ผลการประเมินหมวดการทุจริตคอร์รัปชัน

ในหมวดนี้ธนาคารทุกแห่งได้คะแนนจากการประกาศไม่รับสินบน (ข้อ 1) มีนโยบายการต่อต้านการฟอกเงิน (ข้อ 2) ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มก่อการร้าย (ข้อ 3) มีการเปิดเผยผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (ข้อ 4) และมีมาตรฐานเพิ่มเติมเมื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง (ข้อ 5) ซึ่งการประกาศนโยบายเหล่านี้เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง หลักเกณฑ์การรับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชน (Guideline on Acceptance of Deposits or Money from Customers)

ธนาคารกรุงเทพ (ได้คะแนนเป็นปีแรก) ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย (ได้คะแนนเป็นปีแรก) ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (ได้คะแนนเป็นปีแรก) ได้รับคะแนนจากการรายงานการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของการกำหนดปทัสถานระหว่างประเทศและกระบวนการออกกฎหมาย (พฤติกรรมการล็อบบี้) (ข้อ 6) 

ในหมวดนี้มีเกณฑ์การประเมินใหม่ 1 ข้อ คือ สถาบันทางการเงินมีนโยบายต่อต้านการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง (Political Contributions) (ข้อ 7) โดยมีธนาคาร 7 แห่ง ที่มีการเปิดเผยนโยบายสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย อย่างไรก็ตาม นโยบายของธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย มีข้อยกเว้นที่ระบุว่าการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนพรรคการเมืองสามารถทำได้หากได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย จึงทำให้ได้คะแนนในข้อนี้บางส่วน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินดังกล่าว จึงไม่ได้รับคะแนนในข้อนี้ 


 

หมวดการทุจริตคอร์รัปชันประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 13 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินประกาศว่าจะไม่นำเสนอ สัญญา เรียกร้อง สินบนและข้อได้เปรียบอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจและข้อได้เปรียบอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม

2. สถาบันการเงินมีนโยบายต่อต้านการฟอกเงิน

3. สถาบันการเงินมีนโยบายป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้ายและอาวุธนิวเคลียร์

4. สถาบันการเงินยืนยันได้ถึงผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary) ของบริษัท (ที่ตนให้การสนับสนุนทางการเงิน)

5. สถาบันการเงินมีมาตรฐานเพิ่มเติมเมื่อทำธุรกิจทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง (Politically Exposed Persons - PEP)

6. สถาบันการเงินรายงานการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของการกำหนดปทัสถานระหว่างประเทศและกระบวนการออกกฎหมาย (พฤติกรรมการล็อบบี้)

7. สถาบันทางการเงินมีนโยบายต่อต้านการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง (Political Contributions)

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

8. บริษัทเปิดเผยผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง หรือเจ้าของที่แท้จริง รวมถึงชื่อจริงนามสกุลจริง วันเกิด สัญชาติ แหล่งพำนัก จำนวนและประเภทหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้นหรือสัดส่วนอำนาจควบคุมบริษัท

9. บริษัทประกาศว่าจะไม่นำเสนอ สัญญา เรียกร้อง สินบนและข้อได้เปรียบอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจและข้อได้เปรียบอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม

10. บริษัทมีระบบการบริหารจัดการซึ่งลงมือทันทีที่เกิดข้อสงสัยว่าพนักงานหรือคู่ค้ากระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน

11. บริษัทรายงานการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของการกำหนดปทัสถานระหว่างประเทศและกระบวนการออกกฎหมาย (พฤติกรรมการล็อบบี้)

12. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านคอร์รัปชันเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

13. บริษัทใส่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า