หลังการต่อสู้ร่วมทศวรรษ ธนาคาร ANZ ออสเตรเลีย จ่ายเงินเยียวยาชาวบ้านกัมพูชา หลังถูกบริษัทน้ำตาลบังคับให้โยกย้ายจากที่ดินของตัวเอง

14 พฤศจิกายน 2564

จากกรณีที่ประชาชนกัมพูชากว่า 1,000 ครอบครัว ในจังหวัดกัมปงสปือ (Kampong Speu) ประเทศกัมพูชา ถูกบริษัทน้ำตาลพนมเปญ (Phnom Penh Sugar Company) บังคับให้ต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมในปี 2011-2012 เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนและโรงกลั่นน้ำตาล และต้องต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมมานานร่วมทศวรรษ

กระทั่งในเดือนตุลาคม 2014 องค์กร Inclusive Development International ได้ยื่นคำร้องเรียนธนาคาร ANZ ของประเทศออสเตรเลีย ในนามครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ต่อ Australian National Contact for Responsible Business Conduct หน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลียที่ส่งเสริมแนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำหรับการลงทุนข้ามชาติ และดำเนินการแก้ไขข้อเรียกร้องของการประพฤติมิชอบขององค์กร 

เนื้อหาการร้องเรียนได้แสดงรายละเอียดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทน้ำตาลพนมเปญ ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ANZ โดยระบุว่า ธนาคาร ANZ มีส่วนสนับสนุนและทำกำไรจากกิจกรรมเหล่านี้ผ่านการให้กู้ยืมแก่บริษัท และต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 หน่วยงาน Australian National Contact Point ได้จัดการประชุมเพื่อเจรจาประนีประนอมระหว่างคู่กรณี โดยธนาคาร ANZ ตกลงที่จะจัดหาเงินให้กับครอบครัวผู้พลัดถิ่นซึ่งเทียบเท่ากับกำไรที่ธนาคารได้รับจากเงินกู้ 

ทั้งนี้ องค์กร Equitable Cambodia และองค์กร Inclusive Development International ได้ทำงานร่วมกับตัวแทนชุมชนในการวางแผนดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบและเยียวยาอย่างทั่วถึง เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อการตั้งถิ่นฐานให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,096 ครอบครัวที่มีสิทธิ์ได้รับเงินทุน และดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งที่เท่าเทียมกัน โดยส่วนหนึ่งของกองทุนนี้จัดสรรไว้เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งออกแบบโดยชุมชนเอง แต่กระบวนการจ่ายเงินเยียวยายังเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 องค์กร Inclusive Development International ได้ออกแถลงการณ์ว่า ชาวบ้านกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นจะได้รับเงินเยียวยาค่าเสียหายจากธนาคาร ANZ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้แก่บริษัทน้ำตาลดังกล่าว โดยทางธนาคารตกลงที่จะจ่ายเงินให้ในปี 2020 และเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของ Inclusive Development International และ Equitable Cambodia องค์กรพัฒนาเอกชน 2 แห่งที่ช่วยชาวบ้านในการเจรจากับธนาคาร และได้รับมอบหมายให้เบิกจ่ายกองทุน พร้อมกับการเปิดตัวกลไกรับเรื่องร้องเรียนใหม่ของธนาคาร ANZ เพื่อจัดการกับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นการปิดคดีที่สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนรอคอยมายาวนานนับสิบปี

“ด้วยเงินจำนวนนี้ ชาวบ้านมากกว่า 1,000 ครอบครัวที่ถูกบังคับขับไล่ออกจากที่ดินของพวกเขาเอง กำลังจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้ว่าเงินค่าชดเชยความเสียหายนี้ไม่ได้ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานที่พวกเขาต้องทนมานานหลายปี แต่มันเป็นความช่วยเหลือที่สำคัญสำหรับครอบครัวในการฟื้นตัว และเรารู้สึกขอบคุณที่ ANZ ปฏิบัติตามสัญญา ในระหว่างนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อยุติข้อพิพาทเรื่องที่มีมายาวนานนี้” เอง วุฒิ กรรมการบริหารของ Equitable Cambodia กล่าว

“แม้ว่าธนาคารจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะจัดการเรื่องนี้ได้ แต่ในที่สุด ANZ ก็ตัดสินใจร่วมงานกับเราเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และในท้ายที่สุด การทำสิ่งที่ถูกต้องของธนาคารด้วยการจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัว จะช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของธนาคารได้ด้วยการลงมือแก้ไขปัญหา

“การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หมายถึง ถ้าคุณทำผิดพลาด คุณทำในสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้ไข ANZ ก็สมควรได้รับความน่าเชื่อถือจากความรับผิดชอบในกรณีนี้” ถ้อยคำของ เดวิด เพรด (David Pred) กรรมการบริหารของ Inclusive Development International 

“ฉันดีใจมากที่ ANZ ตกลงที่จะคืนกำไรจากการให้เงินกู้แก่บริษัทพนมเปญชูการ์ให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ มันแสดงให้เห็นความตั้งใจของ ANZ ที่จะรับผิดชอบต่อความจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมีความซาบซึ้งมาก ไม่เพียงแต่ครอบครัวของฉันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวอื่นๆ ทั้งหมดในชุมชนของฉันด้วย และเงินนี้จะช่วยฟื้นฟูชีวิตครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ” เซิง ชาที หญิงวัย 43 ปี ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตะเปียง อังกรอง เมืองโอรัล กล่าว

 

อ้างอิง

  1. ธนาคาร ANZ ออสเตรเลีย จ่ายเงินเยียวยาชาวบ้านกัมพูชา หลังถูกบริษัทน้ำตาลไล่ออกจากที่ดินของตัวเอง
  2. Cambodia: Securing compensation for ANZ-backed land grab