วิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็น “ทวิวิกฤติ” ในแง่เป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุข และวิกฤติเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้แผ่ขยายเป็นวงกว้างและซึมลึกยาวนาน มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่มุ่งจำกัดการระบาดของโรค อาทิ มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ประชาชนทั่วประเทศขาดรายได้ สถานการณ์นี้ซ้ำเติมภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของครัวเรือนไทย ซึ่งอยู่ระดับสูงอยู่แล้วก่อนวิกฤติ ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ที่สังคมไทยรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ ต่างออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้ รวมถึงคำถามที่ว่า ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด รัฐบาลและ ธปท. ควรทำอะไรบ้าง เป็นคำถามสำคัญที่ยังไม่มีการหาคำตอบอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จึงจัดทำกรณีศึกษานี้ขึ้น เพื่อสำรวจสถานการณ์หนี้สิน ความเห็นและความต้องการของลูกหนี้ต่อมาตรการช่วยเหลือของทางการ
จากการเก็บแบบสอบถามของแนวร่วมฯ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 275 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่มีภาระหนี้สิน 18 คน เป็นลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) จำนวน 257 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท 99 คน คิดเป็นร้อยละ 38.5 ของลูกหนี้ทั้งหมด ทำธุรกิจส่วนตัว 58 คน (ร้อยละ 22.6) ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ 51 คน (ร้อยละ 19.8) และอาชีพอื่น ๆ เช่น รับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์ ลูกจ้างรายวัน เกษตรกร และนักเรียนนักศึกษา 28 คน (ร้อยละ 10.9) อนึ่ง มีลูกหนี้ว่างงาน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของลูกหนี้ทั้งหมด
ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่าง