ทำไมธนาคารต้องใส่ใจความเท่าเทียมทางเพศ

24 ตุลาคม 2562

ธนาคารดำเนินธุรกิจอยู่กับความเชื่อถือของประชาชน

ในฐานะผู้ใช้บริการ เราคงหมดความเชื่อถือหากธนาคารเลือกปฏิบัติทางเพศกับเรา

และเราคงไม่ยินดีหากรับรู้ว่าธนาคารที่นำเงินไปฝากไว้ ปฏิบัติกับพนักงานด้วยความเหลื่อมล้ำทางเพศ เช่น ให้ค่าตอบแทนชายมากกว่าหญิง พิจารณาเลื่อนตำแหน่งจากเพศ หรือปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่เหยียดเพศ

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นประเด็นที่สังคมปัจจุบันให้ความสนใจ ดังนั้นธนาคารจึงควรนับเป็นความเสี่ยง หากมีการละเมิดเกิดขึ้น มีการฟ้องร้อง อาจทำให้เสียภาพลักษณ์ หมดความน่าเชื่อ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้พนักงานทั้งชายและหญิงมีแรงจูงใจในการทำงานและทำงานอย่างมีความสุข เพราะได้รับผลตอบแทนที่ควรได้รับ ได้สิทธิเสมอกัน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์กลับมาที่ความยั่งยืนของธนาคารและผู้ใช้บริการอย่างเราด้วย

ตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)

มีประเทศร่วมลงนามให้สัตยาบันทั้งหมด 99 ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการลงนามให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2543

อ่านเพิ่มเติม: https://en.wikipedia.org/wiki/Convention_on_the_Elimination_of_All_Forms_of_Discrimination_Against_Women

ปีที่ผ่านมาได้เกิดแคมเปญ Metoo เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ ลุกลามไปทั่วโลก จนนำไปสู่การต่อยอดเรื่องความเท่าเทียม และบทบาทของสตรีบนเวทีโลก อย่างในการประชุม G7 ใน 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ก็ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อหลักของการสนทนา และผลักดันไปสู่แนวทางปฏิบัติที่เป็นจริง
อ่านเพิ่มเติม: >> https://metoomvmt.org/about/
สำหรับอุตสาหกรรมธนาคาร ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง จึงไม่ควรละเลยโดยเด็ดขาด

ธนาคารในหลายประเทศที่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ เริ่มถูกตีแผ่มากขึ้น เช่นเกาหลีใต้ มีเผยว่าธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกุกมิน (KB Kookmin) ธนาคารเคอีบี ฮานา (KEB Hana) และธนาคารชินฮาน (Shinhan) นั้นคัดเลือกพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการคัดผู้สมัครหญิงออก รวมทั้งมีการโกงคะแนนไม่ให้ผู้สมัครหญิงผ่านการคัดเลือก โดยอัตราส่วนของผู้สมัครธนาคารชินฮานที่ผ่านการคัดเลือกระหว่างชายหญิงอยู่ที่สัดส่วน 3:1

อ่านเพิ่มเติม: http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180516000682

(ขอบคุณภาพจาก www.koreaherald.com)
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ นั้นถือเป็นหัวข้อสำคัญ โดย มาตรา 27 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ฯลฯ จะกระทำมิได้

หากแต่การประเมินของ Fair Finance Thailand ประจำปี 2561 กลับพบว่า ธนาคารไทยมีนโยบายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศน้อยมาก โดยเพียง 2 ธนาคารเท่านั้นเข้าข่าย คือ

1.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ระบุข้อความว่า ธนาคารมีระบบการกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมและเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย

2.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ระบุข้อความว่า ธนาคารมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงการคุกคามทางวาจา กายภาพ และทางเพศ (Zero Tolerance Policy)

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าธนาคารไทยจะไม่ได้ใส่ใจความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสตรี เพียงแต่อาจไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน หรือประกาศไว้นโยบายให้สาธารณชนได้รับรู้
เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง ธนาคารไทยจึงควรกำหนดประเด็นนี้ลงในนโยบายของธนาคาร

พร้อมกับมอบหมายให้คณะกรรมการ หรือฝ่ายกำกับดูแลกิจการ คอยทำหน้าที่ตรวจสอบ รับผิดชอบ ตลอดจนบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นมาในอนาคต
เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ธนาคารจึงควรกำหนดเรื่องความก้าวหน้าอย่างชัดเจน และไม่นำเรื่องเพศสภาพมาเป็นอุปสรรคในการพิจารณา

- ตำแหน่งเดียวกัน เงินเดือนใกล้เคียงกันไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ

- ความก้าวหน้าทางอาชีพ เข้าถึงตำแหน่งบริหารและกรรมการบริษัท ควรเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

- สัดส่วนของผู้บริหารและกรรมการ ควรเป็นอย่างเหมาะสม และมีความเสมอภาคทางเพศ
โดยทั้งหมด ควรระบุไว้อย่างชัดเจนในระเบียบปฏิบัติของบริษัท
เพราะลูกค้าคือคนสำคัญ ธนาคารจึงความวางมาตรการการดูแลอย่างเสมอภาค และไม่นำเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการบริการของพนักงาน การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การพิจารณาสินเชื่อ เป็นต้น
นโยบายความเท่าเทียมทางเพศของธนาคารควรรวมถึงกิจกรรมที่ธนาคารไปลงทุน หรือกิจการที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินด้วย เช่น

- สนับสนุนบริษัทที่ไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบ (Zero Tolerance Policy) เนื่องจากบริษัทที่มีความเหลื่อมล้ำมีโอกาสถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือฟ้องร้องดำเนินคดี และอาจทำให้ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อตกเป็นจำเลยของสังคมว่าสนับสนุนการกระทำเช่นนี้

- กำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและแนวทางการปฏิบัติ โดยเน้นการจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทที่มีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

- บริษัทที่ธนาคารทำธุรกรรมด้วย จะต้องทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสตรี
หากทั้งหมดนี้เกิดขึ้น จะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ธนาคารได้รับความเชื่อถือ พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ลูกค้าได้รับการบริการอย่างเสมอภาค บริษัทที่ใช้บริการกับธนาคารก็ให้ความสำคัญในประเด็นเดียวกัน

ในที่สุดผลลัพธ์จะขยายไปจนกลายเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง