สภาพภูมิอากาศผกผัน หลายธนาคารไทยปรับนโยบายลดโลกร้อน
หนึ่งในข้อถกเถียงที่สำคัญที่สุด ระหว่างการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ เมื่อปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแผนในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ การที่ประเทศร่ำรวยซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง แต่ไม่ได้รับผิดชอบต่อผลกระทบจากการกระทำของตัวเองอย่างได้สัดส่วน ซึ่งควรจะชดเชยให้แก่ประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก New York Times แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มประเทศร่ำรวย อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก ซึ่งมีประชากรเพียงร้อยละ 12 ของประชากรโลกปัจจุบัน แต่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นถึงร้อยละ 50 จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมต่างๆ ในอดีต ตลอด 170 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่ตามมาจากภาวะโลกร้อน คือปัญหาไฟป่า ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในกรณีประเทศที่ยากจนอันมีความเปราะบางกว่าประเทศที่ร่ำรวยกลับต้องเผชิญกับความยากลำบาก และพวกเขาได้เคลื่อนไหวให้ประเทศร่ำรวยรับผิดชอบด้วยการจัดหาเงินในการช่วยให้ประเทศเหล่านั้นปรับตัวกับภยันตรายที่กำลังเกิดขึ้น
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากความพยายามในการกดดันประเทศร่ำรวยในที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลก เครือข่ายประชาสังคมโลกเองก็ได้มีความพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ
การประเมินธนาคารพาณิชย์ตามมาตรฐานแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เป็นหนึ่งในความพยายามนี้ โดยสร้างเกณฑ์ประเมินบทบาทของธนาคารในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการดําเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของธนาคาร อาทิ การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคาร การจํากัดการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไม่เกินร้อยละ 30 การมีนโยบายสินเชื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
ข้อมูลการประเมินตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) ชี้ให้เห็นทิศทางที่น่าชื่นชมสำหรับหลายธนาคารที่มีการปรับตัวสอดคล้องไปกับแนวโน้มของโลก
2561: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังได้รับการตระหนักน้อย
2561 เป็นปีแรกที่มีการประเมิน พบว่า เกณฑ์การประเมินบทบาทของธนาคารในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นหมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุดและได้คะแนนเฉลี่ยตํ่ากว่า 2 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับหมวดอื่นๆ อีก 4 หมวด คือ หมวดธรรมชาติ (0 เปอร์เซ็นต์) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1.2 เปอร์เซ็นต์) ความเท่าเทียมทางเพศ (1.5 เปอร์เซ็นต์) สิทธิมนุษยชน (1.7 เปอร์เซ็นต์) และนโยบายค่าตอบแทน (1.8 เปอร์เซ็นต์) ตามลำดับ
ผลการประเมินในปีนี้ พบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารเพียง 2 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ โดยได้รับคะแนนในประเด็นที่ธนาคารประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินงานของธนาคาร และธนาคารไทยพาณิชย์ได้คะแนนเพิ่มเติมจากโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการพิจารณาสินเชื่ออัตราพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังงาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
2562: เริ่มสร้างนโยบายด้านสินเชื่อที่ครอบคลุมภาวะโลกร้อน
ในการประเมินปีที่ 2 พบว่า ธนาคารทุกแห่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อการเปิดเผยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่เป็นธรรมและความยั่งยืนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในหัวข้อที่ทวีความสําคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับชาติและโลก หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากเป็นความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสียหายสูงและก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง อันรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย ความเสี่ยงที่อยู่ในหมวดเหล่านี้ เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ภัยแล้ง อุทกภัย และความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากการประเมินในปี 2562 พบว่า ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย เป็นธนาคาร 4 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ โดธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนในประเด็นที่ธนาคารประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินงานของธนาคาร
ส่วนธนาคารทหารไทย ได้คะแนนจากการระบุ ‘การค้าไม้ป่าดิบชื้นปฐมภูมิ’ (primary tropical moist forest) และ ‘การผลิตหรือการค้าไม้หรือผลผลิตจากป่าที่ไม่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน’ อยู่ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร จึงได้คะแนนในหัวข้อย่อย ‘สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มนํ้า ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (high-carbon stock)’
ในหมวดนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้คะแนนเพิ่มเติมจากโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการพิจารณาสินเชื่ออัตราพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ
ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังงาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการจูงใจให้ลูกค้าบริษัทเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้พลังงานหมุนเวียน
2563: เกณฑ์ประเมินเข้มงวดขึ้น แต่ธนาคารไทยยังรักษามาตรฐานได้ดี
ในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย เป็นธนาคาร 3 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ โดยได้คะแนนในประเด็นที่ธนาคารประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทยซึ่งได้คะแนนในหมวดนี้เป็นปีแรก กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ โดยประกาศจะลดลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2567 เทียบกับปี 2562
นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยยังได้คะแนนค่อนข้างมากจากการระบุกิจการ ‘การทำเหมืองถ่านหิน (สินเชื่อโครงการ)’ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน (สินเชื่อโครงการ)’ และ ‘การค้าไม้ป่าดิบชื้นปฐมภูมิ’ (primary tropical moist forest) และ ‘การผลิตหรือการค้าไม้หรือผลผลิตจากป่าที่ไม่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน’ อยู่ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร รวมถึงประกาศว่าจะจำกัดสินเชื่อให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด
ส่วนธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเคยได้คะแนนในปี 2562 จากการประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร ในปีนี้ไม่ได้คะแนนเนื่องจากเกณฑ์ Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง 2020 เน้นการให้คะแนนที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้สถาบันการเงินประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สามารถวัดได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
สำหรับประเทศไทย คณะวิจัยกำหนดให้ธนาคารได้คะแนนในข้อนี้หากประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งตรงกับเป้าหมายขั้นต่ำของการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contribution: NDC) ของประเทศไทย ที่รัฐบาลได้ประกาศและให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายขั้นต่ำดังกล่าว