200 วันหลังรัฐประหาร ธนาคารกสิกรไทยเป็นเพียง 1 ใน 12 ธุรกิจไทยในเมียนมา ที่ออกมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน
หลังการรัฐประหารที่เมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 200 วันแล้วที่เกิดการยึดอำนาจในประเทศเพื่อนบ้าน รายงานจาก Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ระบุว่าขณะนี้มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา หรือถูกดำเนินคดีถึง 5,821 คน และมีถึง 1,013 คนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร
ที่ผ่านมา แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้ออกแถลงการณ์ รวมถึงสร้างแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org เพื่อเรียกร้องไปยัง 12 บริษัทไทยที่ลงทุนในเมียนมา ให้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนตามที่ประกาศไว้ในนโยบายขององค์กร ทว่าจนถึงวันนี้มีเพียงธนาคารกสิกรไทยเท่านั้นที่ออกมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในเมียนมา
โดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยเผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า ธนาคารฯ ยึดในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และหลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization; ILO) ตลอดจนข้อตกลงและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ
แถลงการณ์ยังบอกอีกว่า หลังรัฐประหารในเมียนมา ธนาคารฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนดังกล่าว จึงออกมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองพนักงานให้มีความปลอดภัย รวมทั้งพิจารณาแผนการลงทุนทันทีหลังจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉินอันมาจากการรัฐประหาร ดังนี้
- ชะลอแผนการลงทุนเข้าถือหุ้นข้างน้อยในธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา
- เลื่อนแผนการลงทุนใหม่ในเมียนมา โดยยังคงสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในเมียนมา
- หยุดการดำเนินงานสำนักงานตัวแทนของธนาคารในเมียนมาเป็นการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าของธนาคาร
แถลงการณ์ดังกล่าวยังเน้นย้ำในตอนท้ายด้วยว่า ธนาคารฯ ยึดมั่นต่อพันธสัญญาที่มีต่อพนักงานของธนาคาร ประชาชน และชุมชนในเมียนมา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตินี้ และหวังว่าสถานการณ์ที่ซับซ้อนจะคลี่คลายโดยเร็ว
ที่ผ่านมามีบริษัทระดับโลก 68 บริษัทที่ลงนามในแถลงการณ์ Statement by Concerned Businesses Operating in Myanmar อาทิ โคคา-โคล่า เฟซบุ๊ค เนสท์เล่ ยูนิลิเวอร์ อาดิดาส ส่วนองค์กรธุรกิจไทยอีก 11 บริษัทที่ยังไม่พบว่ามีท่าทีใดๆ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาประกอบด้วย
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
อ้างอิง