เศรษฐกิจแย่ ธนาคารช่วยเหลือ SME ได้อย่างไร

18 มีนาคม 2563

นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ดูเหมือนบ้านเราจะมีปัญหาสารพัดอย่างรุมเร้า ตั้งแต่เรื่องฝุ่น PM2.5 จนถึงไวรัสโควิด-19 กระเทือนรุนแรงถึงขั้นนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศหดหาย สถานประกอบการหลายแห่งตัดสินใจปิดตัวชั่วคราว งดจ่ายเงินเดือนพนักงาน นี่ยังไม่รวมปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองที่สั่งสมมานานหลายปี จนดูเหมือนจะไร้วี่แววที่จะหลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้

ผลที่ตามมาคือยอดคนว่างงานที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 มีผู้ว่างงานถึง 429,000 คน มากกว่าปี 2561 ถึง 60,000 คน

ขณะที่ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าเพียงเดือนแรกของปี 2563 มีโรงงานปิดกิจการถึง 222 โรง คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.29 พันล้านบาท และมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างราว 2,500 คน

ในฐานะแหล่งทุนหลักของประเทศ ธนาคารจึงนับเป็นสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และควรจะต้องมีมาตรการรับมือ เพราะหากธุรกิจต่างๆ พากันล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ให้สื่นเชื่อนั่นเอง ดังเช่นวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งส่งผลให้ธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต้องปิดกิจการ หรือถูกควบรวมกว่า 60 แห่ง

คำถามคือ ธนาคารมีบทบาทส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างไร Fair Finance อยากชักชวนทุกคนมาร่วมกันคิด และหาทางออกร่วมกัน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป


ข้อมูลประกอบ
-https://news.thaipbs.or.th/content/287587
-https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3559134

หนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย หรือ SME
.
ข้อมูลจากเวที Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ระบุว่า ปัจจุบันโครงสร้างในภาคธุรกิจไทย 99% เป็นธุรกิจ SME ส่วนอีก 1% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ธุรกิจ SME มีการจ้างงานถึง 72% ของการจ้างงานโดยรวม ที่สำคัญยังมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย
.
ข้อมูลประกอบ
-https://thaipublica.org/2018/08/bangkok-sustainable-banking-forum-financial-literacy/

แต่ที่ผ่านมา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ค่อนข้างจำกัดมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนของสถาบันการเงินในระบบ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธนาคารไม่มั่นใจว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จ หรือเมื่อให้สินเชื่อไปแล้วมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องหันใช้ทุนส่วนตัวดำเนินกิจการ รวมถึงการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งมักคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก จน SME ที่มีศักยภาพหลายแห่งไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร
.
เพื่อให้ SME กลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง ธนาคารเองจึงควรเร่งหามาตรการเพื่อสนับสนุนกิจการ
.
ข้อมูลประกอบ
-https://thaipublica.org/2018/08/bangkok-sustainable-banking-forum-financial-literacy/
-https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=6482

มาตรการแรกคือ สถาบันการเงินควรมีสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับธุรกิจขนาดจิ๋วจนถึงขนาดกลาง (MSMEs: Micro, Small and Medium Enterprises) มากกว่า 10% ของสินเชื่อทั้งหมด รวมทั้งมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบอย่างเฉพาะเจาะจง

ต่อมา สถาบันการเงินจะต้องมีนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้า และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เกินตัว สำหรับลูกค้าที่ไม่รู้หนังสือและ MSME

มาตรการถัดมาคือ สถาบันควรมีบทบาทในการปรับโครงสร้างหนี้ของ SME ที่กำลังมีปัญหา
.
โดยเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือ SME ต่อคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่การปรับปรุงเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ เช่นการลดดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน หากลูกหนี้มีกระแสเงินรองรับการชำระหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้สถาบันการเงินขยายเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ปรับปรุงหรือยกเว้นค่าผิดนัดชำระสินเชื่อ และพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งเป็นดอกเบี้ยสูง เป็นต้น

ข้อมูลประกอบ
https://www.kaohoon.com/content/334530

สุดท้ายคือ สถาบันการเงินควรมีนโยบายปรับปรุงความรู้เรื่องทางการเงิน ของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชายขอบ และ MSME รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยจากเวที Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ได้ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้จักการทำบัญชีครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำเพราะไม่เห็นความสำคัญ จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการเงิน รวมถึงปัญหาหนี้สะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มละลายต่อไป