ผลการประเมินหมวดภาษี

ผลการประเมินธนาคารในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีธนาคาร 9 แห่ง จาก 11 แห่ง ที่ได้คะแนนในหมวดนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ธนาคาร 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้รับคะแนนจากการเปิดเผยรายงานที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินภาษีที่จ่ายรัฐ สำหรับกิจการในแต่ละประเทศที่สถาบันเปิดให้บริการ ไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมด และ/หรือไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 รวมทั้งรายงานครบทุกประเทศที่เปิดให้บริการของรายได้ทั้งหมด และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม (ข้อ 1,2) นอกจากนี้ ยังมีการปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์รวมในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม (ข้อ 3) 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่ได้คะแนนจากการประกาศว่าธนาคารจะไม่ใช้โครงสร้างทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขจัดหรือลดภาระทางภาษีผ่านการวางแผนหรือโครงสร้างที่ซับซ้อน และไม่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายภาษีในการดำเนินธุรกิจที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการและเจตนาของกฎหมายภาษีทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ (ข้อ 5) 

ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าธนาคารไม่ได้รับคำตัดสินทางภาษีที่มีนัยสำคัญใด ๆ จากหน่วยงานกำกับดูแลภาษีในปีที่ผ่านมา (ข้อ 6) อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคำตัดสิน ข้อหารือ หรือ ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของธนาคาร จึงทำให้ได้รับคะแนนบางส่วน

ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้คะแนนจากการระบุว่าธนาคารไม่มีบริษัทในเครือ สาขา หรือบริษัทร่วมลงทุนใด ๆ ในเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ที่ไม่มีภาษีเงินได้ (ข้อ 7)


หมวดภาษีประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 17 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินรายงานรายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินภาษีที่จ่ายรัฐ สำหรับกิจการในแต่ละประเทศที่สถาบันเปิดให้บริการ ไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมด และ/หรือไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม

2. สถาบันการเงินรายงานรายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินภาษีที่จ่ายรัฐ สำหรับกิจการในแต่ละประเทศที่สถาบันเปิดให้บริการ ครบทุกประเทศที่เปิดให้บริการ และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม

3. สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์รวมในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม

4. สถาบันการเงินไม่ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในการทำธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี

5. สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี

6. สถาบันการเงินเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคำตัดสินทางภาษีที่เฉพาะเจาะจงระดับบริษัท ซึ่งองค์กรได้รับมาจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาษี

7. สถาบันการเงินไม่มีบริษัทในเครือ สาขา หรือบริษัทร่วมลงทุนใดๆ ในเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ที่ไม่มีภาษีเงินได้ หรือเก็บภาษีเงินได้ในอัตราศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือในเขตอำนาจศาลที่มีพฤติกรรมการเก็บภาษีธุรกิจที่เป็นอันตรายต่อสังคม ยกเว้นว่าสถาบันการเงินจะมีกิจกรรมทางธุรกิจจริงๆ และได้กำไรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นจริงๆ

8. สถาบันการเงินไม่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษี (tax haven) ยกเว้นว่าบริษัทนั้นๆ จะมีกิจกรรมทางธุรกิจจริงๆ และได้กำไรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นจริงๆ

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

9. บริษัทเผยแพร่โครงสร้างกลุ่มบริษัททั้งหมด รวมถึงองค์กรที่บริษัทมีอำนาจควบคุมทางอ้อมและร่วมกับองค์กรอื่น

10. บริษัทเผยแพร่คำอธิบายกิจกรรม ขอบเขตการงาน และเจ้าของที่แท้จริง (ultimate shareholder) ของกิจการในเครือ สาขา กิจการร่วมทุน หรือกิจการร่วมค้าที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ที่ไม่มีภาษีเงินได้ หรือเก็บภาษีเงินได้ในอัตราศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือในเขตอำนาจศาลที่มีพฤติกรรมการเก็บภาษีธุรกิจที่เป็นอันตรายต่อสังคม

11. บริษัทรายงานรายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินที่จ่ายรัฐ (เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, เงินค่าสัมปทาน และภาษีเงินได้ธุรกิจ) จากแต่ละประเทศที่บริษัทมีกิจการ ครบทุกประเทศที่บริษัทมีกิจการ

12. บริษัทจัดโครงสร้างกิจการระหว่างประเทศและธุรกรรมระหว่างประเทศในทางที่สะท้อนสาระทางเศรษฐกิจของกิจกรรมและธุรกรรมของบริษัท โดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ทำไปเพื่อแสวงความได้เปรียบทางภาษีเป็นหลัก

13. บริษัทเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคำตัดสินทางภาษีที่เฉพาะเจาะจงระดับบริษัท ซึ่งบริษัทได้รับมาจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาษี

14. บริษัทเผยแพร่เท่าที่จะทำได้ตามกฎหมายและเป็นไปได้ (practical) คำตัดสินหรือคำระงับข้อพิพาท ซึ่งบริษัทหรือบริษัทในเครือเป็นฝ่ายเกี่ยวข้อง เกี่ยวกับข้อพิพาททางภาษี ไม่ว่าจะในชั้นศาลหรือชั้นอนุญาโตตุลาการก็ตาม

15. บริษัทมีระบบการบริหารจัดการซึ่งส่งผลทางปฏิบัติทันทีที่เกิดข้อสงสัยว่าพนักงานหรือคู่ค้าอาจช่วยหลบเลี่ยงภาษี

16. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านภาษีเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

17. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านภาษีเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า