ผลการประเมินหมวดการขยายบริการทางการเงิน

ในภาพรวม คะแนนเฉลี่ยในหมวดนี้ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากมีการเพิ่มเกณฑ์การประเมินใหม่ขึ้นมา 1 ข้อได้แก่ การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น (ข้อ 14) โดยมีธนาคารเพียง 3 แห่งได้รับคะแนนในหมวดนี้ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยได้คะแนนจากการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังต่อไปนี้

  • ธนาคารไทยพาณิชย์มีสินเชื่อธุรกิจรักษ์โลก ซึ่งเป็นสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนซึ่งรวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง (ถือหุ้นมากกว่า50%) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการและใช้ประกอบธุรกิจ
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีพันธบัตรที่คำนึงถึงผู้ประกอบการสตรีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต กำหนดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารได้ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม

ในหมวดการขยายบริการทางการเงิน มีทั้งหมด 6 ข้อที่ทุกธนาคารได้คะแนน โดยหัวข้อที่ธนาคารทุกแห่งได้รับคะแนน ได้แก่ 

  • สถาบันการเงินมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบ หรือ MSME อย่างเฉพาะเจาะจง (ข้อ 1)
  • สถาบันการเงินมีสาขาในเขตชนบท ไม่ใช่เฉพาะในเมือง (ข้อ 2)
  • สถาบันการเงินมีบริการธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และบริการไร้เงินสด (e-money) (ข้อ 3)
  • สถาบันการเงินเผยแพร่เงื่อนไขของบริการทางการเงินในภาษาท้องถิ่น (ข้อ 7)
  • สถาบันการเงินมีนโยบายปรับปรุงความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง และ MSME (ข้อ 8)
  • สถาบันการเงินมีบริการรับหรือโอนเงินในประเทศที่เหมาะสม สะดวก และลูกค้ารายย่อยมีกำลังซื้อ (ข้อ 12)

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินและธนาคารกสิกรไทยเป็นเพียง 2 ธนาคารที่ได้รับคะแนนจากการมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย (ข้อ 13) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย


หมวดการขยายบริการทางการเงินประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 14 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายของสถาบันการเงินที่สัมพันธ์กับลูกค้ารายย่อย

1. สถาบันการเงินมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบอย่างเฉพาะเจาะจง

2. สถาบันการเงินมีสาขาในเขตชนบท ไม่ใช่เฉพาะในเมือง

3. สถาบันการเงินมีบริการธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และบริการไร้เงินสด (e-money)

4. สถาบันการเงินมีสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับธุรกิจขนาดจิ๋วจนถึงขนาดกลาง (Micro to SME - MSME) มากกว่า 10% ของสินเชื่อทั้งหมด

5. สถาบันการเงินไม่กำหนดว่า MSME ต้องมีหลักประกันในการกู้

6. สถาบันการเงินมีนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้า และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (รวมถึงความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เกินตัว) สำหรับลูกค้าที่ไม่รู้หนังสือและ MSME

7. สถาบันการเงินเผยแพร่เงื่อนไขของบริการทางการเงินในภาษาท้องถิ่น

8. สถาบันการเงินมีนโยบายปรับปรุงความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง และ MSME

9. สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน หรือคิดค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยที่สมเหตุสมผล

10. สถาบันการเงินไม่กำหนดเงินคงเหลือในบัญชีขั้นต่ำ (minimum balance) สำหรับบัญชีเงินฝากพื้นฐาน

11. สถาบันการเงินมีมาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ

12. สถาบันการเงินมีบริการรับหรือโอนเงินในประเทศที่เหมาะสม สะดวก และลูกค้ารายย่อยมีกำลังซื้อ

13. สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย

14. สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

-