ผลการประเมินหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2566 พบว่าธนาคารทุกแห่งได้รับคะแนนในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค โดยส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติตามเกณฑ์การให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยมีการประกาศออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ด้วยเหตุนี้ธนาคารส่วนใหญ่จึงมีการประกาศนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภครายย่อยที่คล้ายคลึงกัน และส่งผลให้ธนาคารส่วนใหญ่ได้รับคะแนนในข้อเดียวกัน เช่น 

  • ธนาคารทุกแห่งมีการประกาศนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้ารายย่อย และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และบริการ (ข้อ 1)
  • ธนาคารทุกแห่งมีการประกาศนโยบายในการจัดการข้อร้องเรียนของลูกค้าอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ช่องทางการร้องเรียน ระบบการดำเนินการข้อร้องเรียน ระยะเวลาการดำเนินการจัดการข้อร้องเรียน รวมไปถึงการรายงานผลและจัดให้มีการเยียวยาลูกค้า (ข้อ 3)

นอกจากนี้ ยังพบประเด็นโดดเด่นที่ส่งผลให้ธนาคารได้คะแนนในปีนี้เพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น

  • ธนาคารกรุงเทพ เป็นเพียงธนาคารเดียวที่มีการประกาศนโยบายว่าจะแจ้งลูกค้าอย่างทันท่วงทีเมื่อทางธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการให้บริการ (ข้อ 14) โดยระบุแนวปฏิบัติในการแจ้งเปลี่ยนเงื่อนไขการให้บริการ หรือแจ้งเตือนที่สำคัญต่าง ๆ ในเอกสารแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Sales Sheet) ว่า "ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการที่มีผลกระทบต่อการใช้บริการของลูกค้า ธนาคารจะมีการสื่อสารหรือแจ้งข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เพียงพอ เช่น 30 วัน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร"
  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารออมสิน (ได้คะแนนเป็นปีแรก) ได้รับคะแนนจากการตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายหรือขั้นตอนการติดตามหนี้ และบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันการเงิน (บุคคลที่สาม) ให้เป็นตัวแทนในการทวงหนี้ (ข้อ 12)

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารทิสโก้ ได้รับคะแนนลดลงในเกณฑ์ข้อ 8 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของเกณฑ์การประเมินอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เกณฑ์ข้อ 8 คาดหวังให้ธนาคารมีการประกาศว่าจะสื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของตนอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ด้วยภาษาที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และคำนึงถึงผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างชัดเจนถึงรูปแบบ และแนวทางปฏิบัติในการสื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ด้วยภาษาที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และคำนึงถึงผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพเป็นเพียงธนาคารแห่งเดียวที่ยังคงรักษาระดับคะแนนเต็มในข้อนี้ไว้ได้ เนื่องจากมีการระบุถึงแนวปฏิบัติในการให้บริการแก่กลุ่มเปราะบางที่ชัดเจน เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าต้องพิจารณาถึงความประสงค์ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ความสามารถทางการเงิน และความสามารถในการทำความเข้าใจของลูกค้าเป็นสำคัญ การอธิบายรายละเอียด เงื่อนไข สิทธิและข้อยกเว้น ต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย โดยเน้นข้อความหรือขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ พนักงานต้องพูดช้า ชัดเจน เสียงดัง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นย้ำจุดที่สำคัญ และหากลูกค้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้พนักงานอธิบายหรือให้คำแนะนำแก่ลูกค้าจนมั่นใจว่าลูกค้าปราศจากข้อสงสัย พนักงานต้องให้เวลาแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางในการทำความเข้าใจและไม่เร่งรัดให้ตัดสินใจ เป็นต้น


หมวดคุ้มครองผู้บริโภคประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 19 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายของสถาบันการเงินที่สัมพันธ์กับลูกค้ารายย่อย

1. สถาบันการเงินมีนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้ารายย่อย และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และบริการ

2. สถาบันการเงินมีนโยบายอบรมจรรยาบรรณของพนักงานและกำกับให้พนักงานให้บริการต่อลูกค้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ

3. สถาบันการเงินสร้างหลักประกันว่าลูกค้ารายย่อยเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่มีกระบวนการค้นหาความจริง (due diligence)

4. สถาบันการเงินเปิดเผยผลการติดตามสถิติการร้องเรียนของลูกค้ารายย่อย อาทิ จำนวนเรื่องร้องเรียน ประเด็นร้องเรียนหลัก องค์กรที่ลูกค้าติดต่อร้องเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม แบ่งตามช่องทางที่รับเรื่องร้องเรียน (เช่น ทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ สาขา ฯลฯ)

5. สถาบันการเงินประกาศต่อสาธารณะว่าจะลดจำนวนเรื่องร้องเรียน กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และเปิดให้ข้อมูลนี้เข้าถึงได้โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

6. สถาบันการเงินมีกลไกจัดการข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution (ADR) Mechanisms) - กระบวนการเยียวยาอิสระสำหรับการจัดการกับข้อร้องเรียนที่ไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการภายในของสถาบันการเงิน หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันการเงิน

7. สถาบันการเงินมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเป็นหนี้เกินตัว

8. สถาบันการเงินประกาศว่าจะสื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของตนอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ด้วยภาษาที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และคำนึงถึงผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง

9. สถาบันการเงินพัฒนาและลงมือใช้บัญชีความเสี่ยงสำหรับลูกค้า (risk profile) ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน

10. สถาบันการเงินคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ารายย่อย (ไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกค้า)

11. ข้อมูลทางการเงินและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ด้วยกลไกควบคุมและคุ้มครอง มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าสถาบันการเงินจะจัดเก็บ ประมวลผล บันทึก ใช้ และเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างไรบ้าง

12. สถาบันการเงินตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายหรือขั้นตอนการติดตามหนี้ และบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันการเงิน (บุคคลที่สาม) ให้เป็นตัวแทนในการทวงหนี้

13. สถาบันการเงินมีนโยบายและขั้นตอนที่จะหลีกเลี่ยงการพ่วงขายผลิตภัณฑ์ หรือพฤติกรรมการขายที่ไม่เหมาะสม

14. สถาบันการเงินประกาศว่าจะแจ้งลูกค้าอย่างทันท่วงทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียม

15. สถาบันการเงินออกแบบโครงสร้างค่าตอบแทนสำหรับพนักงานและตัวแทน ในทางที่ส่งเสริมพฤติกรรมการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และการหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

16. สถาบันการเงินมีโครงการอบรมพนักงานและตัวแทนอย่างเหมาะสม ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค และธรรมเนียมปฏิบัติด้านนี้

17. สถาบันการเงินมีโครงการอบรมพนักงานและตัวแทนอย่างเหมาะสม ในประเด็นผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่นำเสนอต่อผู้บริโภค

18. สถาบันการเงินรับประกันได้ว่าไม่มีข้อจำกัดใดๆ ด้านเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ที่จะกีดกันไม่ให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงิน

19. สถาบันการเงินมีนโยบายที่จะเปิดให้ลูกค้ารายย่อยที่เป็นผู้พิการหรือมีความต้องการพิเศษสามารถเข้าถึงสาขาทางกายภาพและบริการอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

-