ผลการประเมินหมวดนโยบายค่าตอบแทน

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2566 พบว่า ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคาร 4 แห่งที่ได้รับคะแนนในหมวดนี้

ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนจากการประกาศว่าค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของธนาคารด้านความยั่งยืนทั้งในการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน (ข้อ 8) รวมถึงการลงทุนและการให้บริการทางการเงิน (ข้อ 9) เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเติบโตของเงินสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และความพึงพอใจของลูกค้า

ธนาคารกรุงไทย ได้รับคะแนนในข้อนโยบายการตั้งเงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน (ข้อ 8) รวมถึงการลงทุนและการให้บริการทางการเงิน (ข้อ 9) ของสถาบันการเงิน จากการกำหนดให้มีตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงานทุกระดับ รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เช่น เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อพิพาทแรงงานเป็นศูนย์

ธนาคารทหารไทยธนชาต ได้รับคะแนนในข้อนโยบายการตั้งเงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน (ข้อ 8) รวมถึงการลงทุนและการให้บริการทางการเงิน (ข้อ 9) ของสถาบันการเงิน จากการกำหนดให้โบนัสของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารและพนักงานเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กรบางส่วนที่ไม่ใช่ตัวชี้วัดทางการเงิน เช่น การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม การรักษาความสัมพันธ์กับพนักงาน และความยั่งยืนขององค์กร

ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับคะแนนจากการประกาศว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงจะพิจารณารวมตัวชี้วัดนอกเหนือผลประกอบการ อาทิ การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการก้าวสู่เป้าหมายการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) (ข้อ 8)

คะแนนรวมเฉลี่ยในหมวดนี้ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากมีการยกเลิกเกณฑ์การประเมินบางข้อที่มีธนาคารเคยได้คะแนนในปีก่อน เช่น เงินโบนัสอย่างน้อยหนึ่งในสามตั้งอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางการเงิน (ข้อ 6 เดิม) และการไม่ประเมินธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 3 แห่ง


หมวดนโยบายค่าตอบแทนประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 10 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเงินโบนัสคืน ถ้าหากปรากฏภายหลังจากที่ได้เงินไปแล้วว่าได้รับโบนัสโดยมิชอบ (กลไก clawback)

2. สถาบันการเงินกำหนดเพดานการจ่ายโบนัสไว้ไม่เกิน 100% ของเงินเดือนตลอดปี

3. สถาบันการเงินกำหนดเพดานการจ่ายโบนัสไว้ไม่เกิน 20% ของเงินเดือนตลอดปี

4. สถาบันการเงินกำหนดเพดานการจ่ายเงินเดือนไว้ไม่เกินยี่สิบเท่าของเงินเดือนที่ต่ำที่สุดในองค์กร หรือขั้นสูงสุดของช่วงเงินเดือนที่ต่ำที่สุดภายในสถาบัน

5. เงินโบนัสอย่างน้อย 60% ขึ้นอยู่กับเป้าหมายระยะยาว (ซึ่งไม่เหมือนกับข้อตกลงที่จะเลื่อนจ่ายโบนัสออกไป)

6. เงินโบนัสของสมาชิกคณะกรรมการบริหาร (executive board) อย่างน้อยร้อยละ 60 ผูกกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG)

7. เงินโบนัสของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) อย่างน้อยร้อยละ 60 ผูกกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG)

8. เงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการจัดการและปฏิบัติการของสถาบันการเงิน และเปิดเผยเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรค่าตอบแทนผันแปร (variable renumeration เช่น โบนัส)

9. เงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน และเปิดเผยเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรค่าตอบแทนผันแปร (variable renumeration เช่น โบนัส)

10. สถาบันการเงินอธิบายอย่างชัดเจนถึงหลักการที่ใช้กับการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานแต่ละกลุ่ม (คณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารระดับสูง พนักงานที่นำเงินลูกค้าไปเสี่ยง (risk takers) เป็นต้น)

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

-