แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 สมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย 1 บริษัท และองค์กรภาคประชาสังคม 4 องค์กร ที่มีความสนใจร่วมกันในการติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และประสงค์จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ เว็บไซต์ www.fairfinanceguide.org) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรก 

สมาชิกแนวร่วม Fair Finance Thailand ได้แก่

  1. บริษัท ป่าสาละ จำกัด
  2. International Rivers
  3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
  5. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

ความเป็นมาของแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรม

แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมริเริ่มในปี พ.ศ. 2552 โดยองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัย PROFUNDO และแนวปฏิบัตินี้ได้ถูกนำมาใช้ในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเครือข่ายแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมดำเนินงานใน 9 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ เบลเยี่ยม บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ในแต่ละประเทศจะมีแนวร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดำเนินกิจกรรมหลักได้แก่ การวิจัย การติดตามตรวจสอบ การรณรงค์ต่อสาธารณะ และการหารือกับภาคการเงิน ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ

การประเมินคุณภาพของนโยบายและการปฏิบัติของธนาคารภายใต้กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนในหัวข้อเฉพาะด้านและเผยแพร่คะแนนการประเมินช่วยเพิ่มแรงกดดันจากสาธารณะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการลงทุนของธนาคาร โดยองค์กรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมในแต่ละประเทศ สามารถใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินในการหารือและส่งอิทธิพลต่อหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคาร ในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเงินที่เป็นธรรม เช่น ผ่านการทำงานของรัฐสภาหรือสื่อมวลชน 

แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรม คือ ดัชนี และ เครื่องมือ สำหรับผู้บริโภค ในการเจรจาต่อรอง การรณรงค์ การให้การสนับสนุน การมีส่วนร่วมในภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเงินที่เป็นธรรม

ในปี พ.ศ. 2559 องค์กรภาคประชาสังคม 39 หน่วยงาน ได้ดำเนินงานตามแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมใน 9 ประเทศ สามารถเข้าถึงบุคคลทั่วไปกว่า 4 ล้านคน ผ่านทางช่องทางทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค ในขณะที่เว็บไซต์แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรม มีสถิติผู้เข้าเยี่ยมชมมากกว่า 400,000 คน  ในปี พ.ศ. 2560 เพียงปีเดียว มีประชาชนส่งข้อคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนต่อธนาคารที่ตนใช้บริการมากกว่า 60,000 คน

ในปี พ.ศ. 2559 นโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน 95 แห่งใน 9 ประเทศถูกประเมินด้วยหลักเกณฑ์การประเมินกว่า 422 ข้อ (ซึ่งผ่านความเห็นชอบระหว่างประเทศ) และเครือข่ายแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมได้จัดทำกรณีศึกษา 45 ชิ้น ซึ่งเปรียบเทียบนโยบายกับการปฏิบัติจริงของธนาคาร รวมถึงได้ออกรายงานเปรียบเทียบการลงทุนในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานทดแทนของธนาคาร 75 แห่งทั่วโลก ในรายงานชื่อ “Undermining our Future” โดยใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2558

สมาชิกในแนวร่วมแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมได้จัดประชุมร่วมกับธนาคารต่าง ๆ มากกว่า 100 ครั้งนอกเหนือจากการติดต่อผ่านทางอีเมล์หรือโทรศัพท์ ซึ่งการประชุม 25 ครั้งจัดขึ้นในหลายประเทศโดยมีวุฒิสมาชิกหรือสมาชิสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุม กิจกรรมทั้งหมดนี้นำไปสู่การตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคาร 25 แห่งทั่วโลก

เป้าหมายของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม

คือ การนำมุมมองด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance นิยมย่อว่า ประเด็น ESG) มาบูรณาการกับนโยบายและการดำเนินงานของธนาคารรวมถึงธุรกิจที่ได้รับการลงทุนจากธนาคาร นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น การลดการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงเรื่องการค้าอาวุธ และการยึดครองที่ดิน รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาการบริการทางการเงินสำหรับผู้ผลิตรายย่อย และการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นธรรมมากขึ้น

แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติสนับสนุนการบูรณาการและประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม หลักธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร รวมถึงลูกค้าของธนาคารซึ่งดำเนินงานในประเทศกำลังพัฒนา

แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแข่งขันสู่การเป็นที่หนึ่งระหว่างธนาคารภายใต้กรอบการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน โดยใช้เครื่องมือดังต่อไปนี้

  • เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกบริการทางการเงินด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง
  • เปิดช่องทางโดยตรงให้ลูกค้าของธนาคารสามารถเสนอข้อคิดเห็น ข้อร้องเรียน หรือเปลี่ยนธนาคารที่ใช้บริการ
  • เสนอบรรทัดฐาน (benchmarks) ที่สถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลสามารถนำไปใช้พัฒนาการดำเนินงานให้มีความรับผิดชอบ เป็นธรรม และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
  • รณรงค์เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้ระบบการเงินโลกมีความเป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive)