แนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจเขียวตามนิยามเดียวกัน (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (Just Energy Transition)

19 กันยายน 2566

ผลกระทบที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของนานาประเทศ รวมทั้งไทย ส่งผลให้ “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” จากการผลิตและใช้พลังงานคาร์บอนสูง เป็นคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ ถูกพูดถึงมากขึ้นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านพลังงานย่อมเกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจซ้ำเติมความอยุติธรรมในระบบพลังงาน ด้วยเหตุนี้ แนวคิด “just energy transition” หรือ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม” จึงถูกนำเสนอเป็นกรอบคิดในการออกแบบและจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงานในแต่ละประเทศ

คณะวิจัยมองว่า หลักการดังกล่าวควรนำมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง การจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวตามนิยามเดียวกัน หรือ Thailand Taxonomy ซึ่งปัจจุบัน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ประกาศใช้ 30 มิถุนายน 2566 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและขนส่ง เพื่อให้ Thailand Taxonomy เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมในประเทศไทย

จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวตามนิยามเดียวกัน  (Taxonomy) และการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม ประกอบการสังเคราะห์ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย 6 กลุ่ม 22 ราย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบกิจการพลังงาน สถาบันการเงิน ตัวแทนแรงงานในอุตสาหกรรมฟอสซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งคณะวิจัยดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 คณะวิจัยสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยใช้ขั้นตอนจำแนกประเด็นดังนี้

  1. จำแนกประเภทความยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ออกเป็น 4 ประเภท ตามผลการทบทวนวรรณกรรม ได้แก่ ความยุติธรรมเชิงการกระจาย (distributional justice), ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ (procedural justice), ความยุติธรรมเชิงการตระหนักรับรู้ (recognition justice) และ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice)
  2. จำแนกและจัดหมวดหมู่ประเด็นพิจารณาในการเปลี่ยนผ่านพลังงานพลังงานที่ยุติธรรมในบริบทของประเทศไทย ที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญ เป็น 3 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ การชดเชยผู้เกี่ยวข้องในภาคพลังงานฟอลซิลที่ได้รับผลกระทบช่วงเปลี่ยนผ่าน, การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานให้มีความยุติธรรมมากขึ้น และ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากการสังเคราะห์ตามขั้นตอนข้างต้น คณะวิจัยสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ดังต่อไปนี้

นอกเหนือจากประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนา Thailand Taxonomy ดังสรุปในตารางข้างต้น คณะวิจัยเห็นว่า คณะทำงาน Thailand Taxonomy สามารถมีบทบาทเชิงรุกในการจัดเวทีสานเสวนาระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีถกเถียงอภิปรายในประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียยังมีความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อันได้แก่ นิยาม “ความมั่นคงทางพลังงาน”, ทางเลือกในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (เช่น ควรรวมพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ บทบาทของเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCU), “ความเป็นธรรม” ในโครงสร้างค่าไฟฟ้า และประเด็น การชดเชยและเยียวยาที่เหมาะสมสำหรับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมฟอสซิล

นอกจากนี้ คณะทำงาน Thailand Taxonomy ยังสามารถแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในภาคพลังงาน โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คณะวิจัยพบว่า ผู้มีส่วนได้เสียอย่างน้อย 3 กลุ่ม เสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ในทางที่สอดคล้องกันและไม่ขัดแย้งกับหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม มีทั้งหมด 5 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. เร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ โดยภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานควรเปิดให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้อย่างเสรี กำหนดให้มีตลาดการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายย่อย การปรับกฎเกณฑ์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้โดยง่าย และพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) ตลอดห่วงโซ่ระบบไฟฟ้า
  2. ควรสนับสนุนด้านเงินทุน องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านพลังงาน ต่อผู้ประกอบกิจการพลังงานฟอสซิล เพื่อหนุนเสริมให้มีความพร้อมต่อการยุติการดำเนินธุรกิจ
  3. ควรมีการจัดทำแผนการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน รวมถึงปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงาน การกำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น
  4. ควรกำหนดมาตรการสำหรับผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต้องมีระบบกักเก็บและการสำรองไฟฟ้า
  5. รัฐบาลควรมีการจัดทำพันธสัญญา (commitment) เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง