ผลการประเมินหมวดสิทธิมนุษยชน

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2566 พบว่า ธนาคารเกือบทุกแห่ง (ยกเว้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ได้รับคะแนนในหมวดนี้ โดยธนาคารส่วนใหญ่ได้รับคะแนนจากการมีนโยบายเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) (ข้อ 1) และการมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของเพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย (ข้อ 2)

ธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดนี้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย คณะวิจัยพบว่า ธนาคารทั้ง 3 แห่ง มีนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าธนาคารอื่น ๆ ทั้งจากการรับหลักการสากลมาเป็นแนวปฏิบัติ และการกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการทางการเงินของธนาคาร ตัวอย่างเช่น

  • ธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งเป็นธนาคารที่ได้รับคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนสูงสุดนั้น ธนาคารกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากใช้ที่ดินของธุรกิจก่อนการดำเนินธุรกิจ (ข้อ 10) ซึ่งเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในข้อนี้
  • ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association พร้อมนำหลักการ EP มาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อาทิ การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องมีการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อร่วมปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่โครงการ สิทธิของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ และ/หรือ สิทธิของแรงงานที่ทำงานให้กับโครงการ (ข้อ 8) 
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยได้รับหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact - UNGC) ซึ่งกำหนดให้การปฏิบัติงานและกลยุทธ์ของภาคธุรกิจต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล ในขอบเขตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธนาคารทั้งสองแห่งได้รับคะแนนจากการเคารพหลักการดังกล่าว ในเกณฑ์ข้อที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนทุกข้อตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

หมวดสิทธิมนุษยชนประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 15 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

2. สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของ เพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

3. บริษัทเคารพในสิทธิมนุษยชนทุกข้อตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

4. บริษัทมีความทุ่มเทเชิงนโยบายที่จะแสดงความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน

5. บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence) เพื่อระบุ ป้องกัน บรรเทา และรายงานวิธีที่บริษัทจัดการกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

6. บริษัทมีกระบวนการที่นำไปสู่การเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเชิงลบใดๆ ก็ตาม ที่บริษัทเป็นผู้ก่อ หรือมีส่วนในการก่อ

7. บริษัทจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกรับเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการ จากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

8. บริษัทเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองในการดำเนินงานของบริษัท

9. บริษัทป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการใช้กระบวนการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายกับชุมชนท้องถิ่น และได้รับความยินยอมโดยสมัครใจโดยได้ข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) ในประเด็นที่เกี่ยวกับชนพื้นเมือง

10. บริษัทป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) จากผู้ใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องก่อนเท่านั้น

11. บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคารพสิทธิเด็ก

12. บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคารพสิทธิของผู้พิการ

13. บริษัทไม่ยอมรับให้มีการตั้งถิ่นฐานใดๆ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง ในเขตที่ถูกบุกรุก (occupied territories) เพื่อเคารพในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

14. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

15. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า