ย้อนดูผลประเมิน 3 ปีธนาคารด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ ธนาคารใดทำคะแนนได้ดีที่สุด

08 พฤศจิกายน 2564

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มิติด้านการเงินจึงยึดโยงอยู่กับพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้บทบาทของธนาคารในฐานะผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางของระบบเงินตราในปัจจุบันจึงถูกเรียกร้องให้มองไปไกลกว่าเพียงแค่การดูแลรักษาระบบการหมุนเวียนของเงิน แต่รวมไปถึงสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ผู้ถือเม็ดเงินเหล่านั้นด้วย

จากแนวคิดนี้ทำให้หมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ ถูกบรรจุเข้าไปเป็น 1 ใน 9 หมวดหลักของการประเมินธนาคารพาณิชย์ไทยตามมาตรฐานแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ทั้ง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยการมีฐานคิดที่ว่าธนาคารไทยควรใส่ใจต่อการเป็นผู้รับผิดชอบหากตนเองมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสังคมที่ในหลายกรณีไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้ การนำข้อมูล นโยบาย และแถลงการณ์ของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มาประเมินคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนให้สาธารณชนรับทราบเป็นประจำทุกปี จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะผลักดันมาตรฐานใหม่ของธนาคารไทยให้ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคะแนนในหมวดอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรงของธนาคารที่มีทิศทางพุ่งสูงขึ้นชัดเจนกว่า

2561: ปีแรกในการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารไทย 

การประเมินของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ครั้งแรกมีการใช้เกณฑ์การประเมินทั้งสิ้น 12 หมวด โดยแบ่งเป็น 9 หมวดหลักขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล และเกณฑ์ทางเลือกที่เหมาะกับบริบทประเทศไทยอีก 3 หมวด โดยสิทธิมนุษยชนถูกบรรจุเอาไว้เป็นหมวดหลักขั้นต่ำที่มีทั้งหมด 13 ข้อ โดยการประเมินครั้งแรกในปี 2561 พบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า มีธนาคาร 2 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่งที่สามารถทำคะแนนในหมวดสำคัญดังกล่าวนี้

หมวดสิทธิมนุษยชนในปีแรกนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยสามารถทำคะแนนไปได้ 1 ข้อ จากทั้งหมด 13 ข้อ เนื่องจากทั้งสองธนาคารมีประกาศเผยแพร่แก่สาธารณชนว่า ทางธนาคารเคารพต่อ ‘หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ’ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ทำให้คะแนนหมวดสิทธิมนุษยชนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.71 จากคะแนนรวมทั้งหมดในทุกๆ หมวด ในขณะที่ธนาคารอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประเมินยังไม่มีนโยบายหรือประกาศใดๆ ที่จะสามารถนำมาคำนวณเป็นคะแนนในหมวดดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม การได้คะแนนเพียงข้อเดียวในหมวดนี้ของทั้งสองธนาคารนับว่ายังไม่มากเพียงพอ เนื่องจากคะแนนในข้ออื่นๆ เช่น การมีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน การมีกระบวนการที่นําไปสู่การเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเชิงลบที่บริษัทเป็นผู้ร่วมก่อ การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า หรืออื่นๆ ยังคงเป็น 0 คะแนน ทำให้การคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนยังคงไม่ได้รับการปกป้องที่ดีพอจากธนาคาร

2562: การขยับของ 3 ธนาคาร 

การประเมินคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนในปี 2562 มีความเปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนหน้าประการหนึ่ง คือ การขยับขึ้นมาของธนาคารทหารไทยที่ประกาศต่อสาธารณชนว่า ธนาคารเคารพหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เช่นเดียวกันกับธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยในการประเมินปีที่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในปีนี้มี 3 ธนาคาร จาก 9 ธนาคาร ได้คะแนนในหมวดดังกล่าวไป

3 ธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชน เป็นการได้คะแนน 1 ข้อ จากทั้งหมด 13 ข้อ เช่นเดียวกับการประเมินในปีก่อนหน้า ส่วนธนาคารอื่นๆ ยังไม่มีการขยับนโยบายเพื่อเพิ่มคะแนนด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยในหมวดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากสัดส่วนคะแนนทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากการประเมินในปีที่แล้วร้อยละ 0.89

อัตราการเพิ่มขึ้นของคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนนับว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งตรงข้ามกับหมวด ‘การขยายบริการทางการเงิน’ อันเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวธนาคารเองที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 5.1 หรือในหมวด ‘การคุ้มครองผู้บริโภค’ ที่เกี่ยวพันกับข้อบังคับทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม ก็มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 12.6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์โดยตรงทางธุรกิจและการหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางกฎหมายเป็นหลัก แต่ยังไม่ให้น้ำหนักเรื่องการวางแผนนโยบายที่ยั่งยืนด้านสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร

2563: เข้าสู่ปีที่ 3 คะแนนเฉลี่ยดีขึ้น แต่ยังไม่ดีที่สุด

การประเมินคะแนนในปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อธนาคารที่เข้าร่วมการประเมินเหลือเพียง 8 แห่ง จาก 9 แห่งในปีก่อนหน้า เนื่องจากธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย โดยผลของการประเมินหมวดสิทธิมนุษยชนในปีที่ 3 นี้ พบว่า คะแนนรวมของหมวดสิทธิมนุษยชนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.6 จากคะแนนทั้งหมด และอยู่ใน 3 อันดับที่ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 10 เช่นเดียวกับหมวด ‘ธรรมชาติ’ และหมวด ‘นโยบายค่าตอบแทน’ ซึ่งเป็นอีกปีที่ไม่ได้สะท้อนถึงพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญในระดับภาพรวมเชิงนโยบาย 

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คะแนนเฉลี่ยของหมวดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 6.6 เนื่องจากมีธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกรุงไทย ที่ได้คะแนนจากการประกาศว่า ธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เช่นเดียวกับธนาคาร 3 แห่งในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพยังประกาศว่า จะสนับสนุนให้บริษัทลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร นำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนธนาคารทหารไทยก็ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีการประกาศเพิ่มเติมว่า บริษัทลูกค้าของธนาคารจะต้องคำนึงถึงผลกระทบและมาตรการเยียวยาในกรณีที่ทำให้บุคคลต้องย้ายถิ่นฐาน โดยใช้หลัก Free, Prior and Informed Consent (FPIC) อันมองเห็นความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนและวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง

จะเห็นว่านโยบายของธนาคารหลายแห่งมีทิศทางที่ใส่ใจต่อหมวดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ได้คะแนนจากหัวข้อพื้นฐานคือ การประกาศยอมรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ โดยอัตราเฉลี่ยของคะแนนที่เพิ่มขึ้นในหมวดสิทธิมนุษยชนของปี 2563 ได้มาจากธนาคาร 3 แห่ง อย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย โดยเฉพาะธนาคารทหารไทยที่ได้คะแนนจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมของคะแนนในหมวดนี้ขึ้นสูง

3 ปีผ่านไป สังคมไทยได้รับความใส่ใจ ‘สิทธิมนุษยชน’ มากแค่ไหนจากธนาคาร

หากไล่เลียงคะแนนด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) ถึงแม้คะแนนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในทุกปี แต่ก็ยังพบว่าเป็นอัตราการเพิ่มที่น้อยมากเมื่อเทียบกับคะแนนในส่วนอื่น รวมถึงสัดส่วนที่ทำให้ธนาคารได้คะแนนเป็นหลักคือ การประกาศยอมรับหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเกณฑ์ชี้วัดเพียง 1 ใน 13 ข้อเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากช่วงระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว มีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญเกิดขึ้นโดยมีธนาคารไทยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การรัฐประหารในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะมากกว่า 5,000 คน และยังพบว่ามีสถาบันการเงินของไทยจำนวนหนึ่งสนับสนุนการลงทุนและดำเนินโครงการอยู่ในประเทศเมียนมา จนนำมาสู่ข้อสงสัยเรื่องความรับผิดชอบในการพิจารณานโยบายของบรรดาบริษัทและสถาบันการเงินไทยในเมียนมา และทำให้เกิดแคมเปญรณรงค์บน Change.org ที่ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อแล้วถึง 3,698 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2564)

จากกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา จะเห็นได้ว่ามีเพียงธนาคารเดียวเท่านั้นในขณะนี้ที่ออกมาแสดงท่าทีทบทวนนโยบายการลงทุนของตนเองในเมียนมา คือ ธนาคารกสิกรไทย ในขณะที่ธนาคารอื่นยังคงไม่แสดงท่าทีใดๆ ที่ชัดเจน ความนิ่งเฉยต่อการรัฐประหารในเมียนมา ประกอบกับอัตราการเติบโตของคะแนนหมวดสิทธิมนุษยชนที่เป็นไปอย่างล่าช้านั้น จึงอาจสะท้อนถึงความกระตือรือร้นต่อประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารพาณิชย์ไทยว่ายังคงไม่มากพอเมื่อเทียบกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกตั้งคำถามจากประชาคมโลก