การฟอกเงินและธนาคารทั่วโลกมีมาตรการป้องกันอย่างไร

22 ธันวาคม 2563
หนึ่งในอาชญากรรมฟอกเงินที่ขึ้นชื่อว่าอื้อฉาวที่สุดในโลก และเชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักหรือเคยได้ยินข่าว คือ “1MDB” หรือ 1Malaysia Development Berhad กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติโดยนายนาจิบ ราซัก รองนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียในขณะนั้น ที่แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายนำเงินไปผลักดันเศรษฐกิจมาเลเซีย แต่หลังจากก่อตั้ง กองทุนกลับขาดทุนไปกว่า 3.7 แสนล้านบาทภายใน 6 ปี จนกระทั่งมีการตรวจสอบจึงพบว่ามีการยักยอกและฟอกเงินอยู่เบื้องหลังกองทุนนี้
.
หลายคนอาจคิดว่าการฟอกเงินไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราเลย แต่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ละเมิดกฎหมาย แท้จริงแล้วการฟอกเงินสร้างผลกระทบกับสังคมอย่างหนัก เพราะเงินที่ถูกฟอกจะนำไปใช้ในการประกอบอาชญากรรมอย่างการค้ายาเสพติด ก่อการร้าย ค้าอาวุธ ตลอดจนการทุจริตของนักการเมือง ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เกิดการกระทำผิดอย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ในเศรษฐกิจภาพรวมการฟอกเงินยังก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจถูกบิดเบือนไม่ตรงตามความจริงเพราะมีการนำเงินเหล่านี้เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ
.
วันนี้ Fair Finance Thailand จะพาไปรู้จักกับการฟอกเงินให้มากขึ้นและศึกษาตัวอย่างจากทั่วโลกว่ามีมาตรการในการป้องกันและจัดการกับการฟอกเงินอย่างไร
การฟอกเงินคือการทำเงินสกปรก หรือเงินมหาศาลที่ได้จากการทำผิดกฎหมาย มาฟอกให้กลายเป็นเงินสะอาดผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การนำเงินเข้าบัญชีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยมีการกำหนดให้ธนาคารมีหน้าที่รายงานเมื่อพบการทำธุรกรรมเงินสดที่มีมูลค่าสูง แต่ในบางประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองความลับของธนาคารซึ่งเอื้อต่อกลุ่มนักฟอกเงินให้สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่โดนตรวจสอบ
.
ซึ่งช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ทำให้กลุ่มนักฟอกเงิน สามารถกลบเกลื่อนร่องรอยได้อย่างแนบเนียน จนสุดท้ายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกลับเข้ากระเป๋าเจ้าของในฐานะเงินสะอาด ยากที่จะเอาผิดเพราะไม่มีหลักฐานร่องรอยทางการเงินที่แน่ชัด 
เพื่อไม่ให้ธนาคารถูกใช้เป็นเครื่องมือ หลายประเทศเลือกใช้มาตรการเชิงป้องกัน เช่น การยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการธนาคารอย่างเข้มงวด มีกระบวนการทำความรู้จักลูกค้าที่รัดกุม
.
รวมทั้งใช้ “เทคโนโลยี AI” เข้ามาช่วยด้านการตรวจสอบข้อมูลบัญชีลูกค้าที่มีจำนวนมหาศาล และตรวจสอบความผิดปกติของธุรกรรมแปลกๆ ที่อาจเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้แรงงานคนและประหยัดเวลาได้มากกว่า
.
โดยธนาคารหลายแห่งทั่วโลก เช่น HSBC, RBS, OCBC เริ่มหันมาใช้ AI ตรวจสอบธุรกรรมมากขึ้น แม้จะต้องใช้เงินในการลงทุนค่อนข้างสูงก็ตาม
ประเทศไทยมีกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และยึดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการฟอกเงินสากล หรือ AML (Anti-Money Laundering) ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้มากว่า 10 ปี และยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ธนาคารในเอเชียแปซิฟิกใช้ต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงิน เป็นผลให้ธนาคารมีนโยบายหลักขององค์กรที่มีสาระสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อประเภทลูกค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือช่องทางในการทำธุรกรรมที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการฟอกเงิน และในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาควบคู่ด้วยเช่นกัน
.
สุดท้ายแล้วมาตรการทั้งหมดเพื่อต่อกรกับการฟอกเงินจากทั่วโลกจะสำเร็จได้ย่อมเกิดจากการร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในกฎหมายและจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หรือการช่วยกันสอดส่องดูแลให้ความร่วมมือกับธนาคารของลูกค้า ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของเงินในสถาบันการเงินร่วมกัน