ธนาคารไทยดูแลธรรมชาติได้กี่คะแนน?
โลกร้อน อากาศเป็นพิษ ขยะล้นโลก และสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของมวลมนุษยชาติ
หากทุกคนในสังคมไม่ช่วยเหลือกัน ก็คงยากที่จะออกจากวังวนปัญหานี้ได้
ในฐานะขององค์กรที่ทำงานเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย หลายคนคงสงสัยว่า 'ธนาคาร' จะมีส่วนช่วยแก้วิกฤตนี้ได้อย่างไรบ้าง
Fair Finance Thailand นำคะแนนการประเมินธนาคารไทยจาก Fair Finance Guide พร้อมตัวอย่างที่น่าสนใจจากต่างประเทศ มาเล่าสู่กันฟัง
ท่ามกลางกระแสโลกซึ่งมองปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้เร่งด่วนที่สุด
น่าแปลกที่จากผลการประเมินธนาคารไทยตามเกณฑ์ Fair Finance International ทุกแห่งได้คะแนนเท่ากันหมด
นั่นคือ 0 คะแนน
คงไม่ใช่เพราะธนาคารไทย ไม่มีใจรักโลก แต่คงเป็นเพราะธนาคารไม่คิดว่าตัวเองต้องรับผิดชอบกับปัญหานี้ เนื่องจากเป็นเพียงผู้ปล่อยเงินกู้เท่านั้น ส่วนการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นภาระของผู้กู้ต่างหาก
นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ธนาคารไทยถึงไม่มีนโยบายสินเชื่อเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่า อุตสาหกรรมถ่านหินที่ปล่อยมลพิษ การค้าพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่อยู่ในรายการแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส ต่างจากธนาคารต่างประเทศหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้
คำถามสำคัญคือ ธนาคารไทยจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
เรื่องแรกที่ช่วยได้เลยคือ การปรับนโยบายของตัวเอง โดยเฉพาะการปล่อยเงินกู้ เพราะหากธนาคารเลือกสนับสนุนบริษัทที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ก็คงไม่ต่างจากการเป็นผู้ทำลายเสียเอง
ดังนั้นธนาคารจึงควรกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนว่า ควรจะสนับสนุนบริษัทที่ประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และไม่สนับสนุนบริษัทที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ
ทั้งนี้ ธนาคารสามารถใช้หลักการการคุ้มครองธรรมชาติระดับโลก ทั้งในด้านอนุรักษ์ระบบนิเวศ คุ้มครองสัตว์ป่า หรือแหล่งน้ำ ซึ่งมีอยู่แล้ว มาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายทางการเงินของตนได้ ดังนี้
ธุรกิจประเภทแรกที่ธนาคารไม่ควรสนับสนุน คือ บริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง
พื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง คือพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ดูแล ป้องกันไม่ให้เสียหาย ไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของโลกได้ เช่นป่าสงวน แหล่งอพยพของสัตว์ หรือแม้แต่สถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางสังคมและศาสนา โดยปัจจุบันมีเกณฑ์ที่นานาชาติให้การยอมรับ 4 มาตรฐาน ประกอบด้วย
1) พื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value Area) คือ พื้นที่ที่มีคุณค่าทางชีววิทยา นิเวศวิทยา สังคม หรือวัฒนธรรม ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ถือว่ามีความโดดเด่น และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
2) พื้นที่ระดับ I-IV ตามการจัดหมวดขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) คือภูมิภาคหรือบริเวณที่ได้รับการพิทักษ์หรืออนุรักษ์เพราะความมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพราะมีคุณค่าทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อวัฒนธรรม โดยรับการรับรองจากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ
3) พื้นที่มรดกโลกยูเนสโก (UNESCO World Heritage) คือ พื้นที่หรือจุดที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ
4) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่หายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และมีความสำคัญระดับชาติหรือระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์
ธุรกิจอีกประเภทที่ธนาคารไม่ควรสนับสนุน คือกิจการที่มีส่วนทำลายพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะที่อยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) หรือดัชนีรายชื่อเกี่ยวกับสถานภาพของสปีชีส์พืชและสัตว์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีการประเมินใหม่ทุก 5-10 ปี เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับระบบนิเวศ หากเกิดสูญพันธุ์ขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคาร แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1) ธนาคารควรหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำการค้าขายพันธุ์พืชหรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้พิจารณาได้ดีสุดคือ อนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ กว่า 35,000 ชนิด และได้รับการรับรองจาก 183 ประเทศทั่วโลก
2) ธนาคารควรหลีกเลี่ยงการสนับสนุนบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการค้าขายหรือนำเข้าพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ โดยสามารถพิจารณาได้จากการที่บริษัทนั้นมีมาตรการป้องการนำเข้าพืชพันธุ์หรือสัตว์ต่างถิ่นหรือไม่ เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มักเข้ามาสร้างความวุ่นวายแก่ระบบนิเวศที่มีอยู่เดิม หรืออาจพิจารณาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ (UN Convention on Biological Diversity) และแนวปฏิบัติบอนน์ (Bonn Guidelines) หรือพิธีสารนาโกยา (Nagoya Protocol) ที่สำคัญการผลิตหรือการซื้อขายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าและปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารคาร์ตาเฮนาเท่านั้น
ธุรกิจอีกประเภทที่ธนาคารสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อได้ คือบริษัทที่มีแผนการประเมินภาวะขาดแคลนน้ำ หรือป้องกันผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนไม่ก่อปัญหาแย่งชิงน้ำหรือทรัพยากรต่างๆ กับชุมชน
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ธนาคารควรมองภาพรวมของโครงการที่จะปล่อยสินเชื่อทั้งหมด โดยอาจกำหนดเป็นนโยบายปฏิบัติว่า "จะปล่อยสินเชื่อ ก็ต่อเมื่อ บริษัทที่ธนาคารให้สินเชื่อมีการประเมินผลกระทบโดยรวมของโครงการขนาดใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ"
เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อใช้วิธีแยกขอใบอนุญาตก่อสร้างเป็นโครงการย่อยๆ หลายโครงการ เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ต้องทำรายงาน EIA และ EHIA
เช่นกรณีโครงการท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพอมาดูภาพรวม กลับพบว่าเป็นโครงการท่าเรือขนาดใหญ่ และก่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษทางเสียงจากเครื่องจักรและฝุ่นจากการก่อสร้าง รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาจราจร และอุบัติเหตุตามมามากมาย เนื่องจากเส้นทางคมนาคมบริเวณท่าเรือมีขนาดเล็กและมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกตลอดเวลา
การประเมินเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ธนาคารทราบข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับโครงการแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่มีโอกาสเสียหายอีกด้วย
สุดท้ายนี้ เกณฑ์การพิจารณาอีกเรื่องที่ธนาคารควรใส่ใจด้วยคือ ธุรกิจที่ผู้ขอสินเชื่อติดต่อด้วยว่าเป็นอย่างไร
เพราะบางครั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดจากผู้ขอรับการสนับสนุนโดยตรง แต่มาจากคู่ค้าของบริษัทนั้น หรือที่เรียกว่า ‘ห่วงโซ่อุปทาน’
เช่นบริษัท ก. ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยลูกค้าหลักคือ บริษัท ข. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งก่อปัญหาในพื้นที่มากมาย
ธนาคารก็ควรมีสิทธิที่จะไม่สนับสนุนหรือให้สินเชื่อเช่นกัน
โดยธนาคารสามารถใช้ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท และเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า เป็นเกณฑ์การพิจารณาได้เช่นกัน