เช็คอาการเศรษฐกิจไทย ฟื้นฟูอย่างไรหลังโควิด-19

20 พฤศจิกายน 2563

กว่าครึ่งปี 2563 ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหนัก ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อย, กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีผู้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เป็นจำนวนมาก
.
โดยยอดให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งรวมทั้งการพักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ล่าสุด (31 ก.ค. 63) มียอดสูงถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมเป็นยอดหนี้ 7.2 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และ Non-Banks จำนวน 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.3 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) จำนวน 6.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวมทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท
.
ส่วนภาพรวมของประเทศ จากรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ในหัวข้อ “From Containment to Recovery” (จากควบคุมการระบาดสู่การฟื้นฟู) เผยให้เห็นว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดของโควิด-19 กับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ส่วนการประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นถึงแม้บ้านเราจะมีมาตรการรับมือกับการระบาดได้เป็นอย่างดี แต่กลับมีอัตราการเติบโตน้อยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
.
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มองว่ามาตรการในการเยียวยาประชาชนยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้น้อย ควรปรับให้มุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้มีอุปสงค์อย่างแท้จริง จะสามารถสร้างความมั่นใจและจูงใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น
.
นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว เช่น นโยบายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างงานเพิ่มขึ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
.
ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่าทั้งวัคซีนสำหรับรักษาโควิด-19 และนโยบายที่จะมาช่วยรักษาอาการเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลางถึงระยะยาวจะออกมาเป็นอย่างไร
.
แม้ทั้ง 2 อย่างจะไม่สามารถฟื้นฟูได้ในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เราทุกคนจะผ่านมันไปด้วยกัน
.
ที่มา