรียกร้องก็ชดเชยไปจะได้จบๆ แต่มันไม่จบถ้าเราไม่สร้างความตระหนักว่าเราในฐานะแรงงานคู่ควรที่จะได้รับอะไรบ้าง ความเป็นธรรมไม่ใช่อภิสิทธิ์แต่มันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

ในกรณีการเรียกร้องของไรเดอร์ ถ้าเจ้าของแพลตฟอร์มยอมรับข้อเรียกร้องเหล่านั้นผมถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทว่าก็ยังคลางแคลงใจว่ามันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะวัฒนธรรมการต่อรองและการเจรจาระหว่างนายจ้างลูกจ้างในสังคมไทย เราก็ยังมองไม่เห็นตัวอย่างดีๆ เกิดขึ้นเลย แม้กระทั่งการรวมกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรมเอง

ผมอาจจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายด้วยจากประสบการณ์ หรือสิ่งที่มองเห็นจากความเป็นจริงในบ้านเรา ผมยังมองไม่เห็นการยอมรับของการรวมกลุ่มในพื้นที่แพลตฟอร์มเสียเท่าไหร่ แต่ถ้ามันเริ่มต้นได้ก็จะเป็นจุดที่นำไปสู่ความเป็นธรรมในมิติสิทธิต่างๆ ในวงเล็บต้องอาศัยเงื่อนไขต่างๆ อย่างที่เราได้พูดกันมาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของแรงงาน เพราะไม่ว่านโยบายใดๆ ของรัฐหรือธนาคารเองก็ตาม มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพียงเพราะความเข้าใจอย่างเดียว ยังต้องการส่วนร่วมหรือการเปิดพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นระบบตัวแทน หรือการเปิดพื้นที่ให้แรงงานเข้าไปนั่งโต๊ะออกเสียงว่าสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คืออะไร