อาจิน จุ้งลก: เลิกทาสดอกเบี้ย ปลดล็อก พ.ร.บ.ล้มละลาย คืนชีวิตใหม่ให้ลูกหนี้

29 เมษายน 2565

ประสบการณ์ตรงจากการเป็นลูกหนี้ที่เคยเผชิญวิบากกรรมจากพิษเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540 จนถึงขั้นเคยคิดจะฆ่าตัวตาย ทำให้ อาจิน จุ้งลก รู้ซึ้งถึงหัวอกของคนเป็นหนี้เป็นอย่างดี 

หลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยว ทำให้เธอได้พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรม จนเกิดการรวมตัวกันในนาม ‘มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปลูกหนี้’ ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และหาทางออกให้แก่บรรดาลูกหนี้ทุกประเภท 

ประสบการณ์จากการทำงานช่วยเหลือลูกหนี้มากว่า 20 ปี สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ไปเป็นจำนวนไม่น้อย มีการจัดอบรมลูกหนี้กว่า 2,000 คน ให้พัฒนาขึ้นมาเป็นจิตอาสา ‘หมอแก้หนี้’ และจัดตั้งเป็นเครือข่ายอาสาสมัครกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ 

ทว่าการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามกำลังจิตอาสาอาจยังมิใช่หนทางที่ยั่งยืนนัก เมื่อต้องพบกับอุปสรรคทางกฎหมายที่ไม่เอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

โดยเฉพาะกระบวนการฟื้นฟูหนี้สินภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับปัจจุบันที่เปิดช่องให้แก่ลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ กับเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ประตูกลับปิดตายสำหรับลูกหนี้รายเล็กรายน้อยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป 

ความไม่เท่าเทียมและช่องว่างของกฎหมายนี้ จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อผลักดันให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอหน้า 

อยากให้ช่วยเล่าที่มาของมูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปลูกหนี้ และบทบาทในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปลูกหนี้ แต่เดิมเราคือกลุ่มลูกหนี้ที่เจอวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หลังจากนั้นจึงรวมตัวกันเมื่อปี 2545 ประมาณสัก 40 คน เป็นลูกหนี้ที่เจอกันโดยบังเอิญจากการไปร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง จนมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติขึ้นมา โดยจะดูประเด็นเรื่องกฎหมายเป็นหลัก และมีการฝึกอบรมให้ความรู้กับจิตอาสาเพื่อไปเป็นหมอแก้หนี้ ซึ่งก็คือตัวแทนลูกหนี้ที่แก้หนี้ของตัวเองได้สำเร็จ และอยากช่วยเหลือลูกหนี้คนอื่นๆ ต่อไป เพราะเข้าใจความทุกข์จากการเป็นหนี้เหมือนกัน 

เราเริ่มจากการอบรมถ่ายทอดประสบการณ์ของแต่ละคน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนมีหนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้บ้านกันเท่าไหร่ แล้วสอนเรื่องการบริหารจัดการเงิน เรียนรู้จากสื่อต่างๆ บ้าง จากครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง แล้วก็มาลงมือทำ 

การเป็นหนี้คือความทุกข์และเป็นความรุนแรงทางแพ่งอย่างหนึ่ง หนี้แต่ละประเภทมีความซับซ้อนต่างกัน เช่น หนี้บ้านถือเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ส่วนหนี้บัตรเครดิตไม่มีหลักประกัน แต่ดอกเบี้ยสูงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ หนี้รถก็จะเป็นเรื่องการเช่าซื้อ ซึ่งจะมีความละเอียดอ่อนของปัญหาและกฎกติกาไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นหนี้นอกระบบก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง 

หลังจากที่เราศึกษา เรียนรู้ ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จึงจัดตั้งเป็นชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ในปี 2552 เราได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครของกรุงเทพมหานครในการสำรวจหนี้ เชิญแกนนำจากกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมทำข้อมูล และสรุปประเด็นเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เรามีข้อเรียกร้องว่าขอให้มีกฎหมายฟื้นฟูหนี้บุคลธรรมดา เพราะกฎหมายเดิมครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ ซึ่งคนอย่างเราๆ เข้าไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดแนวคิดว่าถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาจะสามารถช่วยลูกหนี้ที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปได้โดยไม่จำกัดว่าต้องมีหนี้ขั้นต่ำเท่าไหร่ เพราะการมีหนี้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็เป็นปัญหาเหมือนกัน 

ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรองรับหรือเยียวยาลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาเลยหรือ

ไม่มี ต่างคนต่างทำ จะเรียกแบบนั้นก็ได้ มันไม่บูรณาการ ถามว่าลูกหนี้ในระบบจะไปพึ่งใครได้ ก็ต้องหวังพึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เขามีหน่วยที่เรียกว่าคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะดูแลเฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้นถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ เมื่อไม่นานมานี้แบงก์ชาติก็เพิ่งจัดให้มีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันนี้ดีมากเลยนะคะ และอยากเรียกร้องให้แบงก์ชาติทำต่อด้วย เพราะบางคนเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วจะถูกยึดบ้าน หรือเป็นหนี้ กยศ. จะถูกยึดบ้าน ซึ่งมันเป็นปัญหาไขว้กัน เขาก็ไม่รู้จะหันไปหาใคร 

ทีนี้เรามามองในแง่การจัดการที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือไม่ครบวงจร ต่างคนต่างทำ ถ้าหนี้ในระบบเราก็ไปแบงก์ชาติได้ แต่ถามว่ามีหน่วยงานอะไรอีกบ้างที่สามารถเดินเข้าไปแล้วแก้ปัญหาได้เลย ตอนนี้ตอบได้ว่ายังไม่มี ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาระบบที่จะตอบโจทย์ลูกหนี้ได้อย่างครบวงจรต่อไป

สำหรับลูกหนี้นอกระบบ ทุกวันนี้มีศูนย์ดำรงธรรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็มีทหารดูแลตรงส่วนนี้ด้วย ส่วนใหญ่จะเจรจาบนพื้นฐานความชอบธรรมของเจ้าหนี้ เวลาเจ้าหนี้พูดอะไรมา ลูกหนี้ก็นั่งตัวงอไม่มีปากมีเสียง ยิ่งมีหน่วยงานรัฐและทหารยืนอยู่ด้วยนี่ยิ่งตกใจเลย เสร็จเจ้าหนี้อีก ถามว่าจริงๆ แล้วคนที่มาไกล่เกลี่ยต้องรู้อะไรบ้าง หรือเห็นความรุนแรงของปัญหาหรือเปล่า เคยถามเขาบ้างไหมว่ากู้มา 100 รับเงินจริงกี่บาท ต้องชำระคืนเท่าไหร่ คิดดอกเบี้ยกันอย่างไร ฉะนั้นการทำงานของศูนย์ดำรงธรรมถือว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

อีกหน่วยงานหนึ่งคือ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งตอบโจทย์มาก ถือเป็นที่พึ่งของลูกหนี้นอกระบบได้ อีกหน่วยงานที่ทำงานได้ค่อนข้างดี คือ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ซึ่งน่าจับตามาก เนื่องจากมีข้อมูลค่อนข้างละเอียดในแง่การสอบสวนหนี้ เพียงแต่เวลาลูกหนี้ตาสีตาสาเจอเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการก็ตัวลีบอีก ไม่กล้าพูด ฉะนั้นควรมีอาสาสมัครหรือคนกลางในการเจรจา ก็จะช่วยคลายบรรยากาศลงได้ 

ทั้งหมดนี้ถ้าภาครัฐทำงานแบบบูรณาการ โดยมีกฎหมายฟื้นฟูหนี้สินบุคคลธรรมดาขึ้นมารองรับ ทุกอย่างจบเลย ทุกคนเดินเข้าไปขอรับบริการแบบ one stop services ที่เดียวจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น สำนักงานอัยการ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรือมีตัวแทนภาคประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาร่วมทำงานด้วยก็จะช่วยลูกหนี้ได้มาก เขาไม่ต้องวิ่งไปไหนเลย ไปที่เดียวจบทุกเรื่อง

ถ้ามีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้การช่วยเหลือลูกหนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไรบ้าง

อย่างน้อยก็ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องและสามารถส่งต่อได้ ทั้งลูกหนี้ในระบบ นอกระบบ และการฟื้นฟูหนี้ควรจะครอบคลุมทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต แล้วใช้หลักการบริหารจัดการด้วยเบี้ยเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามกฎหมาย สมมติลูกหนี้มีเงินเดือนประมาณ 50,000 ต้องแบ่งเป็นค่ากินอยู่ 20,000 อีก 30,000 นำไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ผ่านกระบวนการจัดทำแผนชำระและฟื้นฟูหนี้ ซึ่งจะมีการพูดคุยประนอมหนี้ และเจรจากันว่าเจ้าหนี้รายใดควรจะได้รับชำระก่อน กี่เปอร์เซ็นต์ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระของลูกหนี้เป็นเกณฑ์

เบี้ยเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามกฎหมาย คืออะไร

เบี้ยเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามกฎหมายแพ่งที่กรมบังคับคดีใช้อยู่ตอนนี้ หมายถึงว่าเวลาลูกหนี้ถูกหักเงินเดือนหรืออายัดเงินเดือน สำนักงานบังคับคดีจะคืนเงินจำนวนหนึ่งให้กับลูกหนี้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงชีพ ส่วนที่เหลือจะเอาไปชำระหนี้ ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการก็กำลังทำเรื่องนี้อยู่ โดยเงินเดือนของข้าราชการครู หลังหักหนี้แล้วครูต้องเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่พอหรอก แต่อย่างน้อยก็ต้องมีการจัดการเรื่องนี้ ต้องมีคนกลางมาช่วยทำและติดตามผล เพื่อให้ครูเข้าถึงกระบวนการฟื้นฟูหนี้ได้ 

ทางมูลนิธิฯ เคยทำการสำรวจหนี้ ปรากฏว่าครูรายหนึ่งมีหนี้ประมาณ 9 ล้านกว่าบาท พอเงินเดือนออกก็ถูกหักหน้าซองเกือบหมด เหลือติดตัว 600 กว่าบาท จนครูต้องไปหารายได้ทางอื่น ต้องไปกู้นอกระบบเพื่อมาชำระหนี้ในระบบและเอาไว้เป็นค่ากินอยู่ แม้เงินกู้นอกระบบจะมีดอกเบี้ยสูงก็ต้องยอม แต่ถ้ามีกฎหมายฟื้นฟูหนี้บุคคลธรรมดาจะช่วยปลดล็อกได้ คือเอาหนี้ทั้งหมดออกมากาง แล้วกันเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นค่ากินอยู่ เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถ้าไม่มีพลังงานมาหล่อเลี้ยง มันก็พังได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องให้เขาเหลือเงินไว้กินไว้ใช้ ส่วนที่เหลือก็เอามาทำแผนชำระหนี้ 

เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ปรับระดับของปัญหา หนี้ก้อนไหนระยะสั้นก็จ่ายไปก่อน หนี้ก้อนไหนระยะยาวก็ค่อยกระเถิบไป พอเขาปลดหนี้หมดไปทีละเจ้าๆ เขาก็จะมีกำลังใจ เหมือนพบแสงสว่าง เจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระ วินทั้งคู่ 

ปัญหาคือเมื่อกฎหมายไม่เปิดช่องให้กับลูกหนี้บุคคลธรรมดา จึงไม่มีช่องทางแก้ไขที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันให้กับลูกหนี้ทุกคน? 

ปัญหาก็คือขาดกระบวนการตรงนี้แหละ ยิ่งนาทีนี้รัฐยิ่งต้องมาช่วย เพราะวิกฤติโควิดกระทบกระเทือนไปหมด ถ้ามีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันออกแรงก็จะช่วยผลักดันต่อไปได้ เช่น ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนของกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ สำนักงานอัยการกว่า 100 แห่ง ซึ่งมีภารกิจหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้และจัดการหนี้นอกระบบ 

หน่วยงานกลางที่จะมารับผิดชอบตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรองรับก่อนไหม

หากมีกฎหมายรองรับ อย่างน้อยที่สุดทุกอย่างก็จะถูกนำมาพูดคุยบนโต๊ะเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ลูกหนี้ก็จะได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ส่วนเจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระเงิน ได้รู้วันเวลาที่ชัดเจนขึ้น ถ้ามองในมุมนี้ก็เหมือนกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั่นเอง 

จากการทำงานของมูลนิธิฯ ที่ผ่านมามองเห็นความทุกข์ร้อนของลูกหนี้อย่างไรบ้าง

ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จะไปไหน ก็ยกหูโทรศัพท์หาหน่วยงานต่างๆ บางคนก็เสิร์ชอินเทอร์เน็ต ถ้าเจอมูลนิธิฯ ก็โชคดีไป เราสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานอื่นได้ แต่การรีเฟอร์คนไข้ยังไม่มีการเชื่อมกันเท่าไร เรายังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนนักว่าส่งไปแล้วเขาแก้อะไรได้บ้าง 

จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2542 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เคยคิดถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย ต้องใช้เวลา 3 ปี กว่าจะไปเจอเพื่อนที่เป็นลูกหนี้แล้วมาทำงานด้านนี้ด้วยกันในปี 2545 รองเท้าสึกไปเยอะ เดินไปทุกที่ที่คิดว่าจะมีแสงสว่าง คำแนะนำแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน 

โดยส่วนตัวมีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้รถ เงินเดือนถูกลดอีก บัตรเครดิตทวงอีก ในขณะที่ถ้าเราไม่เจอวิกฤติ ปัญหา 3-4 อย่างนี้เราก็สามารถที่จะจัดการได้ แต่พอเจอวิกฤติเงินเดือนลดลงโดยที่เราไม่ได้เป็นคนทำ ถ้ามองในฐานะมนุษย์ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ลูกหนี้ไม่ใช่คนเลวนะ เราหาเงินให้เจ้าหนี้ทำกำไร เราจ่ายดอกเบี้ยให้ เมื่อไหร่ที่เซ็นสัญญาเงินกู้ เมื่อนั้นถือว่าเราเป็นทาสดอกเบี้ย แต่พอเราพัง กลับไม่มีใครมาช่วยเราเลย 

วิกฤติหนี้จากสถานการณ์โควิด-19 แตกต่างจากต้มยำกุ้งอย่างไรบ้าง

ตอนที่เกิดต้มยำกุ้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะครั้งนี้คือทุกคน ทุกสาขาอาชีพกระทบหมด มีคนฆ่าตัวตาย มีความเครียด มีความทุกข์ ถูกติดตามทวงถามหนี้ แล้วไม่รู้จะไปไหน การที่ลูกหนี้ไม่มีความรู้ในเรื่องหนี้ ไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือมาช่วยเหลือหรือรองรับคนเหล่านั้น บางกรณีจึงจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย แล้วหลังความตายของเขา หนี้ก็ยังอยู่ กลายเป็นมรดกหนี้ที่ถูกส่งต่อให้คนที่เขารักอีกที 

ความซับซ้อนของหนี้ในระบบกับหนี้นอกระบบ แตกต่างกันอย่างไร

ถ้ามองในแง่ความรุนแรง หนี้นอกระบบอาจยังไม่รุนแรงเท่าหนี้ในระบบด้วยซ้ำ อย่างหนี้นอกระบบ ถ้าเราเอาที่ดินไปจำนองกับเขาไว้ พอถึงเวลาแล้วไม่ไปไถ่ที่ดินคืนก็หลุดออกไป เหมือนเอาทองไปจำนำ ถ้าเราไม่ไปไถ่คืน เขาก็ยึดทองเราไป แล้วก็จบ แต่ถ้าเป็นหนี้ในระบบต้องฟ้องร้องกันอีกยาว สมมติกู้เงินซื้อบ้าน ถ้าผ่อนไม่ไหวก็ถูกยึดบ้านไป แต่หนี้ก็ยังไม่หมด เขาจะมาบีบบังคับเราไปอีก 10 ปี ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้ยังมีสิทธิทวงถามหนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลา 10 ปี แล้วก็ไล่บังคับคดีไปเรื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น 

แต่หากมีกฎหมายฟื้นฟูหนี้สินบุคคลธรรมดา ทุกอย่างจะจบในกระบวนการ เริ่มจากหยุดการบังคับคดีเพื่อเข้าสู่การจัดแผนการชำระหนี้กันใหม่ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้กันใหม่ ซึ่งกฎหมายนี้ควรจะครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท แต่หากใครถูกฟ้องล้มละลายก็ต้องไปเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายล้มละลายต่อไป

พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อลูกหนี้อย่างไรบ้าง 

อย่างกรณีข้าราชการ ถ้าถูกฟ้องล้มละลายและศาลมีพิพากษาแล้วต้องออกจากราชการไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วการฟ้องล้มละลายก็เพื่อตัดหนี้สูญทางบัญชีเท่านั้น แต่สำหรับข้าราชการมันกระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หมดเลย เพราะต้องออกจากราชการ เพื่อนบ้านก็ไม่อยากคุยด้วย เพราะกลัวจะไปยืมเงินเขา ทุกคนพากันพูดว่าคนนี้ล้มละลาย แต่หารู้ไม่ว่าก่อนที่เขาจะล้มละลาย เขาถูกกระบวนการอะไรกระทำมาก่อน เหยื่อไม่มีโอกาสพูดเลย นี่คือความรุนแรงทางแพ่งอย่างหนึ่ง

จากที่เล่ามา นอกจากมุมมองจากฝั่งลูกหนี้แล้ว เรามองเห็นฝั่งเจ้าหนี้ด้วยหรือเปล่าว่าเขามีธรรมาภิบาลในการปล่อยสินเชื่อไหม แล้วถ้าเอาทั้งสองอย่างมาชั่งน้ำหนักกัน ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ 

ถ้าลองสำรวจหนี้แล้วเอามากาง เราจะเห็นภาพรวมว่าเกิดหนี้ได้อย่างไร คนพิจารณาสินเชื่ออย่างไร สินเชื่อที่ปล่อยออกมามีมาตรฐานในการกำกับดูแลมากพอไหม หรือบางทีก็ปล่อยสินเชื่อพร้อมกันหลายเจ้าโดยที่ไม่ได้ดูเครดิตบูโรของลูกหนี้เลย แล้วจะมาโทษลูกหนี้ฝ่ายเดียวได้ยังไง เพราะฉะนั้นคนที่ควรจะระมัดระวังด้วยก็คือเจ้าหนี้ หากมองตามหลักความเป็นจริงก็ถือว่าเป็นการประมาทร่วม

พูดถึงความเป็นธรรม สิทธิของลูกหนี้ที่ควรจะมี ได้แก่อะไรบ้าง

อันดับแรกคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ก่อนจ่อปากกาเซ็นสัญญา เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินควรบอกด้วยว่าในสัญญาฉบับนี้มีอะไรบ้าง หากเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้มาติดตามทวงถาม หรือก่อนที่เขาจะเปิดซองบัตรเครดิต เขาต้องได้รับข้อมูลตรงนั้นก่อนว่า ดอกเบี้ยจากหนี้บัตรเครดิตกี่เปอร์เซ็นต์ และเมื่อใช้บัตรแล้วคุณต้องชำระคืนให้หมดภายในรอบบิลนั้น ไม่ใช่จ่ายขั้นต่ำ มิฉะนั้นมันจะพอกพูนไปเรื่อยๆ เพราะถ้าจ่ายขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ มันจะตัดแค่ดอก แต่ไม่ได้ตัดเงินต้น 

เพราะฉะนั้นขอเถอะ คู่ค้าในฐานะที่เป็นแหล่งทุน น่าจะตอบแทนลูกค้าบ้างด้วยการบอกข้อมูลให้หมดว่า ฉันจะคิดดอกเบี้ยคุณแบบนี้นะ มีเงื่อนไขแบบนี้นะ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ ลูกหนี้ทุกคนมาถึงก็เซ็นสัญญาเลย แต่ไม่ได้บอกเลยว่าสัญญาที่เซ็นไป 5-6 หน้า มันหมายถึงอะไร ข้อควรปฏิบัติมีอะไรบ้าง ทั้งที่เป็นสิทธิเบื้องต้นที่ลูกหนี้ควรได้รับรู้ 

มีข้อกังวลบางอย่างว่า ถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้ จะกระทบต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้เองไหม 

เท่าที่มองนะคะ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์ เพราะมีคนมาช่วยจัดการหนี้ให้โดยไม่ต้องทวงถามเอง ตรายางที่จะประทับจากศาลก็คือ แผนการฟื้นฟูหนี้ที่ผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ทุกรายแล้ว ส่วนลูกหนี้มีหน้าที่ในการทำตามแผน ถ้าทำไม่ได้ต้องถูกถอดออกจากแผน แล้วกลับไปเป็นแบบเดิม ไม่มีใครช่วยเหลือได้อีก 

สิ่งที่ลูกหนี้จะได้จากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือ ได้รับโอกาสในการจัดระเบียบชีวิตใหม่ ให้ตัวเองอยู่ได้ ชำระหนี้ได้ วินทั้งคู่ ไม่มีใครได้ใครเสีย ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูหนี้จะช่วยกำหนดกรอบระยะเวลา รวมถึงเงินต้นและดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระคืน เกมนี้จึงเหมือนเปิดหน้าไพ่เล่นกัน แฟร์ดีลทั้งคู่ ไม่ต้องหาวิธีซิกแซก เปิดหน้าไพ่กันไปเลย กู้มาเท่าไหร่ จ่ายไปแล้วเท่าไหร่ จะลดต้นลดดอกอย่างไร ว่ากันซึ่งหน้าไปเลย ลูกหนี้มีรายได้เท่านี้ เก็บไว้กินเท่านี้ ที่เหลือเอาไว้ใช้หนี้ ส่วนจะใช้หนี้ใครก่อน ก็ตกลงกันตามมติในที่ประชุมเจ้าหนี้ 

ที่ผ่านมาเจ้าหนี้มักจะมองว่า ลูกหนี้นิสัยไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีวินัยทางการเงิน แต่ไม่เห็นสภาพชีวิตจริงของลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะรายได้ทั้งก้อนของเขาถูกเอาไปชำระดอกเบี้ยหมดเลย เหมือนข้าราชการที่เป็นหนี้สหกรณ์ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณก็ยังเป็นหนี้สหกรณ์อยู่ หรือเกษตรกรที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. ก็เป็นหนี้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามาจนรุ่นหลานก็ยังเป็นหนี้ ธ.ก.ส. อยู่ ทีนี้ก็ต้องกลับมาถามว่า เจ้าหนี้คิดอะไรอยู่ เขาต้องการให้เราตกเป็นทาสดอกเบี้ยแบบนี้เหรอ ทำอย่างไรเราถึงจะเลิกทาสดอกเบี้ยได้ แล้วทุกอย่างจบกัน 

มีโอกาสแค่ไหนที่ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย จะได้รับพิจารณา

มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้ไปยังหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร และเสนอไปยังสภาองค์กรผู้บริโภค ซึ่งรวดเร็วมาก ท่านเข้าถึงและเข้าใจในปัญหาผู้บริโภค รวมถึงศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ของกรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยกันทำงาน  

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ตัวลูกหนี้เองต้องเปิดใจและมีความจริงใจในการพาตัวเองออกสู่ปัญหา อย่างน้อยที่สุด เราหวังว่ากระบวนการแก้ปัญหาหนี้จะมีความเป็นธรรมมากขึ้น เลิกเป็นทาสดอกเบี้ยถาวรสักที หากมีแผนฟื้นฟูหนี้ เจ้าหนี้ก็จะได้เท่ากันทั้งหมดทุกเจ้า ไม่ใช่มีเจ้าใดเจ้าหนึ่งเขย่งอยู่เจ้าเดียว แล้วหนี้จะค่อยๆ หมดไป