มรดกโลกของเราเชื่อมโยงกับแม่น้ำอย่างลึกซึ้ง และจะต้องได้รับการปกป้องจากการสร้างเขื่อน

05 พฤศจิกายน 2564

โดย Gary Lee, Sarinee Achavanuntakul และ Eugene Siminov

 

  • การประชุมมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม 2564 ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับคณะกรรมการมรดกโลก (WHC) ขององค์การยูเนสโก ในการปกป้องแม่น้ำและแหล่งมรดกโลกที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่ต้องพึ่งพาอาศัยสถานที่เหล่านั้น 
  • WHC ได้รับมอบหมายให้ปกป้องสถานที่อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั่วโลก ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างเขื่อนต่อแหล่งมรดกโลกทำให้เกิดข้อกังวลต่อประชาคมโลก โดยกรณีล่าสุดเกิดขึ้นที่ Selous Game Reserve ในประเทศแทนซาเนีย และหลวงพระบางในประเทศลาว
  • นอกเหนือจากบทบาทของ WHC ในการปกป้องแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตรายแล้ว รัฐบาล นายทุน และอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ จะต้องกำหนดโซน ‘NO GO’ ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกให้ชัดเจน 
  • บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น

 

ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee: WHC) ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ในวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2564 เพื่อจัดการกับภัยคุกคามเร่งด่วนต่อแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่สุดในโลกหลายแห่ง หนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมการต้องเผชิญคือ ภัยคุกคามต่อแหล่งมรดกโลกที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างเขื่อน 

ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า กว่า 500 เขื่อนทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือที่ถูกวางแผนการสร้างเอาไว้ จะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่คุ้มครอง ในขณะที่เขื่อนและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำอื่นๆ กำลังคุกคามแหล่งมรดกโลกอย่างน้อย 80 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อผู้พัฒนาเขื่อนต้องเผชิญกับแหล่งพลังน้ำที่มีศักยภาพลดน้อยลง และต้องดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น เขื่อน Batang Toru ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเขื่อนแห่งนี้อาจเป็นตัวเร่งการสูญพันธุ์ของลิงอุรังอุตังทาปานูลีที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ 

ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของเขื่อนต่อแหล่งมรดกโลกทำให้เกิดความไม่พอใจในระดับโลก ล่าสุดในกรณีของ Selous Game Reserve ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นฮอตสปอตของความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นหนึ่งในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา กำลังถูกคุกคามจากการตัดสินใจของรัฐบาลแทนซาเนียในการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน Julius Nyerere ในเมือง Selous นำมาสู่ข้อเสนอของ UNESCO ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นก็คือ การเสนอให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนนี้ทิ้งไป 

หลวงพระบาง: การคุกคามมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้

ในประเทศลาว ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเดิม เมื่อเมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่กำลังถูกคุกคามโดยแผนการสร้างเขื่อนที่มีชื่อเดียวกันกับเมืองที่กำลังจะถูกทำลาย 

หลวงพระบาง คือเมืองหลวงเก่า ตั้งอยู่ในหุบเขาเขียวชอุ่ม ณ จุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานในภาคเหนือของลาว หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2538 มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมอาณานิคมฝรั่งเศสและสถาปัตยกรรมของวัดในศาสนาพุทธ ซึ่งดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ 

วัฒนธรรมของหลวงพระบางพัฒนาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและมีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำ ซึ่งเป็นไม่ได้เลยที่จะรักษามรดกและวัฒนธรรมของโลกไปพร้อมๆ กับการทำลาย Minja Yang ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลก และหัวหน้าภารกิจของ UNESCO ในการปกป้องนครวัดของกัมพูชาในปี 2534 และอดีตผู้อำนวยการ UNESCO ในกรุงนิวเดลี อธิบายว่า “UNESCO ได้ลงนามในความตกลงปี 2538 กับรัฐบาลลาว โดยอิงจากความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน” 

แม้หลวงพระบางจะมีสถานะเป็นมรดกโลก แต่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนหลวงพระบางก็ยังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม ขณะที่กลุ่มทุนไทยกำลังวางแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ห่างจากหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร ด้วยขนาดและที่ตั้งของเขื่อน รวมถึงความใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบาง เขื่อนนี้จึงจัดอยู่ในประเภท ‘ความเสี่ยงสูงสุด’ 

เขื่อนจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำและพื้นที่โดยรอบ โดยรายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ปี 2563 ระบุว่า “ผลกระทบใดๆ จากการแตกของเขื่อน (หลวงพระบาง) หรือกรณีที่เกิดน้ำท่วม อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชาชนในหลายประเทศ ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหลวงพระบางจึงมีลักษณะเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน และจะเป็นปัญหาต่อประชาคมโลก”

จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนหลวงพระบางต่อแหล่งมรดกโลก ในปี 2555 WHC จึงได้ขอให้รัฐบาลลาวจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 9 ปี ก็ยังไม่มีรายงานการประเมินออกมา ทำให้ WHC เขียนลงในร่างการตัดสินใจที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ว่า WHC แนะนำให้รัฐบาลลาวหยุดการก่อสร้างเขื่อนครั้งนี้ทั้งหมด จนกว่าจะมีการรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลกอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันยังพบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมาก และประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันก็กำลังเรียกร้องให้ลาวดำเนินการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากแหล่งมรดกโลกแล้ว เขื่อนยังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอีกด้วย 

แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นทรัพยากรทางอาหารให้แก่ผู้คนมากกว่า 65 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ โดยหล่อเลี้ยงผู้คนที่ต้องการโปรตีนจากสัตว์ได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทว่าระบบนิเวศของแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ใจและมีความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นรองแค่แม่น้ำแอมะซอนเท่านั้น กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จากเขื่อนที่มีการวางแผนการก่อสร้างที่ไม่รัดกุม ซึ่งเขื่อนเหล่านี้หลายแห่งไม่ได้มีความจำเป็นต่อความต้องการพลังงานของภูมิภาคเลย 

เขื่อนหลวงพระบางมีแผนจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันไทยมีไฟฟ้าล้นเกินจำนวนมหาศาล (เทียบเท่าเขื่อนหลวงพระบางอย่างน้อย 10 แห่ง) การตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงดำเนินการไปแบบ ‘โครงการต่อโครงการ’ โดยไม่สนใจบริบทพื้นที่ในภาพใหญ่ และไม่สามารถมองการณ์ไกลในการจัดการผลกระทบสะสมและผลกระทบข้ามพรมแดนได้ หนำซ้ำชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนมากที่สุด ส่วนใหญ่ยังถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจ 

ถึงเวลาแล้วที่ต้องคุ้มครองมรดกโลกของเราอย่างจริงจังกันใหม่

หลวงพระบางมีความสำคัญอย่างมากในฐานะมรดกโลก รัฐบาลลาวควรหยุดโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้ และมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันจะต้องปกป้องมรดกโลก รวมถึงระบบนิเวศ แม่น้ำ และชุมชนให้ได้ ดังนั้น คณะกรรมการมรดกโลกจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลาวทบทวนโครงการที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้เสียใหม่ 

เขื่อนหลวงพระบางเป็นเพียงหนึ่งในเขื่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อมรดกโลก ยังมีเขื่อนอีกมากมายที่ประชาคมโลกจำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยปัจจุบัน คณะกรรมการมรดกโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามที่เพิ่มขึ้นของเขื่อน และได้มีมติในปี 2559 ที่เรียกร้องให้มีการห้ามสร้างเขื่อนในพื้นที่ข้างเคียงของแหล่งมรดกโลก การเรียกร้องครั้งนี้ส่งผลให้หนึ่งในผู้สร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง China Three Gorges ให้คำมั่นที่จะปรับตัวตามนโยบายนี้ แต่นี่ก็เป็นเพียงท่าทีของผู้สร้างเขื่อนรายเดียวเท่านั้น 

เพราะในท้ายที่สุด ความรับผิดชอบในการคุ้มครองมรดกโลกนั้นอยู่ที่รัฐภาคี แต่รัฐเหล่านี้จะต้องกระจายความรับผิดชอบให้กับนายทุนผู้ให้เงินสนับสนุนโครงการและบริษัทที่ร่วมสร้างโครงการเหล่านี้ด้วย

มีรายงานว่า International Hydropower Association ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อตบแต่งภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมและยังส่งเสริมแนวคิดผิดๆ เกี่ยวกับ ‘พลังน้ำที่ยั่งยืน’ มีท่าทีเงียบหายไปมากในประเด็นมรดกโลก แม้จะเพิ่งมีการจัดประชุมครั้งล่าสุดที่สำนักงานใหญ่ของ UNESCO ในกรุงปารีส

การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย อุตสาหกรรมเขื่อนจะต้องหยุดโครงการที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก และหยุดปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด

แหล่งมรดกโลกเช่นหลวงพระบางได้รับการยอมรับถึงคุณค่า เพราะไม่มีสิ่งใดสามารถมาแทนที่ได้ แต่ขณะนี้หลวงพระบางกำลังถูกคุกคาม นอกจากหลวงพระบางแล้ว ยังมีสถานที่อื่นๆ ที่ไม่เพียงสะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ชีวิตของชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ และมนุษย์ไม่ควรเดิมพันอนาคตด้วยการบังคับให้เกิดโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่จำเป็นและมีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ 

หลวงพระบางควรได้รับการดูแลและปกป้องในฐานะที่เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับอนาคตของมนุษยชาติในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับธรรมชาติ


อ้างอิง: Our World Heritage is deeply tied to rivers and they need protection from dams (commentary) (mongabay.com)