หนี้ กยศ. กลัดกระดุมเม็ดแรกให้แม่นยำ ก่อนหลายแสนชีวิตร่วงหล่น
“เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งเข้ามาหาผม เล่าถึงชีวิตที่ยากลำบากของเขา เขาบอกว่า ‘บางทีเขาอาจจะไม่ได้เรียนต่อ บางทีเขาอาจจะไม่สามารถที่จะหาค่าเทอมมาจ่ายได้’ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า
“แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้คนทั่วไปที่จะสามารถเข้าถึงได้ คนธรรมดาต้องพยายามอย่างหนักกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ จากสถิตินักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน มีเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีโอกาสจะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย”
บางช่วงบางตอนจากบทปาฐกถาของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวาระครบรอบ 121 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2564
ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างอันน่าสนใจว่า ในฐานะอาจารย์ สิ่งที่ต้องทำบ่อยมากขึ้นในช่วงหลังคือ การเซ็นผ่อนผันค่าเทอม นักศึกษาคนหนึ่งไปหาเขา เขาถามเด็กว่า “ถ้าหากไม่มีเงินที่จะสามารถมาจ่ายได้ เหตุใดถึงไม่กู้ กยศ.” เด็กตอบว่า “เขาเองก็อยากกู้ กยศ. แต่ทุกครั้งที่ไปปรึกษากับพ่อ พ่อไม่มีทางที่จะเสกเงิน 20,000-30,000 บาท มาจ่ายค่าเทอมคืนให้เขาได้”
ประโยคหนึ่งที่พ่อของเด็กคนนี้บอกกับลูกชายคือ “มึงจำคำกูไว้เลยนะ พ่อมึงเป็นคนขายประกัน และมึงก็เป็นลูกคนขายประกัน ถ้าชีวิตของมึงต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 300,000 บาท ตอนอายุ 22 ชีวิตของมึงทั้งชีวิตก็คงจะเป็นได้แค่คนขายประกัน!”
ตอนจบของเรื่องคือ พ่อของนักศึกษารายนั้นต้องไปกดบัตรเงินสดมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก ฟังดูไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยในบัตรเครดิตสูงกว่า กยศ. หลายเท่า แต่พอมองในกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองมันน่าเศร้า
เมื่อพ่อคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ความจนมันจบอยู่ที่รุ่นเขา ไม่ถูกส่งต่อไป จะเป็นหนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เขาก็อยากให้มันจบอยู่ที่รุ่นของเขา
ตัวอย่างเล็กๆ ข้างต้น พอจะแสดงให้เห็นว่า การศึกษาของไทยยังห่างไกลกับรัฐสวัสดิการอย่างมาก คำถามคือ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ผ่านไป 25 ปีแล้ว สภาพการณ์เป็นอย่างไร บทความเรื่อง ‘ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.’ โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ (2564) ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นรากเหง้าของหนี้ กยศ. รวมไปถึงเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมเอาไว้อย่างน่าสนใจ
เงื่อนไขการชำระหนี้ที่บีบคั้น
หนี้ กยศ. ถูกนับว่ามีอัตราหนี้เสีย (NPLs) สูงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย สูงกว่า NPLs ในช่วงต้มยำกุ้ง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้ ปัจจุบันมีประชาชนอยู่ระหว่างชำระหนี้ประมาณ 3.6 ล้านราย และผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2.3 ล้านราย จากการสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดร.ขจร พบว่า แม้หลายคนจะมีเหตุผลแตกต่างกัน แต่แท้จริงแล้วต้นเหตุคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้นี้ในหลายมิติ
สาเหตุแรกๆ คือ รูปแบบการชำระคืนหนี้ของ กยศ. มีเพียงรูปแบบเดียว (one size fits all) คือกำหนดให้ต้องชำระหนี้คืนเป็นรายปี (yearly installment) แม้จะง่ายสำหรับ กยศ. ในการบริหารจัดการ แต่สำหรับลูกหนี้ที่กู้ ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวไม่ค่อยดีและเงินเก็บไม่ค่อยมี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้รายปีได้ จะต้องมีการเก็บหอมรอมริบเป็นอย่างดีทุกเดือนไม่ให้ขาด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น คือ
- อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้ในอัตราที่สูงถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือ 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งนับว่ายังสูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยกู้ 1 เปอร์เซ็นต์)
- ลำดับการตัดชำระที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้กู้จ่ายหนี้เข้ามาให้นำไปตัด (1) ค่าธรรมเนียม (2) ดอกเบี้ย (3) เงินต้น (เป็นลำดับสุดท้าย) กล่าวคือ เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เดิมเคยชำระอยู่ที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จะปรับสูงขึ้นเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่ว
ดร.ขจร ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาร่วมกับลำดับการตัดชำระหนี้ที่ผู้กู้ชำระหนี้เข้ามา กยศ. จะนำไปตัดค่าธรรมเนียมก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย ทั้งส่วนที่เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ แล้วถึงจะตัดในส่วนของเงินต้น หากผู้กู้ค้างชำระหลายงวด ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะจ่ายเท่าไรก็จะตัดไม่ถึงเงินต้นสักที
ดังตัวอย่างของหนี้รวม 705,914 บาท แบ่งเป็นส่วนเงินต้น 322,635 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ 356,531 บาท ในกรณีนี้ผู้กู้จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดก่อน เงินที่ชำระหนี้ถึงจะสามารถนำไปตัดเงินต้นได้ ซึ่งยากมากที่ผู้กู้จะหาเงินก้อนมาจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดได้ แม้จ่ายเท่าไร เงินต้นก็ไม่ลดลง และยังผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง จึงเลิกจ่ายหนี้ในที่สุด
การผ่อนผันหนี้ที่ยังมีข้อแม้
แม้ว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 กยศ. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลงเหลือ 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (จากเดิม 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) รวมทั้งออกมาตรการแก้ไขหนี้ โดยมีข้อเสนอลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคือ การจะได้ลดดอกเบี้ยผิดนัด ผู้กู้จะต้องนำเงินมาชำระหนี้ทั้งก้อนเพื่อปิดบัญชีก่อน ซึ่งผู้กู้ส่วนใหญ่ฐานะไม่ดี ไม่มีเงินออม จึงไม่สามารถหาเงินก้อนมาปิดบัญชีได้
ดังจะเห็นได้จากกลุ่มลูกหนี้คดีแดงกว่า 1.2 ล้านรายที่มีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดี เมื่อคดีถึงที่สุดและศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว กยศ. มองว่าไม่สามารถผ่อนปรนให้จ่ายน้อยกว่าคำพิพากษา เพราะอาจถูกมองว่าทำให้รัฐเสียหาย (กลัว มาตรา 157 ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่การที่ไม่ตัดสินใจ ในที่สุดก็อาจจะมีผลเสียหายต่อรัฐเช่นกัน) ซึ่งปกติเมื่อคดีดำเนินมาถึงจุดนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะสูงขึ้นจากเงินต้น 3-4 เท่าตัว
จากการค้นคว้าของ ดร.ขจร พบว่า มีกรณีที่ กยศ. ยอมรับชำระหนี้ที่น้อยกว่าคำพิพากษา แต่เป็นกรณีที่จ่ายชำระหนี้ปิดจบในครั้งเดียว ซึ่งหมายความว่า กยศ. สามารถผ่อนปรนให้ชำระหนี้น้อยกว่าคำพิพากษาของศาลได้ ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การยอมรับยอดหนี้ที่ต่ำกว่าศาลพิพากษาไม่ได้ แต่อยู่ที่ กยศ. เน้นการชำระหนี้ปิดบัญชีให้จบในคราวเดียว ทำให้ผู้กู้ส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้
และเมื่อผู้กู้จบการศึกษาแล้วปรากฏว่าไม่มีงานทำ หรือไม่มีรายได้มากพอ ปัญหาการไม่สามารถชำระหนี้ของผู้กู้จะเห็นชัดเจนในกลุ่มที่เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ หรือได้งานทำไม่ตรงสาขา หรือกรณีที่แม้จะมีงานทำ เงินเดือนที่ได้ก็ไม่ได้ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้กู้ กยศ. เพื่อเรียนปริญญา เรื่องนี้เป็นปัญหาในภาพใหญ่ของระบบการศึกษาไทยที่ผู้กู้ยังมีค่านิยมว่าต้องมีปริญญา
แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ กยศ.
ดร.ขจร ได้เสนอแนวทางรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. อย่างน้อย 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
- กยศ. ต้องได้รับชำระเงินต้นคืนอย่างครบถ้วน เพื่อส่งต่อให้เด็กรุ่นต่อไปให้สามารถกู้ไปใช้ในการศึกษาต่อ โดยมีมาตรการเร่งด่วน 4 ข้อคือ 1. ปรับปรุงแนวทางการผ่อนชำระหนี้ 2. กำหนดแนวทางแก้ปัญหาหนี้เดิม 3. กำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ค้ำประกัน และ 4. เพิ่มข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้กู้
- การออกแบบแผนการชำระหนี้คืนของ กยศ. จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ โดยจะต้องเป็นแผนการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนและอยู่ในวิสัยที่ปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ยาวเพียงพอ
- ประชาชนที่เป็นผู้กู้แต่ละรายที่มีพื้นเพ ที่มา และลักษณะที่แตกต่างกัน ต้องสามารถที่จะเลือกแผนการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง (กยศ. ไม่สามารถมีแผนชำระหนี้แบบเดียวดังเช่นปัจจุบัน กล่าวคือ ไม่ควรตัดเสื้อไซส์เดียวให้คนใส่ทั้งประเทศ)
- มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างกลไกส่งเสริมให้ผู้กู้มีวินัยและเอื้อให้ผู้กู้มีการผ่อนชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในกรณีที่ผู้กู้มีศักยภาพ ผู้กู้ต้องสามารถชำระปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าแผนชำระหนี้ปกติ นอกจากนี้ ควรมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้กู้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อด้วย
อีกประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของ กยศ. โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงแนวทางการผ่อนชำระหนี้ของ กยศ. และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้กู้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ดีขึ้น
- กลุ่มที่ 2 การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มที่เสียและมีคำพิพากษาแล้ว
- กลุ่มที่ 3 ยกระดับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
- กลุ่มที่ 4 การเพิ่มข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้กู้
กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก
ในบทความของ ดร.ขจร ทิ้งท้ายว่า ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่ง ก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆ ไปติดผิดไปด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์ด้วยการมองว่า ต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของผู้กู้แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็น ‘ความเป็นไปได้ในมุมอื่น’ ซึ่งแท้ที่จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การกำหนดรูปแบบการชำระหนี้ที่กำหนดให้จ่ายค่างวดเป็นรายปี มีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี และไม่ได้สนับสนุนให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่วนั้น แทนที่จะช่วยให้ผู้กู้มีวินัย กลับกลายเป็นการสร้างอุปสรรคทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งการกำหนดลำดับการตัดยอดชำระหนี้ที่ไม่ได้จูงใจให้ผู้กู้นั้นชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
รายงานการศึกษานี้ ช่วยทบทวน 25 ปี ของความสำเร็จและความล้มเหลว ของความพยายามขยายโอกาสทางการศึกษาผ่านการให้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กยศ. ซึ่งนำมาสู่ปัญหาและอุปสรรคตามมาที่เปลี่ยนโฉมหน้าตลอดหลายปีที่ผ่านและมีแนวโน้มที่น่ากังวล
อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ อาจจะช่วยผ่อนแรงปะทะสู่ลูกหนี้จำนวนมากที่เขาและเธอเหล่านั้นไม่เพียงแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษา หากแต่ยังหมายรวมถึงต้นทุนชีวิตทุกมิติ ที่มีราคาค่างวดสูงขึ้นในทุกๆ วัน
อ้างอิง: