ธนาคารปล่อยกู้ให้ใครแล้วเกี่ยวอะไรกับเรา?

26 สิงหาคม 2562

Fair Finance Thailand อยากพาทุกคนไปรู้จัก Credit Policy เครื่องมือที่ช่วยให้ธนาคารหันมาสนใจเรื่องดีๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น

ทุกคนคงจะมีเงินฝากเอาไว้ในธนาคาร แต่จะมากน้อยก็คงต่างกันไป

และดอกเบี้ยที่ธนาคารเอามาจ่ายเรานั้น ไม่ได้ลอยมาจากฟ้า แต่มาจากเขาเอาเงินของเราไปปล่อยกู้ ให้กับโครงการต่างๆ ที่ต้องการเงินลงทุน

ก็พูดได้ว่าเงินเหล่านั้น ก็เป็นเงินของเรานั่นแหละ

แต่ทุกวันนี้ เราแทบไม่เคยได้รู้เลยว่า เงินที่เราฝากเข้าไปนั้น ธนาคารของเรา เอาเงินเราไปปล่อยกู้ให้ใครบ้าง โครงการที่เอาเงินไปเหล่านั้น เป็นโครงการแย่ ๆ ที่ย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพ สิ่งแวดล้อมเรา ด้วยเงินเราเองหรือเปล่า

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า แต่ธนาคาร เขาไม่ได้เป็นคนไปทำแย่ ๆ เองนะ เขาจะไปรู้ได้ยังไง ว่าปล่อยกู้เอาดอกเบี้ยไปแล้ว คนที่ได้เงินไปจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ใช่ ถูกต้อง แต่โครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเป็นมิตรกับโลก ล้วนมีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือต้องใช้เงินทุน

และเงินทุนก็คือบทบาทของธนาคาร

หากธนาคารเลือกที่จะให้เงินกับโครงการดีๆ ที่ทำให้ชีวิตของเจ้าของเงินฝากอย่างพวกเราดีขึ้น โครงการเหล่านั้นก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากธนาคารให้เงินกับโครงการแย่ ๆ เงินฝากเรา ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเราเอง
เครื่องมือสำคัญที่ธนาคารทั่วโลกใช้ เพื่อให้เงินกู้ของพวกเขาไปร่วมสนับสนุนโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้น คือ นโยบายสินเชื่อ หรือ Credit Policy

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ นโยบายสินเชื่อ ก็คือ ข้อกำหนดว่าธนาคารจะปล่อยหรือไม่ปล่อยกู้ให้กับโครงการลักษณะไหนบ้าง

นโยบายสินเชื่อที่ดีนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องมือให้ธนาคารประกอบธุรกิจที่ดีแบบจริงใจ มากกว่าแค่ “คืนกำไร” ด้วยโครงการปลูกป่า รักษ์โลก (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับงานหลักที่ธนาคารทำทุกวัน)
ทุกวันนี้ นโยบายเครดิตที่ธนาคารชั้นนำทั่วโลกใช้ คือ การระบุให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance risk) มาประกอบการตัดสินใจ

การประเมินความเสี่ยง ESG เป็นตัวช่วยในการจัดการกับ “ความเสี่ยงทางอ้อมของโครงการ” เช่น

- การสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนส่งผลให้ความถี่ในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงขึ้น
- การดำเนินธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิแรงงาน นำไปสู่การต่อต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ต้นทุนการจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ธนาคารอาจจะเสียหาย ทั้งเสียผลกำไรจากการผิดชำระหนี้ และเสียชื่อเสียงจากการปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ส่งผลลบต่อผู้คน

ดังนั้น ธนาคารที่สนใจความยั่งยืน จึงควรบูรณาการความเสี่ยง ESG เข้าไปในกระบวนการปล่อยสินเชื่อ เช่น มีรายการธุรกิจความเสี่ยง ESG สูงที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion list) เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้
ยกตัวอย่าง: ธนาคาร Westpac ของออสเตรเลีย มีนโยบายในการนำความเสี่ยง ESG มาประกอบการตัดสินใจที่จะให้/ไม่ให้การสนับสนุนเงินทางการเงิน

ธนาคารระบุอุตสาหกรรมที่ธนาคารจะไม่สนับสนุนทางเงิน ตัวอย่างเช่น

- อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธนิวเคลียร์อาวุธยุทโธปกรณ์และทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
- อุตสาหกรรมการผลิตและการขายอาวุธแก่พลเรือน
- อุตสาหกรรมยาสูบ
- อุตสาหรรมแปรรูปเนื้อวาฬ

นอกจากนี้ ธนาคารมีกรอบการพิจารณากิจกรรมระดับรายโครงการ โดยไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หากโครงการ

- มีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในเขตอำนาจศาลที่เกี่ยวข้อง
- นำไปสู่การฝ่าฝืนสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรืออนุสัญญาที่ให้สัตยาบันโดยออสเตรเลีย
- ฝ่าฝืนมาตรฐานทางธุรกิจ

ที่มา: https://www.westpac.co.nz/assets/Personal/Investment-and-KiwiSaver/Active-Series/Responsible-Investment-Policy.pdf
จากงานวิจัยต่างๆ พบว่าหลังธนาคารนำ ESG Risk มาช่วยประเมินความเสี่ยง ทำให้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ลดลง และภาพลักษณ์ของธนาคารดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของตัวเอง

เช่น สมาคมธนาคารสิงคโปร์ ออกแนวปฏิบัติเรื่องการต่อต้านการให้สินเชื่อกับบริษัทที่มีเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาหมอกควันในสิงคโปร์

มาตรการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังเพิ่มความน่าเชื่อให้แก่สถาบันการเงินสิงคโปร์ อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ธนาคารหลายแห่งเริ่มนำความเสี่ยง ESG เข้ามาบูรณาการในนโยบายสินเชื่อ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารทหารไทย

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่ปรากฏผลชัดเจนว่า ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นอกจากนี้นโยบายที่เกี่ยวข้องสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่นอกประเทศไทย ทั้งเมียนมา ลาว หรือกัมพูชา ก็ยังไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจัดการเช่นใด
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ให้ธนาคารไทย มีนโยบายสินเชื่อ ที่คำนึงถึงความเสี่ยง ESG ส่งเสริมโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์ และหยุดยั้งโครงการที่ส่งผลกระทบทางลบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมกันเถอะ